4 ธ.ค. 2022 เวลา 10:26 • บ้าน & สวน
รีโนเวทบ้านแล้วมักบานปลายมาก เพราะอะไร???
ด้วยสภาพเศรษฐกิจ การซื้อบ้านใหม่
หรือจ้างสร้างใหม่นั้น หลายคนกลัว
เพราะจะต้องใช้เงินจำนวนมาก
หรือต้องเป็นหนี้ระยะยาวกับสถาบันการเงิน
ดังนั้นหลายคนจึงเลือกที่จะรีโนเวท
หรือปรับปรุงบ้านเก่าให้ดีขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า
มันประหยัดกว่าซื้อใหม่
...ไม่ว่าจะรีโนเวทบ้านเดิมของตน
หรือซื้อบ้านมือสองมารีโนเวท
สิ่งที่ท่านเจ้าของบ้านหวัง โดยมากก็คือ
การลดงบประมาณที่จะต้องจ่ายนั่นเอง...
ดูเผินๆ มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น
เพราะไม่ใช่การสร้างใหม่ทั้งหมด
แต่ความจริงคือ เจ้าของบ้านส่วนมากเลย
มักเจอปัญหางานและงบบานปลาย
เมื่อทำการรีโนเวทมากกว่าการสร้างใหม่ทั้งหลัง
บางท่านเจอปัญหา
งบบานปลายจนกลายเป็นวงเงิน
ที่สามารถซื้อบ้านใหม่ไดหลังหนึ่งเลยทีเดียว
ทำไมเป็นแบบนั้น และจะป้องกันปัญหาอย่างไร
โพสต์นี้ จะอธิบายให้ฟังครับ
สาเหตุสำคัญที่สุด คือ โครงสร้างเก่ามีปัญหา...
บ้านนั้น เมื่อคุณไปซื้อมือสองหรือแม้แต่บ้านเก่าของตัวเองก็ตาม คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่ามาตรฐานการก่อสร้างอาคารนั้นเดิมเป็นอย่างไร
ปัญหานี้อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย
สถาปนิกหรือวิศวกรที่ทำอยู่ทุกวันก็ไม่รอด
ถ้าไม่ใช่มันเห็นปัญหาได้ชัด
เพราะบ้านนั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้ว โครงสร้าง
หรืองานระบบต่าง มันจะถูกฝังไว้ในกำแพง
หรือใต้ดินทำให้ดูได้ยากมากๆ
ต้องมีเครื่องมือ หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะจริงๆ
ถึงจะดูออกว่ามีปัญหาหรือไม่
ซึ่งส่วนมาก ผู้รับเหมา ก็ไม่ได้มีเครื่องมือในระดับนั้น
ดังนั้น กว่าจะรู้ว่าโครงสร้างเดิมมีปัญหา
ก็คือตอนรื้อไปแล้ว
ซึ่งถึงตรงนั้น ท่านเจ้าของบ้าน
รวมถึงผู้รับเหมา ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
จำเป็นต้องเดินหน้าทำต่อไปจนเสร็จนั่นเอง
โครงสร้างมีปัญหานั้นมีหลายระดับ
แต่โดยรวมมักมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
ของโครงสร้างเดิม
ปัญหาที่พบบ่อยคือ
-ปูนเดิมไม่ได้คุณภาพทรายเยอะ เมื้อรื้อแล้วทำให้เสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็น
1
-การขาดหายของโครงสร้างบางส่วน เช่นเสาเอ็น คานทับหลังประตู หน้าต่าง หรือในบางรายปัญหาอาจเลยเถิดไปถึงโครงสร้างหลักที่จำเป็นบางส่วน เช่นคานบน หรือส่วนรับน้ำหนักของอาคารบางจุด
- งานระบบไม่เรียบร้อย เช่น ระบบท่อระบายน้ำเสียใต้ดินหรือที่ฝังในกำแพงไม่ได้มาตรฐาน หรือวางตำแหน่งผิดจากแบบแปลน เป็นต้น
1
เมื่อโครงสร้างเดิมมีปัญหา แต่เมื่อมีการรื้อไปแล้ว
มันจึงต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนทำใหม่
ปัญหางานบานปลายมันจึงตามมา
ซึ่งจะน้อยหรือมาก ก็อยู่ที่ว่ามันมีปัญหาที่ส่วนไหน
และมากแค่ไหน
โดยมาก หากโครงสร้างเดิมมีปัญหา
มันมักจะมีไปทั่วทั้งอาคาร
เพราะมันคือมาตรฐานคุณภาพงานของผู้รับเหมารายเดียว
ดังนั้นเมื่อโชคร้ายเจอปัญหานี้
การรีโนเวทบ้านบางครั้ง มันจึงทำให้งบบานปลายมาก
เพราะแทนที่จะได้ทำงานต่อเติมใหม่อย่างเดียว
กลับต้องมาเพิ่มงานแก้ไขเข้าไปด้วย
งานแก้ไขก็มักไม่จบในจุดที่พบเท่านั้น
เรามักพบปัญหาต่างๆ ลามไปเรื่อยๆ
ลักษณะว่าทุบตรงนี้ กระเทือนอีกส่วนจนเสียหาย
หรือยิ่งรื้อยิ่งพบปัญหา
ตามแก้กันไม่จบสิ้น แบบนี้เป็นต้น
...และนี่ คือเหตุผลหลัก ที่ทำให้ตัวงาน และงบประมาณบานปลายไปมากกว่าที่เคยคุยกับผู้รับเหมารีโนเวทนั่นเอง
การป้องกันงานงอก งบบานปลาย...
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
"บ้านเก่า คือของเก่า"
ดังนั้นการไม่พบปัญหาอะไรเลย จึงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นจึงควรทำใจ เผื่องบประมาณเอาไว้ในระดับหนึ่ง
จากราคาที่ตกลงกับผู้รับเหมาเอาไว้
และตกลงกับผู้รับเหมาให้เรียบร้อย
แต่เพื่อป้องกันไม่ให้งบบานปลายมากเกินไป
การวางแผนและพิจารณาการตัดสินใจก่อนรีโนเวท
เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ส่วนข้อควรปฏิบัติในการพิจารณารีโนเวท
สามมารถแยกเป็นข้อๆเบื้องต้นได้ดังนี้
- ควรมีแบบแปลนก่อสร้างของโครงสร้างเดิม
- ตรวจสอบโครงสร้างให้ดี ว่าเดิมนั้นถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ หรือมีการเสื่อมสภาพไปแล้วมากแคไหน
ควรมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำจริงๆ
- ไม่ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมากจนเกินไป จนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพราะนั่นอาจหมายถึงการแก้ไขที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ไม่ควรรีโนเวทบ้านที่เก่าจนเกินไป เพราะการเสื่อมสภาพของอาคารมีค่อนข้างสูง
คำแนะนำจากผู้เขียน ...
ทางที่ดีที่สุด หากจะรีโนเวท แล้วงบจะบานปลายน้อยที่สุด
แบ่งออกเป็นสองส่วน
คือภายในนั้น ควรเลือกตบแต่งภายในเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
และไม่ย้ายตำแหน่งของประโยชน์ใช้สอยส่วนต่างๆ
ซึ่งจะไปกระทบกับงานระบบของอาคาร
เช่น การย้ายห้องน้ำหรือห้องครัว มักมีปัญหามากที่สุด
เพราะต้องมีการย้ายระบบน้ำ ไฟ ซึ่งอาจมีปัญหาตามหลัง
และค่อนข้างวุ่นวายในการทำ
...การตบแต่งภายในที่ดีนั้น สามารถทำให้เมีความรู้สึกถึงบรรยากาศใหม่ๆ ไม่จำเจ ให้บ้านได้มากที่สุด
ซึ่งบางกรณีไม่มีความจำเป็นเปลี่ยนแปลงมากเลย
มันจะช่วยประหยัด และควบคุมงบประมาณได้ง่ายมากขึ้น
หรือหากต้องการเปลี่ยนรูปแบบภายนอกด้วย
งานสี การทำบังตา ฟาสาด หรือระแนงรูปแบบต่างๆ
ซึ่งไม่กระทบกับโครงสร้าง จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอาคารได้ง่ายที่สุด และไม่สิ้นเปลือง
ควบคุมงานได้ง่าย
1
รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ
เช่น สวน ก็จะช่วยได้มาก
งานเหล่านี้ ไม่กระทบกระโครงสร้างเดิม
ทำให้ตัดปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง
หรือหากอยากมีการต่อเติมบางส่วนจริงๆ
การแยกโครงสร้างรับน้ำหนักออกมาต่างหาก
จากโครงสร้างเดิม เช่น การใช้เสาเข็มสั้น เสาไมโครไพล์
หรือโครงสร้างเหล็ก ใหม่แยกออกมา
จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเชื่อมส่วนต่อเติม
เข้ากับโครงสร้างเดิมโดยตรง
แม้จะดูว่าเป็นส่วนที่แพงขึ้น
แต่ก็ตัดปัญหาการควบคุมไม่ให้งานบานปลาย
ได้ง่ายกว่ามากเช่นกัน
หลายคนที่เจอปัญหางานบานปลายจากการรีโนเวท
มักพุ่งความรับผิดชอบไปที่ผู้รับเหมา
ว่าหาเรื่องเพิ่มเนื้องาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างมากขึ้น
มันอาจจริงในบางกรณี
แต่หากเป็นแบบนั้น ก็ต้องบอกว่าผู้รับเหมารายนั้น
ค่อนข้างมีมาตรฐานแย่ และไม่ฉลาดนัก
ความจริงคือ ผู้รับเหมาส่วนมากนั้น
ไม่ชอบปัญหาเนื้องานที่งอกออกมาเช่นกัน
เพราะมันเสียเวลาค่อนข้างมาก
และงานแก้ไข มันยากกว่าการทำใหม่เสมอ
สำหรับการก่อสร้างใดๆก็ตาม
ดังนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
ที่ผู้รับเหมาจะหาเรื่องเสียเวลา และเสี่ยงเข้าเนื้อ
หากควบคุมส่วนที่งอกออกมาไม่ได้
งานบานปลายนั้น ไม่เป็นผลดี
ทั้งกับเจ้าของบ้านและตัวผู้รับเหมาเลย
การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และความเสี่ยงเบื้องต้น
ในการรีโนเวทบ้าน ของเจ้าของบ้าน จึงจำเป็นมาก
เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางงบประมาณ
จนนำมาสู่การไม่สามารถจบงานได้
หรือปัญหาการทิ้งงานที่ไม่จบสิ้นของผู้รับเหมา
ที่จะนำไปสู่ปัญญาทางกฎหมายในท้ายที่สุด
ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจรีโนเวทบ้าน
จึงควรศึกษารายละเอียดต่างๆให้ดี
และมีความรอบคอบในการทำสัญญาต่างๆ
เพื่อความสบายใจ สบายกระเป๋า ของท่านเอง....
โฆษณา