12 ธ.ค. 2022 เวลา 02:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Guillermo del Toro's Pinocchio (2022) - บทพิสูจน์หัวใจอันบริสุทธิ์ของหุ่นน้อย สู่การเป็นเด็กชายที่สมบูรณ์
ต้องชื่นชมในวิสัยทัศน์และการกำกับของ กีเยร์โม เดล โตโร... Pinocchio เวอร์ชั่นนี้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างละเมียดละไม จนเป็นงานที่น่าประทับใจ
สวัสดีครับทุกท่าน ! ในปีนี้ มีหนัง Pinocchio หลากหลายเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรกคือ Pinocchio (2022) ของ Disney ที่มาในรูปแบบ Live-action โดยอ้างอิงเนื้อหาจากแอนิเมชั่น Pinocchio ในปี 1940 (หรือเวอร์ชั่นที่เราดูตอนเด็กนั่นเอง... สร้างมาเมื่อ 80 ปีที่แล้ว !) แน่นอนว่า Pinocchio ฉบับ Disney 2022 ได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ผสมกับกระแสดราม่าจากหลากหลายประเด็น
ครั้งถึงปลายปีนี้ ก็มี Pinocchio ในอีกเวอร์ชั่น ภายใต้การวิสัยทัศน์ของ Guillermo del Toro ผู้กำกับสายดาร์คที่มีผลงานชื่อดังอย่าง Pan's Labyrinth (2006) ทั้งยังมีผลงานภาพยนตร์ออสการ์ยอดเยี่ยม Shape of Water (2020)
วันนี้ผมจึงอยากจะมาเขียนรีวิวแนะนำ Pinocchio เรื่องนี้ในฐานะที่เป็นแอนิเมชั่นที่น่าสนใจปีนี้ เผื่อว่าท่านใดสนใจนะครับ
[ เรื่องย่อ ]
เรื่องราวของ Pinocchio เกิดขึ้นครั้งแรกจากวรรณกรรมเรื่อง Adventures of Pinocchio (1883) ของผู้แต่งชาวอิตาลี Carlo Collodi เนื้อหาเล่าถึง "เจปเปตโต (David Bradley)" ช่างไม้ที่สูญเสียลูกชาย เขาตัดสินใจสร้างหุ่นไม้ขึ้นมา และเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อหุ่นไม้ตัวนั้นมีชีวิตขึ้นมา เขาตั้งชื่อหุ่นไม้ตัวนั้นว่า "พิน็อกคิโอ (Gregory Mann)"
[ ความรู้สึกหลังชม ]
ความรู้สึกแรกหลังดูจบ คือ สัมผัสได้ว่ามีโอกาสเข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชั่นพอสมควร 😂 เชื่อว่าตัวพล็อตหลัก เป็นอะไรที่ทุกคนพอจะรู้อยู่แล้ว แต่ในส่วนบทภาพยนตร์และการตีความ แอนิเมชั่นในเวอร์ชั่นนี้ ทำได้น่าประทับใจทีเดียว
- จุดที่ดีที่สุด ขอยกให้เป็นเรื่อง "แก่นภาพยนตร์อันแข็งแรง" สเกลเนื้อหา ความหนักในพาร์ทดราม่า สารที่หนังสื่อออกมา อยู่ในระดับเดียวกับภาพยนตร์ดราม่าคนแสดง ถือว่า บทหนังมีโครงสร้างที่แข็งแรง ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้เยี่ยม
โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ความเจ็บปวดและแรงผลักดันในการสร้างหุ่นไม้ของ "เจปเปตโต" ความเดียวดายและการผจญภัยของ "พิน็อกคิโอ เพื่อหาหนทางสู่การเป็นเด็กชายที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน การตามหาความหมายและคุณค่าของชีวิตผ่านการเวียนเกิด และสายใยความผูกพันระหว่างพ่อกับลูก...
ประเด็นเหล่านี้ หนังทำได้ลึกซึ้งและสะเทือนใจในหลาย ๆ ฉาก อย่างซีนที่มีเพลง Ciao Papa กับซีนท้ายเรื่อง ทำเอาน้ำตาซึมได้เลย (เป็นหนังวันพ่อได้สบาย 🥹)
เจปเปตโตและพิน็อกคิโอ
- ในหนังมีการตีความ โดยเพิ่มแบ็คกราวน์เรื่องให้อยู่ในอิตาลียุคฟาสต์ซิส ตรงนี้หนังอุปมา - อุปมัยได้น่าสนใจ
ตัวเรื่องเปรียบเปรยการเชิดหุ่นในหลายแง่มุม เช่น Count Volpe เจ้าของงาน Carnival หาทางเชิดหุ่นไม้อย่างพิน็อกคิโอ เพื่อกอบโกยเงิน ขณะที่ผู้นำฟาสซิสต์อย่าง มุสโสลินี ก็เชิดมนุษย์ เพื่อคุมคนให้ไปทำสงคราม ผ่านตัวละคร Podestà ที่คอยคุมความประพฤติของทุกคนในเมือง
เรียกว่า ฉลาดในการพ่วงประเด็นต่อต้านสงคราม... ไม่รู้ว่า ตัวผู้กำกับพยายามส่งนัยยะถึงประเด็นสงครามรัสเซีย - ยูเครนด้วยอยู่หรือเปล่า
พิน็อกคิโอและ Count Volpe
- การสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละคร แต่ละตัวดูสมจริงและน่าจดจำ เช่น "พิน็อกคิโอ" ที่น่ารักไร้เดียงสา แต่ก็ดื้อรั้นในเวลาเดียวกัน, "เจปเปตโต" พ่อที่ปล่อยวางความสูญเสียไม่ได้ และคาดหวังให้พิน็อกคิโอเป็นเด็กที่น่ารักอย่างที่ตัวเองวาดฝันไว้
ตัวละครอื่น ๆ เช่น "จิ้งหรีด" ที่มีบทบาทสอนพิน็อกคิโอให้เป็นเด็กดี, "Count Volpe" เจ้าของ Carnival ผู้เต็มไปด้วยความโลภ และ "Spazzatura" ลิงประจำคณะ, "Podesta" ผู้คุมความประพฤติของผู้คนในเมือง และ "ลูกชาย"...
ตัวละครแต่ละตัวมีบทบาทกับเรื่อง ต้องชมว่า เกลี่ยบทตัวละครได้ดี
- งาน Stop Motion จัดว่า สวยงามประณีต ดูเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งหนังให้ไปถึงออสการ์ อย่างน้อยงานแอนิเมชั่นที่ออกมาก็ทำให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงความคราฟต์ มีกรรมวิธีการสร้างที่แปลก ละเมียดละไม ให้ความรู้สึกเป็นงานศิลปะกว่าแอนิเมชั่นเรื่องอื่น ๆ
อีกส่วนที่น่าชม ก็เรื่องการจัดแสงในเรื่อง ทำได้ละมุน พิถีพิถัน น่าประทับใจ
- ลายเซ็นต์ภาพยนตร์ ยังคงมีกลิ่นอายแบบ "กีเยร์โม เดล โทโร" เช่น โทนเรื่องแฟนตาซีที่มีความดาร์คผสม รูปแบบตัวละครหลอน ๆ (นางฟ้ายังดูหลอน สไตล์ทูตสวรรค์ 😂) ความดราม่า สงคราม และความสูญเสียในเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าจะเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีสำหรับเด็ก ดนตรีประกอบฟุ้ง ๆ ชวนฝันเหมือนเพลงกล่อมเด็ก ผสมกับฉากหวาดเสียวเล็กน้อย
พิน็อกคิโอในสภาพอ่อนล้าจากงานแสดง
- งานดนตรีประกอบภาพยนตร์ ก็ถือว่าน่าประทับใจ หลายเพลงมีทำนองที่เพราะสวยงาม... ฟังไปฟังมาก็คุ้น ๆ รู้สึกมันดูชวนฝันเหมือน Shape of Water (2020) สรุปว่า คนประพันธ์เป็นคนเดียวกัน Alexandre Desplat 😆
[ สรุป ]
แม้ว่า Pinocchio ในเวอร์ชั่นของ กีเยร์โม เดล โตโร จะไม่ได้แปลกแหวกแนวจนฉีกจากภาพเดิม และอาจไม่ได้เป็นแอนิเมชั่นที่ดูง่ายจนเหมาะกับทุกคน แต่น่าชื่นชมที่เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราว Pinocchio ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ดูสมจริง มีความเป็นธรรมชาติ และมีความเป็นภาพยนตร์ ทั้งยังวางโครงเรื่องได้อย่างแข็งแรง
นอกจากนี้ งาน Stop Motion ที่ออกมาก็ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับ Pinocchio ในเวอร์ชั่นนี้ได้ดี ดูประณีตและงดงาม
ดังนั้นก็ขอแนะนำนะครับ ส่วนตัวผมมองว่า ตัวแอนิเมชั่นน่าจะไปไกลถึงชิงออสการ์สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จึงไม่อยากให้พลาดแอนิเมชั่นดี ๆ กัน... ใครที่สนใจรับชมได้บน Netflix !
[ เพิ่มเติม ]
หลังจากที่ชมหนังหลักเรียบร้อย อย่าลืมชมเบื้องหลังการสร้างนะครับ หนังเบื้องหลังเล่าแนวคิดกับวิธีการสร้าง Pinocchio ในฉบับของกีเยร์โมไว้น่าทึ่งมาก ดูได้บน Netflix เช่นกัน
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพุดคุยหรือติดต่อกับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา