5 ธ.ค. 2022 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัพเดทประเด็นภาษีขายหุ้น!
สรุปสิ่งที่นักลงทุนอย่างเราต้องรู้
---
1. ภาษีขายหุ้น คืออะไร
ภาษีขายหุ้นเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง ซึ่งเก็บในธุรกิจเฉพาะประเภท อย่างเช่น การขายหลักทรัพย์ ธนาคาร ฯลฯ
การเก็บจะเก็บจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในอัตราที่คงที่ เมื่อมีปริมาณการขายหุ้นในตลาดขั้นต่ำต่อเดือนที่กฎหมายกำหนด ก็จะถูกจัดเก็บภาษีได้
2. อัตราและการบังคับใช้
ตอนนี้กฎหมายได้ผ่านที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึงคาดว่าจะบังคับใช้ภายในปี 2566 และให้ทางบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์)เป็นผู้จัดเก็บแทนร่วมกับค่าธรรมเนียมตามปกติ
โดยมีระยะเวลา 3 เดือนให้ประชาชนปรับตัว หลังจากที่กฎหมายประกาศบังคับใช้ และมีการลดอัตราในปีแรกเหลือ 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) และในปีต่อไปจะปรับเป็น 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น)
3. ผลกระทบต่อนักลงทุน
หากลองคำนวณต้นทุนที่เกิดขึ้นแบบง่ายๆ พบว่า ทุกการขายหุ้น (ที่มีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด) ในทุก ๆ มูลค่า 1 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 550 บาทในปีแรก (หรือ 1,100 บาทในปีต่อไป) ซึ่งจะถูกบวกเข้าไปในมูลค่าการขาย
อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าจะมีการยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กับผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) อย่างเช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กองทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
4. ภาษีกำไรจากการขาย (Capital Gain) ยังไม่ถูกจัดเก็บ
เนื่องจากภาษีที่เก็บ คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่เก็บจากการทำรายการตามที่กำหนด (Transaction TAX) เท่านั้น ดังนั้นกำไรจากการขายหุ้นยังไม่ถูกจัดเก็บภาษี
แต่ในทางกลับกัน ภาษีที่กำลังจะเก็บตัวนี้ ไม่ได้สนใจว่าเราจะมีกำไรจากการขายหรือไม่ เพราะยึดตามมูลค่าการขายที่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นั่นแปลว่า ผู้ขายต้องรับภาระภาษีส่วนนี้เสมอไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน
5. ยังต้องรอความชัดเจนต่อไป
ตอนนี้เราคงตัองรอหลักการทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าปริมาณเท่าไรถึงจะเริ่มจัดเก็บ รวมถึงการบังคับใช้ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นนักลงทุนอาจจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆสำหรับตันทุนส่วนนี้ครับ
คิดเห็นยังไง แชร์กันได้ครับ ;)
#TAXBugnoms
โฆษณา