12 ธ.ค. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
ย้อนรอย Tesla บริษัทผู้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาสู่กระแสนิยม
กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูโลกจากสภาวะอากาศแปรปรวนกำลังกลายมาเป็นกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝั่งภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้อย่างมาก ก็คือ “รถยนต์ไฟฟ้า”
อย่างไรก็ดี มิใช่เพียงกระแสการรักษ์โลกอย่างเดียวที่นำพารถไฟฟ้ามาสู่จุดนี้ อีกหนึ่งบริษัทอันมีบทบาทสำคัญของการสร้างความนิยมในรถไฟฟ้าให้สูงขึ้นทั่วโลก ก็คือ “เทสล่า (Tesla)”
โดยหัวเรือใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน ก็คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีชาวอเมริกาผู้โด่งดังนั่นเอง
จึงนำมาซึ่งบทความนี้ที่เราจะพาย้อนกลับไปดูช่วงเวลาสำคัญของบริษัทผู้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาสู่กระแสนิยมนี้กัน
ปี 2003 เมื่อพูดถึงเทสล่า หลายคนคงจะคุ้นชินกับชื่อของอีลอน มัสก์
ทว่าในตอนตั้งต้นจริงๆ คุณมัสก์ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งบริษัทนี้
แต่เป็นสองวิศวกรวิสัยทัศน์ก้าวหน้านามว่า มาร์ติน เอเดนฮาร์ด (​Martin Eberhard) และ มาร์ก ทาร์เพนนิ่ง (Marc Tarpenning) ที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อหวังจะสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่พวกเขามองว่าจะเป็นอนาคตของโลก
พร้อมกับตั้งชื่อบริษัทจากนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง นิโคล่า เทสล่า (Nikola Tesla) ผู้สร้างกระแสไฟฟ้าสลับที่ใช้กันในปัจจุบัน
ปี 2004 หลังจากเปิดบริษัทมาไม่นาน เทสล่าก็เข้าสู่ช่วงระดมทุนรอบแรกๆ โดยหนึ่งในผู้ลงทุนคนสำคัญ คือ “อีลอน มัสก์” ในวัย 31 ปีที่ใช้เงินลงทุนในบริษัทเป็นมูลค่า 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งมัสก์เป็นบุคคลสำคัญของบริษัทอย่างยิ่ง ทั้งส่วนของฝ่ายผลิต และการโฆษณาบริษัทผ่านตัวตนของเขา ที่เป็นไอคอนของเศรษฐีวัยเยาว์ที่มีความหลักแหลม และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลังจากที่เขาขึ้นมาเป็น CEO ของบริษัทหลังจากนั้นหลายปี
ปี 2008 ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แข่งขันการดุเดือด การเจาะตลาดเพื่อดึงผู้บริโภคมาเป็นของตนไม่ง่ายเลย ซึ่งเทสล่าก็เลือกที่จะเปิดตลาดรถยนต์ของตนเองในฐานะรถยนต์หรูก่อน
โดยรถยนต์รุ่นแรกมีชื่อว่า “Roadster” ซึ่งก็เข้าสู่กระบวนการผลิตในปี 2008 แต่ในปีนั้นอย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า เป็นปีที่เกิดวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) ทำให้เทสล่าเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็รอดมาได้หวุดหวิดจากการหาเงินกู้มาประคองบริษัทได้
ปี 2010 เมื่อสถานการณ์บริษัทเริ่มนิ่งขึ้น เทสล่าก็ประกาศขายหุ้นสู่สาธารณชน (IPO) ในตลาดหุ้น Nasdaq ราคาหุ้นละ 17 ดอลลาร์สหรัฐ ระดมทุน 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการประกาศเข้าสู่ตลาดหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติพอดี
ปี 2013 บริษัทเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติม ทั้ง Model S และ Model X แต่ก็นำพาบริษัทเข้าสู่จุดวิกฤติอีกครั้ง จนเกือบจะถูกซื้อโดย Google
แต่ในช่วงกลางปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทก็เริ่มประกาศตัวเลขกำไรที่น่าพอใจ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวขึ้นมา และทำให้ดีลการขายบริษัทให้กับ Google ก็ถูกพับตามลงไปด้วย
ปี 2015 หลังจากทำการประกาศมาก่อนหน้าสักพัก ในที่สุดเทสล่าก็เปิดตัวระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติที่เรียกว่า “auto-pilot” ในการขับขี่บนท้องถนนจริงๆ
ระบบ auto-pilot ถือเป็นหนึ่งในจุดขายสำคัญอย่างหนึ่งของรถยนต์เทสล่า ที่หลายคนบอกว่า พวกเขาไม่ได้ขายแค่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ขายซอฟแวร์ที่อยู่ภายในรถยนต์ อันมีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลาด้วย
ปี 2016 เทสล่าประกาศเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ Model 3 ซึ่งเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น ด้วยราคาที่จับต้องได้มากกว่าเดิม
พร้อมกันนี้เทสล่ายังขยายตนเองออกจากการเป็นแค่ผู้ผลิตรถยนต์ ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ต่อไปอย่างธุรกิจโซล่าเซลล์ ทั้งหมดนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะพาเทสล่าไปสู่ตลาดขนาดใหญ่ขึ้น อันเป็นโอกาสในการหากำไรมากขึ้น
ปี 2022 หลังจากมีการทำตลาดออกไปในหลายประเทศ ในที่สุดเทสล่าก็เข้ามาทำการตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยอย่างดี
ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่า บทบาทของไทยต่อเทสล่าในอนาคตจะขยายไปได้ไกลแค่ไหน และนี่จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของไทยในอนาคตด้วยหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
FYI
ก่อนที่จะมาลงทุนใน Tesla คุณอีลอน มัสก์ในวัยแค่ 31 ปีได้เงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการขาย “PayPal” ให้ eBay
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา