2 ธ.ค. 2022 เวลา 07:00 • ข่าวรอบโลก
ประสบการณ์การเป็นผู้ประสานสื่อมวลชนในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๐๒๒ ของไทย
“ในยุคดิจิทัล เราต้องมีภาพถ่ายมายืนยัน ถึงพิสูจน์ได้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง” ประโยคดังกล่าวเป็นประโยคที่ผมได้ยินในระหว่างการประชุมผู้ประสานสื่อมวลชนทางการ (Media Liaison Officer: MLO) ครั้งแรก สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นที่มาของการรับหน้าที่ของผมในการประชุมระดับโลกของไทยครั้งนี้
ภาพทีม MLO และ LO กับนายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
โดยที่เอเปคเป็นการประชุมขนาดใหญ่ กรมสารนิเทศจึงมีความจำเป็นต้องรวบรวมบุคลากรจำนวนมากจากทุกกรม กอง สำนัก ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชนทางการจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยเขตเศรษฐกิจที่ผมได้รับหน้าที่ดูแล คือ สหรัฐอเมริกา พร้อมกับนักการทูตมาประสบการณ์อีกสองท่าน ได้แก่ “พี่โบ๊ท” (นายภาณุภัทร ชวนะนิกุล) จากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และ “พี่ชิน” (นายชินวุฒิ เศรษฐวัฒน์) จากสำนักนโยบายและแผย
ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าอะไรคือ “สื่อมวลชนทางการ” แตกต่างจากสื่อมวลชนทั่วไปอย่างไร และเหตุใดจึงต้องมีผู้ประสานงานประจำคณะด้วย
ในช่วงแรกของการรับหน้าที่ ผมขอยอมรับแบบตรง ๆ เลยว่า ผมก็มีข้อสงสัยไม่ต่างกับทุกท่านครับ แต่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ทำให้เข้าใจถึงภารกิจที่ตนเองต้องทำได้ดียิ่งขึ้น โดยสื่อทางการ หรือ Official Media นั้นหมายถึงสื่อมวลชนที่แต่ละเขตเศรษฐกิจระบุผ่านช่องทางการทูตมาว่า บุคคลเหล่านี้ คือ สื่อทางการที่จะติดตามตัวผู้นำ และคอยเก็บภาพเหตุการณ์และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดระยะการประชุม
สื่อทางการนี้อาจเป็นได้ทั้งรูปแบบ ช่างภาพ ช่างวีดิทัศน์ หรือนักเขียน ซึ่งแต่ละเขตเศรษฐกิจก็ได้ส่งรายชื่อสื่อทางการในจำนวนที่มากน้อยแตกต่างกันไป
ในช่วงแรกของการปฏิบัติหน้าที่ เรียกได้ว่าเป็นช่วงแห่งการเตรียมความพร้อม กล่าวคือ มีทั้งการช่วยอำนวยความสะดวกการลงทะเบียนสื่อมวลชน และการลงสำรวจพื้นที่ ทั้งในสนามบิน และสถานที่จัดงานอย่างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานที่อื่น ๆ ที่ผู้นำมีกำหนดจะไปเยี่ยมเยือนพร้อมกับคณะล่วงหน้าที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา
ทีม MLO ต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทีมประสานงานของหัวหน้าคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจ (Liaison Officer: LO) ในส่วนของการสำรวจสถานที่ต่าง ๆ หากมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพของสื่อ ก็เป็นหน้าที่ของทีม MLO ที่จะต้องเข้าไปตอบคำถามหรือหาข้อมูลมาให้
ความท้าทายอีกประการหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ผู้ประสานงานสื่อทางการ คือ การทำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เหตุผลหลักเพราะมีรายละเอียดจำนวนมากที่คณะหรือผู้เข้าร่วมการประชุมจำเป็นต้องทราบ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำข้อมูลให้คณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ เข้าใจอย่างถูกต้อง ชัดเจน และต้องแสดงความหนักแน่น เพื่อให้ฝ่ายนั้นมีความมั่นใจและเชื่อใจในการทำงานของเรา
บ่อยครั้งอาจเจอคำถามที่ยังไม่ทราบ หรือไม่สามารถให้คำตอบได้ในทันที เราก็จะต้องจดคำถามไว้ให้ดีเพื่อสอบถามกับศูนย์ข่าว กรมสารนิเทศ และนำคำตอบกลับมาให้โดยเร็วที่สุด
เมื่อถึงสัปดาห์แห่งการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Week: AELW) ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ก็เป็นเวลาที่การปฏิบัติหน้าที่จริงมาถึง โดยสถานการณ์ระหว่างสัปดาห์นั้น เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเราต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะหน้าให้ได้ดีที่สุด
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะมีแขกคนสำคัญจากสหรัฐอเมริกาอย่าง นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีวีไอพีอย่าง นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางแคเทอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาร่วมคณะด้วย จึงส่งผลให้ทีม MLO มีภารกิจบางส่วนที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับสื่อทางการของผู้แทนทุกท่านในเวลาเดียวกัน หรือเวลาใกล้เคียงกัน
การมีผู้นำระดับสูงที่มีกำหนดการแน่นขนัด ทำให้บ่อยครั้งมีภารกิจเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทีม MLO จะต้องแบ่งทีมไปดูแลตามสถานที่ต่าง ๆ และต้องศึกษากำหนดการของแต่ละวัน และจำนวนสื่อที่เข้างานได้ โดยพี่ ๆ ในทีมมีการทำ ‘Order of the Day’ หรือกำหนดการประจำวันอย่างละเอียด ในช่วงค่ำของทุกวัน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับวันใหม่
ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของทีม MLO ระหว่างช่วงการประชุม สิ่งหนึ่งที่ต้องยึดมั่น คือ การอำนวยความสะดวกให้สื่อสามารถเก็บภาพได้ดีที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลสื่อให้อยู่ในระเบียบและกติกาที่ฝ่ายเจ้าภาพกำหนดไว้ด้วยเช่นกัน และในบางครั้งจะมีคำขอเพิ่มเติมจากฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทีม MLO ที่จะต้องประสานงานกับกรมสารนิเทศว่า สามารถกระทำได้หรือไม่
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ คือ แม้ว่าฉากหน้าเรายึดมั่นกับกฎระเบียบที่ปรากฏในคู่มือสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน เราก็สามารถประสานงานกับหน่วยงานให้พิจารณายืดหยุ่นได้ด้วยเช่นกัน (ซึ่งเป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่ใช่ทุกประเด็นครับ)
นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาถึงประเทศไทย (ที่มา: Twitter กระทรวงการต่างประเทศ)
เมื่อนางคามาลา แฮร์ริส เดินทางมาถึง (ขออนุญาตแบ่งปันความรู้สึกส่วนตัวว่าตรงนี้รู้สึกตื่นเต้น และขนลุก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญระดับโลก) แต่อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตนเอง แม้เราจะรู้สึกประทับใจมากเพียงใด ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลสื่อทางการที่เดินทางมาพร้อมกับคณะ โดยในช่วงนั้นผมได้นำทางสื่อมวลชนลงจากเครื่องมาประจำจุดยืน เสร็จแล้วพาไปยังขบวนรถเพื่อเดินทางต่อไป
สื่อมวลชนทางการทั้งหมดได้ติดตามนางคามาลา แฮร์ริส ตลอดทั้งการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชุม หรือการเยี่ยมชมทัศนศึกษาสถานที่ใดก็ตาม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำความรู้จักกับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อสารระหว่างกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งระหว่างการอยู่ในประเทศไทย ผมและพี่ ๆ ทีม MLO ได้ติดตามดูแลสื่อ ตั้งแต่สถานที่หลักอย่างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำเนียบรัฐบาล โรงแรมแอทธินี (สถานที่จัดการประชุม APEC CEO Summit) รวมถึงวัดราชบพิธฯ
สำหรับผม แม้ว่าภารกิจของทีม MLO จะเป็นภารกิจที่ทั้งแปลกใหม่และมีความท้าทาย แต่ด้วยประสบการณ์ของพี่ ๆ อีกสองคนในทีม การรู้หน้าที่ ความสามัคคี กอปรกับทีมงานกรมสารนิเทศ ทีม LO ที่พร้อมให้การสนับสนุน ทำให้ภารกิจทุกอย่างผ่านไปได้อย่างราบรื่น จนมาถึงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ที่ท่านรองประธานาดีคามาลา เดินทางออกจากประเทศไทย ทำให้รู้ได้ว่า ภารกิจของทีม MLO ได้จบลงแล้ว
ด้วยเหตุผลที่ผมได้เล่ามานี้ คงจะพอทำให้ทุกท่านเห็นภาพว่า เหตุใดตลอด ๘ วันของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ผ่านมา จึงเป็นประสบการณ์หาไม่ได้จากที่ไหน แม้จะเหนื่อย มีความกดดันอยู่บ้าง แต่ตัวผมก็รู้สึกประทับใจและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
นอกจากนั้น ผมยังได้เห็นความสำคัญของการทำงานของสื่อมวลชนยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่แพ้ภาครัฐและภาคเอกชนเลย เพราะหากไม่มีบุคคลเหล่านี้ การประชุมเอเปคและสิ่งต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน จะจบลงแค่ในห้องประชุม ประชาชนจะไม่สามารถรับรู้ผลเหล่านี้ได้เลย ด้วยเหตุนี้ผลการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพจึงยังไม่จบลง แต่พึ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
หลังจากนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญของพวกเราทุกคนที่จะทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสังคมที่เปิดกว้าง มีความเชื่อมโยง และสมดุลกันครับ
ไทยส่งไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคแก่สหรัฐอเมริกา โดยมอบชะลอนสานไม้ไผ่ (ที่มา : Twitter APEC 2022 Thailand)
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว (ผู้ประสานสื่อทางการสหรัฐอเมริกา ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ
เอเปค ๒๐๒๒)
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา