5 ธ.ค. 2022 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์
รีบเรียน รีบจบ รีบมีงานทำ Gap year กับการค้นหาตัวตน ที่สังคมไทยมองว่าแปลก?
จบมัธยมแล้วเรียนต่อที่ไหน, รับปริญญาแล้วเริ่มงานเมื่อไร, ออกจากที่เก่าแล้วไปไหนต่อ กับอีก ฯลฯ คำถาม ที่ First Jobber หรือกระทั่งคนทำงานมาสักระยะต่างคุ้นชิน นั่นเพราะนอกจากความอยากรู้ ดูเหมือนผู้ใหญ่รอบข้างจะไม่โอเคกับการที่ลูกหลานจะมีเวลาว่างสักระยะเพื่อสำรวจตัวเองก่อนเริ่มทำสิ่งใหม่
รีบเรียน รีบจบ รีบมีงานทำ Gap year กับการค้นหาตัวตน ที่สังคมไทยมองว่าแปลก?
“ตอนนั้นสอบได้อะไรก็ต้องเอาเพราะที่บ้านไม่อยากให้หยุดเรียน” หรือ “พอจบปุ๊บ แม่บอกให้รีบหางานเพื่อความมั่นคง” คือตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์บอกเล่า ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการบีบบังคับให้ทุกคนต้องรีบโต รีบประสบความสำเร็จ
“ประมาณว่ามีหน้าที่แค่เข้ามหาลัย เพื่อไม่ให้คนอื่นมองว่าไม่มีที่เรียน เรียนจบมาก็ต้องรีบหางานทำ เพื่อไม่ให้กลายเป็นคนตกงาน” ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งบอก พร้อมๆ กับการเรียกร้องช่วงเวลาค้นหาตัวเองที่จะไม่ถูกตั้งคำถาม
ถ้อยคำข้างต้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกบ้าน แต่ก็เชื่อว่าจากประสบการณ์เราก็น่าจะรู้ดีว่า สังคมไทยส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับการหยุดเรียน การหยุดทำงานเพื่อค้นหาความต้องการแบบที่เรียกกันว่า Gap year
Gap year ถูกนิยามว่า คือการเว้นช่วงระยะเวลาก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัย ก่อนการทำงาน ทั้งนี้เพื่อออกไปแสวงหาตัวตน ค้นหาตนเอง เรียนรู้โลกผ่านประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอาสาสมัคร การท่องเที่ยว ตลอดจนเรียนรู้เก็บเกี่ยวทักษะต่างๆ ก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง
ข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมถึงวิกิพีเดีย ยืนยันว่า Gap year แพร่หลายในช่วงปี 1960 เมื่อกลุ่มวัยรุ่นยุค Baby boomers ในโลกตะวันตกต้องการสร้างสังคมที่ไร้สงคราม จึงเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อหวังว่าความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมนี้จะช่วยสร้างสันติภาพในอนาคต
อย่างไรก็ดีผลพวงที่เกิดตามมาของไอเดียดังกล่าว คือการมี Gap year ที่เจาะจงเฉพาะในระดับรอยต่อระหว่างมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ราวกับว่าหลังจากที่เรียนมาต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี นี่คือช่วงเวลาของการหยุดพักเพื่อคิดถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ
1
กระแสของการมี Gap Year นี่เอง ทำให้มีองค์กรหลายแห่งตอบสนอง โดยการรับมาเป็นอาสาสมัครเพื่อแลกแรงงานกับการได้เดินทางท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ซึ่งนั่นทำให้วัฒนธรรมของ Gap Year แพร่หลายในประเทศฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่หนุ่มสาวในประเทศเหล่านี้มักใช้เวลาในช่วงรอยต่อของชีวิตการเรียนกับชีวิตการทำงาน ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างที่ต่างถิ่น ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สั่งสมประสบการณ์และสร้างทักษะใหม่ๆ
หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีความเชื่อว่า เด็กผู้ผ่าน Gap year มักมีความเป็นผู้ใหญ่ รู้จักคุณค่าของเวลา และมีสัมฤทธิผลการเรียนดีกว่ากลุ่มปกติ ซึ่งนั่นทำให้การมี Gap Year เป็นแต้มต่อสำหรับการเข้าเรียนต่อ ขณะเดียวกันบางมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุน Gap year โดยเลื่อนการเข้าศึกษาให้หนึ่งปี และบางมหาวิทยาลัยมีโปรแกรมที่เรียกว่า (1+4) คือมองว่า Gap year เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร นั่นคือ 1 ปีสำหรับการค้นหาตัวเอง และ 4 ปีสำหรับการร่ำเรียนวิชาที่ตัวเองอยากเรียนจริงๆ
กลับมาที่สังคมไทยหรือจะว่าไปก็เป็นวัฒนธรรมของคนเอเชียก็ว่าได้ ซึ่งสังคมในภูมิภาคนี้ใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว และ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้อาวุโสกว่าต้องการคือการให้ลูกหลานต้องรีบศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น หรือหางานทำทันทีที่เรียนจบ การมี Gap Year จึงเป็นความแปลกที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน ทั้งการออกไปท่องโลกสำหรับบางครอบครัวยังถือเป็นความฟุ่มเฟือย ที่เฉพาะคนร่ำรวยเท่านั้นถึงจะทำได้
1
Gap Year ในมุมมองสังคมไทย จึงถูกมองว่าเป็น “การหยุดอยู่นิ่งๆ” แบบไม่มีแก่นสาร และวิธีคิดเช่นนั้น จากการรวบรวมข้อมูลก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น
• การอยู่ในสังคมที่มีอัตราเร่งสูง มีความไม่แน่นอน การรีบเรียน รีบทำงาน คือการสร้างหลักประกันความมั่นคง
• ช่องว่างทางสังคม ซึ่งทำให้ผู้ที่สามารถหยุดอย่างนิ่งๆ ได้ ต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องรีบทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว
• อำนาจและสถานะในครอบครัว ที่พ่อแม่เป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะอนุญาติหรือไม่
• การแข่งขันที่สูง ทั้งในรูปแบบการเรียน การทำงาน หากเลือกอยู่นิ่งจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
1
นั่นจึงทำให้ Gap Year หรือช่วงเวลาในการค้นหาตัวตนเป็นสิ่งแปลก และคงเป็นเรื่องธรรมดาๆที่ใครต่อใครจะถูกตั้งคำถาม จบแล้วเรียนต่อที่ไหน, รับปริญญาแล้วเริ่มงานเมื่อไร, ออกจากที่เก่าแล้วไปไหนต่อ ฯลฯ
1
อ้างอิง
"Gap Year” กับมหาวิทยาลัยไทย คอลัมน์อาหารสมอง นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 22 ม.ค. 2562
โฆษณา