8 ธ.ค. 2022 เวลา 07:17 • สิ่งแวดล้อม
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกับบทบาทในฐานะพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย (APEC Communication Partner)
หลายท่านอาจคุ้นชินกับชื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกันมานานแล้ว แต่อาจยังไม่ทราบว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มีพันธกิจและมีหน้าที่ใดบ้าง โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเชื่อมั่นในหลักการ “ปลูกป่า ปลูกคน” เนื่องจาก ‘คน’ คือต้นเหตุและทางออกของปัญหาในการยกระดับชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พร้อมพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และผืนป่าผ่านการสร้างรายได้สุจริตควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า
ที่มา : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
นอกจากภารกิจภายในประเทศ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน อาทิ การทำงานร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในการพัฒนาทางเลือกและประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จนนำไปสู่โครงการดอยตุงที่เรารู้จักกันดีนั้นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจหากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจะเข้ามามีส่วนในฐานะพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย (APEC Communication Partner) ในปีนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบว่าพันธมิตรด้านการสื่อสารฯ คือใคร ผมแนะนำให้ทุกท่านรับชมรายการ ‘นักการทูต The Series ตอน ภาคธุรกิจกับการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC’ เพื่อที่ทุกท่านจะได้ทราบถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กับการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของไทยในปีนี้นั้นเอง
ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Week: AELW) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้จัดนิทรรศการ ในหัวข้อ “๕๐ ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน” สะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญของการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลธุรกิจสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคให้ความสำคัญและผลักดันในวาระการประชุมเอเปคในปีนี้นั่นเอง
อีกทั้งการปฏิบัติภารกิจของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังสอดคล้องกับหัวข้อหลักในการประชุมเอเปคในปีนี้อีกด้วย คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” โดยการเปิดกว้างให้ผู้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ด้วยการเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐศาสตร์ และการสร้างสมดุลผ่านการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ให้กับผู้คนในชุมชน
นิทรรศการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในงานสัปดาห์ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (AELW)
ในนิทรรศการดังกล่าวมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังได้นำเสนอโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจสีเขียวที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยโครงการนี้เกิดขึ้นตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านแนวคิดการซื้อขายมลพิษหรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
ซึ่งมูลนิธิฯ มีส่วนร่วมโดยเป็นตัวกลางเชื่อมโยงภาคเอกชนและชุมชนที่ดูแลป่าเข้าด้วยกันผ่านโครงการ “คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ” ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
โครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ ที่มา : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
สุดท้ายนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฝากบอกว่า ในฐานะ APEC Communication Partner ทางมูลนิธิฯ ขอใช้โอกาสนี้ในการโชว์ศักยภาพของภาคเอกชนไทยให้ผู้เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและสื่อมวลชนอีกหลายพันชีวิต เห็นว่าประเทศไทยพร้อมก้าวไปสู่การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พร้อมร่วมกันพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่และเป็นมิตรต่อผู้คนทุกคนต่อไป ซึ่งทุกอย่างนี้สอดคล้องกับแนวคิด ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนั้นเองครับ
โล่ประกาศเกียรติคุณ APEC Communication Partners
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา