15 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
“เสียงจากภายนอก” และ “เสียงจากภายใน” บทเรียนจากมาราธอน 42.2 กิโลฯ
หนึ่งในวันที่เปลี่ยนชีวิตและความคิดผมไปมากที่สุดคือวันที่ 11 เมษายน 2561
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ผมเคยเล่าให้หลายท่านฟังในหลายๆ ครั้ง ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันยิ่งตกผลึกและสอนอะไรผมมากขึ้นไปอีก
1
วันที่ 11 เมษายน 2561 เป็นวันที่ 41 ที่ผมได้วิ่งอย่างจริงจัง โดยผมเริ่มวิ่งวันที่ 1 มีนาคม 2561 เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ ‘Homo Finisher สายพันธุ์เข้าเส้นชัย’ ของนิ้วกลม
วันนั้นผมอยู่ที่เกียวโต ซึ่งใกล้ๆ ที่พักมีสวนสาธารณะเล็กๆ อยู่ ผมออกจากที่พักราวตี 5 ซึ่งสายกว่าปรกตินิดหน่อย โดยกะว่าจะวิ่งสัก 10 ถึง 15 กิโลเมตร เพราะยังล้าจากการวิ่งวันที่ 9 อยู่ จำได้ว่าหยิบ Energy Gel ไปแค่ซองเดียวเอง เพราะไม่ได้กะจะวิ่งเยอะ
1
พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าวันนี้อากาศดี ครึ้มฟ้าครึ้มฝนเลยวิ่งสบาย วิ่งไปได้ครบ 15 กิโลฯ ก็เกิดนึกถึงความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาครับ คือความรู้สึกตอนอ่านหนังสือของนิ้วกลม
1
มีข้อความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มาจากคุณมานิต อุดมคุณธรรม ผู้ก่อตั้งห้างโรบินสัน เขาได้กล่าวไว้ว่า
“ผมบอกกับคนหนุ่มคนสาวเสมอว่า ถ้าแนะนำได้ ผมอยากแนะนำให้คุณลองวิ่งมาราธอนสักครั้งในชีวิต เพราะถ้าคุณจบมาราธอน คุณจะมีพลังขึ้นมา คุณจะรู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ มันไม่ง่ายแต่ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ”
“เพราะเมื่อคุณวิ่งไปถึง 30 กิโลเมตรคุณจะพบว่าร่างกายคุณไปไม่ไหวแล้ว สิ่งที่พาร่างกายคุณไปต่อจนถึงเส้นชัยคือหัวใจเท่านั้น คุณต้องต่อสู้กับความอยากยอมแพ้ แต่ถ้าคุณพาตัวเองไปถึงเส้นชัยได้ แปลว่าคุณมีหัวใจอีกแบบหนึ่ง หัวใจแบบนั้นทำอะไรก็สำเร็จ”
3
นี่คือคำกล่าวที่เรียบง่ายแต่เฉียบคมอย่างยิ่ง
ผมเลยคิดว่า ‘เอาว่ะ ลองดู มันจะตายเชียว’ แล้วก็วิ่งครับ แรกๆ ก็โอเคนะครับแต่สักพักเริ่มเหนื่อย ความรู้สึกต่างๆ ถาโถมเข้ามามากมาย ผมเริ่มพูดกับตัวเองว่า
“เห้ย ร่างกายเรามันจะไหวไหมนะ”
“หิวแล้วไปกินข้าวเถอะ จะวิ่งไปหาอะไร”
หรือ
“เดี๋ยวนะเรากิน Energy Gel ซองเดียวของเราไปแล้ว ถ้าวิ่งแล้วเกิดเดี้ยงขึ้นมาทำไง”
“เห้ย ตอนนี้น้ำหนักตัวยังไม่เข้าเกณฑ์ วิ่งเยอะๆ แบบนี้เข่าพังขึ้นมาจะทำยังไง”
ฯลฯ
1
ผมยอมรับเลยครับว่าอยากจะเลิกหลายรอบมาก เพราะไม่รู้จะวิ่งให้ทรมานสังขารทำไม ผมรู้สึกเจ็บบางส่วนของเท้าที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูกจริงๆ ครับ ทั้งเจ็บ ทั้งตึง ทั้งแสบ รวมๆ กัน
จนกระทั่งถึงกิโลเมตรที่ 34 มันรู้สึกเหมือนอยากก้าวขาแต่ก้าวไม่ออก ผมคิดในใจตอนนั้นว่านี่คงเป็นอาการที่เรียกว่า ‘Hitting the wall’ รึเปล่า ซึ่งผมเคยได้ยินมาจากภาพยนตร์หรือสารคดีเรื่องหนึ่งที่จำไม่ได้แล้ว จำได้ว่าตอนนั้นเปลี่ยนมาวิ่งแบบช้ามากๆ
หลังจากนั้นผมก็วิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจอะไรนอกจากตอนนาฬิกา Garmin สั่นเมื่อครบกิโลเมตรต่อไปเท่านั้นเอง
จนในที่สุดเลข 42 ก็ขึ้นมาบนนาฬิกา ตอนนี้ผมต้องวิ่งอีกแค่ 200 เมตรเท่านั้นก็จะครบ 42.2 กิโลเมตรแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนวิ่งเข้าเส้นชัยจริงๆ ครับ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีเส้นชัย ไม่มีคนจัดการแข่ง ไม่มีเหรียญ แต่นี่คือมาราธอนแรกของผมแล้ว
ผมวิ่งจบระยะ 42.2 กิโลเมตรในที่สุด ในสภาพสะบักสะบอม
1
เป็นวันแห่งความทรงจำอีกวันที่ผมไม่มีวันลืม
1
วิ่งเสร็จผมนั่งลงนิ่งๆ อีก 15 นาทีเพราะหมดแรงสุดๆ มันเป็นความเหนื่อยที่สุดในชีวิต แต่เป็นสุดยอดประสบการณ์จริงๆ หลังจากนั้นผมก็โพสต์รูปที่วิ่งจบลงเฟซบุ๊ก
1
ตอนแรกๆ ก็มีคนมายินดีมากมาย แต่ว่าคอมเมนต์หลังๆ ชักเปลี่ยนไป ประมาณว่า “เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของคนดันทุรัง ทำแบบนี้จะเจ็บตลอดชีวิตและอาจจะวิ่งไม่ได้อีกเลย” อีกคอมเมนต์ก็เป็นแนวว่า “อย่าเอาเป็นตัวอย่างเพราะมาราธอนต้องซ้อมนานกว่านี้เยอะ อันนี้ถือเป็นพวกประมาทไม่เข้าใจการวิ่งที่แท้จริง” ฯลฯ
มีความเห็นแนวนี้เยอะมาก อ่านแล้วเหวอเหมือนกันครับเอาจริงๆ
1
และผมเมื่อไป Google ดู ก็พบว่าจริงอย่างที่คอมเมนต์ต่างๆ ว่ากัน การที่ผมหัดวิ่งมาแค่ 41 วันแล้วมาวิ่ง Full Marathon เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง มันต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีตารางซ้อม ต้องมีการเติมสารอาหาร และอีกมากมาย
แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่มากที่ผมได้เรียนรู้วันนั้นก็คือ ถ้าหากผมได้อ่านคอมเมนต์เหล่านั้นก่อน ตัวผมเองไม่มีทางวิ่งจบอย่างแน่นอน เพราะเอาจริงๆ ตอนกิโลเมตรที่ 30 กว่าๆ ใจมันก็ท้อจะแย่อยู่แล้ว
2
นี่คือสิ่งแรกที่ผมได้เรียนรู้ครับ ซึ่งก็คือ “เสียงภายนอก” นั้นมีอิทธิพลกับเรามาก
1
เราลองนึกย้อนกลับไปในชีวิตของเรานะครับ ว่าเสียงภายนอกส่งอิทธิพลต่อเราแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเสียงของพ่อแม่ ญาติๆ เพื่อนๆ คนรัก หรือป้าข้างบ้าน เสียงเหล่านี้พาเราเดินไปทางไหนมาบ้าง ผมไม่ได้บอกว่าเสียงเหล่านี้ผิดนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เสียงเหล่านี้ค่อนข้างถูกด้วยซ้ำ และมาจากความหวังดีมากๆ เช่นกัน
2
แต่หลายครั้งมันอาจจะผิดก็ได้
1
สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เกี่ยวกับเสียงภายนอก คือ ในวันที่เราได้ยินนั้นมันยากมากเลยที่จะบอกว่ามันผิดหรือถูก แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเสียงภายนอกนั้นขัดกับสิ่งที่คุณอยากทำมากๆ ผมอยากแนะนำให้คุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำเถอะครับ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว คนที่ต้องอยู่กับผลของการกระทำนั้นคือตัวคุณเอง ไม่ใช่เจ้าของเสียงจากภายนอกใดๆ
1
อีกเรื่องที่ผมได้ตกผลึกจากการวิ่งครั้งนี้คือ “เสียงภายใน”
ตอนวิ่งมาราธอนผมได้ยินเสียงภายในหัวเยอะมาก แบบที่เล่าไปเมื่อกี้แหละครับ จะว่าไปผมว่าการวิ่งมาราธอนเป็นการฝึกทำความเข้าใจเสียงในหัวที่ดีที่สุดเลย ใครที่เคยได้วิ่งผมคิดว่าน่าจะเข้าใจประเด็นนี้ดี
และสิ่งที่ผมได้รู้อย่างชัดๆ เลยก็คือ เสียงในหัวเราหรือความคิดเรา มัน “ไม่ใช่ตัวเรา”
ดังนั้นเวลาเราได้ยินความคิดเราในหัว สิ่งสำคัญมากๆ คือ “อย่าพึ่งเชื่อ”
1
ขอให้ตั้งคำถามกับความคิดในหัวเราเสมอ
ถ้าเรามีความคิดในหัวว่า “แม่ไม่รักเรา” เพราะเมื่อกี้พึ่งทะเลาะกัน ให้ลองตั้งคำถามกับความคิดในหัวนั้นว่า “แม่ไม่รักเราจริงๆ เหรอ” และเมื่อเราพิจารณาถึงสิ่งที่แม่ทำให้เรามาตลอดชีวิต เราก็จะพบว่าสิ่งที่เราคิดเมื่อกี้มันไม่จริงเลย
2
นี่คือความน่ากลัวของเสียงในหัวครับ ตอนแรกมันเหมือนจะจริงและเราอาจทำตาม แต่เมื่อพิจารณาอย่างดีแล้วก็จะพบว่าเสียงในหัวที่พูดกับเรานั้นมันไม่จริง
ดังนั้นตั้งคำถามกับเสียงในหัวของเราตลอดนะครับ
วิธีการ Narrate หรือการเล่าเรื่องของเสียงในหัวเราก็น่ากลัวเหมือนกันในบางที การเอาของสามสี่อย่างมาต่อกันแล้ว Narrate หรือ พยายามเชื่อมโยงกันทั้งๆ ที่มันเชื่อมโยงกันไม่ได้ สร้างหายนะให้กับหลายคนมาเยอะแล้ว
ผมไม่ได้บอกให้ไม่เชื่อเสียงในหัวนะครับ แค่เสนอว่าให้ตั้งคำถามกับมันเฉยๆ
ทั้งเสียงภายนอกและเสียงภายในมีอิทธิพลกับเราอย่างมาก ดังนั้นจงใช้มันด้วยความระมัดระวังและให้เกิดประโยชน์สูงสุดนะครับ
#missiontothemoon
#missionothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา