2 ธ.ค. 2022 เวลา 04:15 • ความคิดเห็น
เล่าที่มาที่ไปของเคสหุ้น MORE ตอนที่ 3: การปั่นหุ้น
Disclaimer: บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรหนึ่งองค์กรใด ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำ หรือลอกเลียนก่อนได้รับอนุญาต
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า การกระทำที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการปั่นหุ้น ส่วนตัวผมเองไม่ได้คิดว่าเป็นเช่นนั้น
(นี่ไม่ใช่การกล่าวหา หรือหมิ่นประมาท เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น เรื่องราวทั้งหมดควรไปพิสูจน์ในชั้นศาล)
หากจะมีปั่นหุ้นจริง มันได้เกิดมานานแล้ว เพราะราคาหุ้นอยู่เหนือปัจจัยพื้นฐานมากในทุก ๆ มิติมานานหลายปี ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับมูลค่าทางบัญชี รายได้ หรือกำไรก็ตาม
ส่วนสาเหตุว่า ทำไมราคาหุ้นถึงเกินมูลค่าพื้นฐานนั้น ก็มีสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น เป็นหุ้นที่มี free float ต่ำ ทำให้สามารถที่จะควบคุมราคาได้ง่าย เป็นหุ้นที่มี market cap (ตั้งต้น) ขนาดเล็ก จึงใช้เงินจำนวนไม่มากในการควบคุมเสียงส่วนใหญ่ และเป็นหุ้นที่ไม่มีธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนมืออาชีพสนใจ
จริง ๆ หุ้นที่เข้าข่ายในลักษณะนี้ มักจะเป็นหุ้นที่ไม่มีคุณภาพ จึงไม่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนมืออาชีพ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ได้สนับสนุนหุ้นในลักษณะนี้ให้เข้ามาซื้อขายในตลาด (หากไปดูกฎเกณฑ์การรับหุ้นเข้าตลาด เราจะเห็นได้ชัด)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หุ้นที่มีปัญหาก็มักจะถูกนักลงทุนบางกลุ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น และวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างราคาหลักทรัพย์
ซึ่งหากมีพฤติกรรมในการปั่นหุ้นที่ชัดเจน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และทาง ก.ล.ต. ก็สามารถที่จะสืบสวน เพื่อหาข้อมูล และสั่งปรับผู้กระทำความผิดได้ แต่การกล่าวโทษดังกล่าวต้องมีหลักฐานชัดเจน และมีการกระทำความผิดจริงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลานานในการเอาผิด ดังนั้นในหลาย ๆ เคส จึงไม่สามารถเอาผิดได้
ดังนั้น ในระยะสั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีมาตรการหลาย ๆ อย่างในการกำกับดูแล ซึ่งยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์ แต่ก็ดีกว่าไม่มี คือ
  • 1.
    มาตรการ free float ขั้นต่ำ ที่กำหนดให้หุ้นต้องมีอัตรา free float ไม่น้อยกว่า 15% ของหุ้นที่ชำระแล้ว หุ้นที่มี free float ต่ำเกินไป ก็จะถูกสั่งให้ทำการปรับปรุง
  • 2.
    มาตรการ cash balance เป็นมาตรการที่ใช้กับหุ้นที่มีความผันผวนสูง และมีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก ทำให้นักลงทุนไม่สามารถใช้บัญชีเงินสด และบัญชีมาร์จิ้นในการซื้อขายได้
  • 3.
    มาตรการให้บริษัทชี้แจงสาเหตุของการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ และมาตรการอื่น ๆ อีก
อย่างไรก็ตามตามสำหรับหุ้นนี้ ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเวลานานตลอดประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ได้เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าวเท่าใดนัก
แต่ด้วยมูลค่าที่สูงเกินจริงไปมาก ประกอบกับหุ้นนี้ยังถูกใช้เป็นหลักประกันอีก หากผู้ก่อเหตุจะเทขาย เพื่อทำกำไร ก็จะไม่มีนักลงทุนรายย่อยมาสนใจซื้อในราคาดังกล่าว
ดังนั้นผู้ก่อเหตุสามารถก่อเหตุในลักษณะดังกล่าว โดยรู้ดีว่า ตัวเองสามารถที่จะหลอกให้บริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ซื้อจ่ายเงินค่าหุ้นให้ในราคาที่สูงให้กับผู้ขาย ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินจริงไปมาก และผู้เล่นอื่นในตลาดก็จะไม่สามารถรับซื้อหุ้นที่ผิดนัดชำระหนี้ได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ทำการซื้อขายกัน เพราะรู้ดีว่าหุ้นไม่ได้มีพื้นฐานที่ดี
จึงทำให้ความเสียหายตกอยู่กับตัวบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ซื้อที่ผู้ก่อเหตุส่งคำสั่งซื้อขายนั่นเอง...
ติดตามตอนอื่นๆ ได้ที่ซีรีย์ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา