4 ธ.ค. 2022 เวลา 01:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Final Tax คืออะไร
หลายคนน่าจะเคยได้ยิน Final tax มารู้จักกันว่า คืออะไร ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายคือ Final tax ไหม และเมื่อไหร่เราควรเลือก final tax มาอ่านกัน...
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย คือ การที่จ่ายภาษีไว้ล่วงหน้า ซึ่งเราต้องนำรายได้เหล่านั้นมารวมเพื่อคิดภาษี และดูว่า เราต้องจ่ายเพิ่ม หรือขอคืนจากภาษีที่เราถูกหักไป
Final Tax คือ เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยสามารถเลือกไม่นำมารวมยื่นแบบรายการภาษีของเราได้ หักภาษีไปแล้วจบ (Final tax) หรือจะนำมารวมยื่นก็ได้
เงินได้ที่สามารถเลือก Final Tax เช่น ดอกเบี้ย เป็นรายได้ 40(4) ก), เงินปันผลจากกองทุนรวมและหุ้น เป็นรายได้ 40(4)ข ซึ่งรายได้ 40(4) ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
และมีเงินได้อีกบางประเภทที่สามารถเลือก final tax ได้ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 48(3)-(7)
แล้วเมื่อไหร่ ควรเลือก Final tax หรือเลือกนำมารวมยื่น สำหรับดอกเบี้ย เงินปันผล??
มีหลักคิดแบบนี้นะ
1. เงินได้ดอกเบี้ย และเงินปันผล เป็นคนละหมวดกัน สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมายื่นก็ได้ คือ จะนำเงินได้จากดอกเบี้ยมายื่น แต่ไม่นำเงินปันผลมาก็ได้ หรือจะนำเงินปันผลมารวมยื่น ไม่นำเงินได้ดอกเบี้ยมายื่นก็ได้ หรือ จะนำมาทั้ง 2 อย่าง หรือไม่นำมายื่นทั้ง 2 อย่างก็ได้ แล้วแต่เรา
2. เงินได้ประเภทดอกเบี้ย: ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยรวมกันเกิน 20,000 บ. ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ จะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ถ้าฐานอัตราภาษีเราตั้งแต่ 15% ไม่ควรนำมารวมยื่น ถ้าน้อยกว่าควรนำมารวมยื่น
3. เงินปันผลถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
- ถ้ามีเงินปันผลเฉพาะกองทุนรวม ไม่มีเงินปันผลหุ้น ให้ลองดูฐานอัตราภาษีที่เราเสีย ถ้าเสียตั้งแต่ฐานอัตราภาษี 10% ขึ้นไป แนะนำไม่ต้องนำเงินปันผลของกองทุนรวมมายื่น เพราะอาจทำให้เสียภาษีมากขึ้น
- ถ้ามีเงินปันผลหุ้น ไม่มีเงินปันผลกองทุนรวม แนะนำให้ลองคิดทั้งนำมารวมยื่นและไม่นำมารวมยื่น ถ้าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่าก็เลือกแบบนั้น เนื่องจากเงินปันผลหุ้นจะถูกหักภาษี ณ จ่าย 10% และมีการหักภาษีในขั้นกำไรของภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นเงินปันผลจากหุ้นจึงสามารถนำมาคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ จึงไม่สามารถดูแค่ฐานอัตราภาษีเราแบบเงินปันผลจากกองทุนได้
- ถ้ามีเงินปันผลหุ้น และเงินปันผลกองทุนรวม แนะนำให้ลองคิดทั้งนำมารวมยื่นและไม่นำมารวมยื่น ซึ่งเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมเป็น 40(4)(ข) ถือเป็นรายได้ลักษณะเดียวกัน แต่เงินปันผลกองทุนรวมไม่สามารถคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ ในการยื่นถ้ายื่นเงินปันผลต้องยื่นทั้งเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมด้วยนะ ซึ่งในแบบยื่นภาษีออนไลน์ จะเป็นเงินได้ที่อยู่ในช่องเดียวกัน ในหัวข้อ “รายได้จากการลงทุน” หัวข้อย่อย “เงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุน (มาตรา 40(4) (ข))”
ดังนั้น ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ไม่เท่ากับ Final tax จะเลือก Final tax ได้จะต้องเป็นเงินได้ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า เงินได้แบบนี้ ถ้าถูกหักแล้วจบ ไม่ต้องนำมายื่นรวมภาษีได้ ซึ่งที่หลายคนน่าจะมีคือ เงินได้ประเภทดอกเบี้ยและเงินปันผลนะ ส่วนจะเลือก Final tax หรือจะนำมารวมยื่น ก็ตามที่เล่าไปนะ
หมอยุ่งอยากมีเวลา พูดคุยเรื่องหุ้นและกองทุน เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
ติดตามความรู้ทางการเงินแบบเข้าใจง่าย
ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่
#ภาษี #ภาษีเงินปันผล #ยื่นภาษี #คิดภาษี #เงินปันผลกองทุนรวม #เงินปันผล #เงินปันผลหุ้น #เงินปันผลกองทุน #กองทุนรวม #หุ้น #คำนวณภาษี #หมอยุ่งอยากมีเวลา #ดอกเบี้ย #ดอกเบี้ยเงินฝาก #ดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ #ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้
โฆษณา