15 ธ.ค. 2022 เวลา 03:09 • สุขภาพ
ยารักษาโรคเบาหวานกับภาวะสมองเสื่อม
โรคเบาหวานถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: non-communicable diseases ) ที่เป็นปัญหาของสาธารณสุขไทยอยู่ในปัจจุบัน คนไทยไม่สิผมว่าทั่วทั้งโลกป่วยเป็นเบาหวานกันมากขึ้น ไว้มีโอกาสจะลองหาข้อมูลมาให้ดูนะครับว่าเท่าที่มีการรายงาน คนทั่วโลกป่วยเป็นเบาหวานกันกี่คน ?
วันนี้ผมมียารักษาเบาหวาน 2 กลุ่มที่อยากแนะนำให้รู้จักกันครับ กลุ่มแรกคือ sodium-glucose cotransporter-2 (SGLT2) inhibitors และอีกกลุ่มคือ dipeptidyl peptidase-4 inhibitors (DPP4) โอ้วว จำยากใช่ไหมครับ
ถ้าให้เล่าละเอียดน่าจะยาว เอาเป็นว่าเล่าคร่าวๆละกันครับ
กลุ่มที่ 1 ผมขอเรียกสั้นๆว่า SGLT2 inhibitors จะได้จำกันง่ายๆนะครับ ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งกลูโคสที่ไตและเพิ่มการขับออกทางปัสสาวะ จึงลดการดูดซึมกลับของกลูโคสที่ไต ทําให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้ เช่น canagliflozin, dapagliflozin, empagliflozin เราก็จะจำกันง่ายๆว่ายากลุ่มนี้ลงท้ายด้วย "gliflozin"
ตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors
กลุ่มที่ 2 ผมขอเรียกสั้นๆว่า DPP4 inhibitors ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนจากตับอ่อน และกระตุ้นตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ผลคือช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้ เช่น Sitagliptin, Vildagliptin, Saxagliptin, Alogliptin เราก็จะจำกันง่ายๆว่ายากลุ่มนี้ลงท้ายด้วย "gliptin"
ตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่ม DPP4 inhibitors
คร่าวๆประมาณนี้ก่อนครับ
แต่ยาทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ใช้ยาหลักในรักษาเบาหวานในบ้านเรา บ้านเรายังคงใช้ยา Metformin เป็นยาตัวแรกอยู่ครับ และยาทั้งสองกลุ่มที่ผมกล่าวไปมักจะเป็นยาเสริมเมื่อใช้ยาหลักไม่ได้ผล
ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้คือมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบยา SGLT2 inhibitors และ DPP4 inhibitors ว่ามีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างไรบ้าง ซึ่งการศึกษาเป็นแบบ Population-Based Cohort Study ที่มีผู้เข้าร่วมในการศึกษาวิจัยราวๆแสนกว่าคน
ผลการวิจัยพบว่ายาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors ช่วยลดการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ 20% เมื่อเทียบกัยบยา DPP4 inhibitors นี่ก็เป็นผลที่ได้จาก Cohort Study ซึ่งต้องมีการทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปครับ
ภาพจาก (1)
ทำไมยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors ถึงช่วยลดการเกิดโรคสมองเสื่อมได้? เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป และที่น่าสงสัยอีกอย่างคือ โรคเบาหวานนำไปสู่โรคสองเสื่อมได้จริงไหม ความสัมพันธ์นี้เป็นอย่างไร ไว้มาหาคำตอบกันในบทความต่อๆไปนะครับ
โฆษณา