9 ธ.ค. 2022 เวลา 04:35 • ข่าวรอบโลก
ส่องแผนรัฐประหารเยอรมนี ใครอยู่เบื้องหลังความพยายามโค่นรัฐบาล?
ในวันพุธที่ผ่านมา (7 ธ.ค. 2565) เกิดข่าวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อเจ้าหน้าที่ของเยอรมนีมีปฏิบัติการจับกุมครั้งใหญ่ทั่วประเทศ
รวบตัวผู้ต้องสงสัย 25 คน ไล่ตั้งแต่สมาชิกกลุ่มขวาจัดไปจนถึงอดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพ โดยระบุว่าคนกลุ่มนี้เป็นองค์กรก่อการร้ายสุดโต่ง ซึ่งกำลังวางแผนก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล
ตามการเปิดเผยของอัยการเยอรมนี คนกลุ่มนี้ตั้งใจจะโค่นล้มรัฐบาลสมัยใหม่ของประเทศด้วยการใช้ความรุนแรง แล้วแทนที่ด้วยรัฐในแบบของตัวเอง โดยพวกเขาวางโครงร่างรัฐบาล รวมทั้งเลือกตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีในกรณีที่การก่อรัฐประหารสำเร็จเอาไว้หมดแล้ว
ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางของแผนรัฐประหารนี้คือเจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 ซึ่งมาจากตระกูลขุนนางเก่า ผู้ที่ครอบครัวของเขาระบุว่า มีอาการสับสนและหลงเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด กลุ่มผู้วางแผนมีความใกล้ชิดอย่างมากกับกลุ่มขวาจัดสุดโต่ง ‘ไรชส์บือเกอร์’ (Reichsbürger) ผู้ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลเยอรมนีสมัยใหม่
ตำรวจเยอรมนีตรวจค้นอาคารที่เมือง บัด โลเบินชไตน์ ในรัฐทือริงเงิน เมื่อ 7 ธ.ค.2565
✫ เยอรมนีสกัดแผนรัฐประหาร
ปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งปฏิบัติการใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเยอรมนียุคปัจจุบัน มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นายของตำรวจทั้งในระดับท้องถิ่น, รัฐ และรัฐบาลกลาง กับหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการตรวจค้นกว่า 150 จุดใน 11 รัฐจากทั้งหมด 16 รัฐทั่วประเทศ
ในเวลาประมาณ 06.00 น. วันพุธ (7 ธ.ค. 2565) กองกำลังพิเศษของเยอรมนีบุกตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน จับกุมตัวนางเบอร์กิต มัลแซค-วิงเคอร์มันน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคขวาจัด AfD จากนั้น 3 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่ก็บุกเข้าที่พักล่าสัตว์แห่งหนึ่งที่เมือง บัด โลเบินชไตน์ ในรัฐทือริงเงิน
เจ้าหน้าที่ยังบุกตรวจค้นสถานที่อื่นๆ รวมถึง โรงซ่อมรถและสตูดิโอช่างไม้ จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 25 คน รวมถึง 2 คนที่สกีรีสอร์ตในออสเตรีย และเมืองเพอรูเกียในอิตาลี
ผู้ถูกจับมีทั้งอดีตทหารหน่วยพิเศษ KSK ของเยอรมนี, ทนายความ, นักบิน, เชฟ และเจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางของแผนรัฐประหารครั้งนี้
ไฮน์ริชที่ 13 ถูกกล่าวหาว่า ติดต่อกับผู้แทนของสหพันธรัฐรัสเซีย ทั้งที่รัสเซียและภายในเยอรมนี โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนในการโค่นล้มรัฐบาลเบอร์ลิน
✫ เจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 เป็นใคร?
เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐมานานกว่า 100 ปี และไม่มีกษัตริย์หรือเจ้าชายอย่างเป็นทางการแล้ว แต่อดีตขุนนางบางคนยังคงเลือกที่จะใช้ยศถาบรรดาศักดิ์ที่สืบทอดต่อกันมา ซึ่งเจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 ในวัย 71 ปี ผู้ถูกจับกุมที่บ้านของตัวเองในย่านคนมีฐานะของเขตแฟรงก์เฟิร์ต ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ไฮน์ริชที่ 13 มาจากตระกูลรอยส์ เชื้อพระวงศ์เก่าแก่ผู้เคยปกครองดินแดนที่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทือริงเงิน ตอนกลางของเยอรมนีมานานหลายร้อยปีจนถึง พ.ศ. 2461
โดยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ผู้ชายตระกูลรอยส์ต่างใช้ชื่อว่า ไฮน์ริช ทั้งหมดตามด้วยตัวเลขบอกลำดับ เพื่อรำลึกถึงกษัตริย์ไฮน์ริชที่ 6 ผู้เป็นราชาแห่งเยอรมันและจักรพรรดิโรมันจนถึงปี พ.ศ. 1740
แต่ดูเหมือนว่าการที่ไฮน์ริชที่ 13 เลือกใช้บรรดาศักดิ์ที่สืบทอดกันมาต่อไป จะทำให้คนในตระกูลของเขาไม่พอใจ โดยไฮน์ริชที่ 14 ญาติห่างๆ ซึ่งตอนนี้ทำหน้าที่เป็นผู้นำและโฆษกของตระกูลบอกกับสื่อเยอรมนีว่า
ไม่ได้คุยกับไฮน์ริชที่ 13 มาเป็น 10 ปีแล้ว และตกใจมากตอนที่เห็นข่าว “แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้ตระกูลเสียหายมาก...เรากลายเป็นผู้ก่อการร้ายและพวกขวาจัดไปแล้ว มันเลวร้ายจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม ตระกูลรอยส์ตัดขาดกับไฮน์ริชที่ 13 ตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา โดยไฮน์ริชที่ 14 ระบุว่าไฮน์ริชที่ 13 นั้นเป็นคนแก่ที่กำลังสับสน และตอนนี้ถูกครอบงำด้วยความคิดผิดๆ จากทฤษฎีสมคบคิด เขาเชื่อว่าเยอรมนีที่เรารู้จักไม่มีอยู่จริง
ตำรวจเยอรมนีตรวจค้นบ้านในกรุงเบอร์ลิน เมื่อ 7. ธ.ค.2565
✫ ใครอยู่เบื้องหลังแผนก่อรัฐประหาร?
เจ้าหน้าที่ของเยอรมนีระบุว่า กลุ่มผู้วางแผนก่อรัฐประหารเป็นองค์กรก่อการร้ายสุดโต่งที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักทฤษฎีสมคบคิดราว 50 คน
โดยสมาชิกส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดหรือเป็นสมาชิกของ ไรชส์บือเกอร์’ (Reichsbürger) กลุ่มขวาจัดสุดโต่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักนอกประเทศมากนัก แต่เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นในเยอรมนีตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มไรชส์บือเกอร์ หรือ ‘พลเมืองแห่งจักรวรรดิ’ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1871 พวกเขาปฏิเสธการดำรงอยู่ของประเทศเยอรมนี หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยเชื่อว่าเยอรมนีตอนนี้เป็นเพียงโครงสร้างบริหารที่ถูกยึดครองโดยมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งก็คือสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สำหรับพวกเขา อาณาเขตของจักรวรรดิเยอรมันในยุคปี ค.ศ. 1937 ยังคงมีอยู่
พวกเขาแสดงการต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีด้วยการไม่จ่ายภาษี และประกาศก่อตั้งอาณาเขตประเทศเล็กๆ เป็นของตัวเอง ที่พวกเขาเรียกกันเองว่า
‘จักรวรรดิเยอรมันที่ 2’, ‘รัฐอิสระปรัสเซีย’ หรือ ‘ดินแดนแห่งเยอรมาเนีย’ พวกเขาถึงขั้นพิมพ์พาสปอร์ตและใบขับขี่ของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าการกระทำเหล่านั้นผิดกฎหมายและไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ
ตามการเปิดเผยของสำนักงานข่าวกรองภายในประเทศ BfV ปัจจุบันกลุ่มไรชส์บือเกอร์มีสมาชิกราว 21,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี โดยประมาณ 5% ในจำนวนดังกล่าว หรือราว 1,150 คน ถูกประเมินว่ามีแนวคิดขวาจัดสุดโต่ง ซึ่ง BfV ระบุว่า เกิดเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาถึง 1,011 ครั้งในปี 2564
แผนที่จักรวรรดิเยอรมันเมื่อปี ค.ศ.1899
✫ ส่องแผนก่อรัฐประหาร มุ่งยึดรัฐสภา
ภารกิจสอดแนมของเจ้าหน้าที่มีบทบาทอย่างมากต่อปฏิบัติการนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนภายใต้ชื่อรหัสว่า ‘Schatten’ หรือ ‘เงา’ โดยจับตาผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 52 คน และพบว่าคนกลุ่มนี้จริงจังกับแผนก่อรัฐประหารมาก ภายในกลุ่มมีการลงนามข้อตกลงไม่เปิดเผยความลับ ผู้ละเมิดจะถูกลงโทษตาย
อัยการเยอรมนีระบุว่า องค์กรนี้วางแผนยึดอำนาจเอาไว้อย่างละเอียด รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานรักษาความมั่นคงมาตุภูมิ เพื่อรักษาการควบคุมประเทศ, แผนฝึกอาวุธ, แผนวางระบบไอที และรัฐมนตรีเงาที่จะเข้ามาปกครองประเทศหากการก่อรัฐประหารสำเร็จ
พวกเขาค่อยๆ สะสมอาวุธ ขอใบอนุญาตในการครอบครองปืนสำหรับล่าสัตว์ และกำลังเตรียมการเพื่อรอวันที่ ‘X’ เพื่อบุกโจมตีอาคารรัฐสภา ‘ไรชส์ทาค’ ในกรุงเบอร์ลินและยึดอำนาจ
โดยมีฝ่ายทหารนำโดยผู้นำลำดับ 2 ของกลุ่มนามว่า รือดิเกอร์ วอน พี. ทำหน้าที่กำจัดหลักการประชาธิปไตยถึงในระดับท้องถิ่น ย้อนคืนเยอรมนีกลับไปสู่สภาพเมื่อกว่า 100 ปีก่อน
พวกเขาติดต่อสื่อสารกันด้วยโทรศัพท์มือถือดาวเทียมซึ่งมีราคาเครื่องละกว่า 20,000 ยูโร (ราว 7.3 แสนบาท) ที่ยังสามารถใช้การได้แม้ระบบไฟฟ้าถูกตัด ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้อาจมีแผนตัดไฟฟ้าด้วยเพื่อสร้างความวุ่นวาย
ในการดักฟังครั้งหนึ่งเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ยินนาย ไฮน์ริชพูดว่า “เราจะกำจัดพวกเขาให้หมด เวลาสำหรับความสนุกจบลงแล้ว” นอกจากนั้นยังมีหลายข้อความที่สมาชิกกลุ่มคุยกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบปกครอง และกำจัดศัตรู
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ตำรวจเยอรมนีเพิ่งออกมาเตือนว่า คนบางกลุ่มกำลังวางแผนบุกโจมตีรัฐสภาและยกระดับการเฝ้าระวังมากขึ้น ขณะที่ BfV จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรับมือภายใต้โค้ดเนมว่า ‘Kangal’ สะท้อนให้เห็นว่า ข่าวเรื่องภัยคุกคามนี้น่าเชื่อถือและเป็นของจริง
บ้านพักล่าสัตว์ซึ่งถูกใช้เป็นจุดนัดพบ
✫ แผนรัฐประหารใกล้เป็นจริงแค่ไหน?
เจ้าหน้าที่ของเยอรมนีไม่ได้ระบุชัดเจนว่า แผนรัฐประหารครั้งนี้ใกล้เป็นความจริงแค่ไหน แต่นักวิเคราะห์หลายคนไม่เชื่อว่า คนกลุ่มนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการตามแผนให้สำเร็จได้ ซึ่งมีตั้งแต่ บุกโจมตีรัฐสภาและจับกุมเหล่า ส.ส.
นางซารา นานนี ส.ส.พรรคกรีนของเยอรมนีกล่าวว่า เธอไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะฉลาดพอดำเนินแผนการที่รัฐมนตรีมหาดไทยเรียกว่าเป็น ‘ความรุนแรงเพ้อฝัน’ ได้สำเร็จ แต่ไม่ว่าแผนการของพวกเขาจะหยาบ หรือไร้ความหวังแค่ไหนก็ตาม แค่คิดที่จะทำก็เป็นเรื่องอันตรายแล้ว
ด้านนายยอร์ก ชมิตต์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Süddeutsche Zeitung เขียนในบทความว่า “มันคงง่ายเกินไปที่จะทำให้ไม่สนใจคนกลุ่มนี้โดยบอกว่าพวกเขาเป็น คนบ้า, กลุ่มนักทฤษฎีสมคบคิดแปลๆ หรือผู้คนที่เราไม่ต้องไปจริงจังอะไรมาก...
นั่นมันไร้เดียงสาเกินไป ผู้ถูกกล่าวหาวางแผนระบบทหารเพื่อโค่นล้มเยอรมนี 52 คน มาจากสังคมชั้นกลาง พวกเขาเป็นครู, หมอ, นักธุรกิจ คนที่ปกติคุณจะนึกว่าเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย”
ขณะที่นายปีเตอร์ นอยมันน์ ศาสตราจารย์วิชาศึกษาความมั่นคงจากวิทยาลัย คิง คอลเลจ ในกรุงลอนดอนเตือนว่า แม้ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจะสกัดแผนก่อรัฐประหารเอาไว้ได้ แต่เขาไม่คิดว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้าย และไม่แปลกใจเลยหากยังมีเครือข่ายอื่นๆ ถูกเปิดโปงออกมา
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : nbcnews , theguardian , dw
โฆษณา