6 ธ.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
ไขปริศนาสองสะพานบนสถานีรถไฟฟ้าบางไผ่และสถานีบางขุนนนท์
หลายคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ที่สถานีบางไผ่และสถานีบางขุนนนท์ เคยตั้งข้อสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมถึงมีสะพานข้ามผ่านทางรถไฟตรงชานชาลา แทนที่จะเดินลอดเหมือนสถานีอื่นๆ
สะพานบนชานชาลาสองสถานีรถไฟฟ้า MRT
สาเหตุเนื่องมาจากสองสถานีแห่งนี้อยู่ในเส้นทางของประเพณี “ชักพระวัดนางชี” หรือในปัจจุบันเรียกว่า
“ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ” ซึ่งเป็นประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุทางน้ำแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 (ปี ค.ศ.2022 ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน และในปี 2023 ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน)
ขบวนเรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (ภาพประกอบ https://www.facebook.com/BEM.MRT/photos/a.295790394515/10157780892204516/?)
ประเพณีชักพระวัดนางชี จะเริ่มต้นจากวัดนางชี แล่นเรือไปตามคลองด่าน เลี้ยวซ้ายเข้าคลองบางกอกใหญ่ เมื่อถึงสะพานใดๆ จะมีอัญเชิญข้ามสะพานไป ไม่ลอดใต้สะพา่น เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุเปรียบเสมือนตัวแทนพระพุทธเจ้า และเมื่อแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จึงอัญเชิญขึ้นบนสถานีบางไผ่โดยใช้ชักรอกอัญเชิญกระเช้าพระธาตุ เดินบนสะพานข้ามทางรถไฟเพื่อแล่นตามเส้นทางคลองบางกอกใหญ่ และคลองชักพระ ก่อนจะอัญเชิญให้ประชาชนสักการะ ณ สำนักงานเขตตลิ่งชัน
ผู้บริหาร MRT อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นบนสถานีบางไผ่ (ภาพประกอบ https://metro.bemplc.co.th/Metro-News-Detail?id=40574)
เมื่อถึงเวลา 13.00 น. จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงท่าที่สำนักงานเขตตลิ่งชัน เพื่อเดินทางกลับวัดนางชี โดยออกจากคลองชักพระ เลี้ยวขวาเข้าคลองบางกอกน้อย เมื่อถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้า จึงใช้รอกอัญเชิญกระเช้าพระธาตุขึ้นสถานีบางขุนนนท์ เดินบนสะพานข้ามทางรถไฟเพื่ออัญเชิญลงเรือ ออกจากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนเลี้ยวขวาเข้าคลองบางกอกใหญ่ที่พระราชวังเดิม และเลี้ยวซ้ายเข้าคลองด่าน อัญเชิญกลับวัดนางชี เป็นอันเสร็จพิธีในเวลา 19.00 น.
เส้นทางอัญเชิญพระบรมสารีริกธา่ตุ  จากคลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนกลับ คลองบางกอกใหญ่และคลองด่าน
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้ประเพณีชักพระวัดนางชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ประจำปี 2561 (ค.ศ. 2018)
ดังนั้น สะพานข้ามทางรถไฟฟ้าบนสถานีรถไฟฟ้าบางไผ่และสถานีบางขุนนนท์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดประเพณีอันเก่าแก่ทางพุทธศาสนาของชาวฝั่งธนสืบไป

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา