15 ธ.ค. 2022 เวลา 17:21 • ข่าวรอบโลก
ย้อนรอยอดีตนายกฯ อังกฤษ "บอริส จอห์นสัน" จาก อดีตบรรณาธิการสื่อฝ่ายขวา …สู่นายกฯ ผู้แทรกแซงสื่อฝ่ายซ้าย
ช่วงต้นกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สำหรับประชาชนชาวสหราชอาณาจักรคงไม่มี topic ไหนเป็น talk of the town เท่ากับข่าวบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค Conservative คนล่าสุดอีกแล้ว หลังจากที่เขาถูกเกลี้ยกล่อมโดยรัฐมนตรีอาวุโสหลายคน จนสุดท้ายจำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม 2565
ในเวลานั้นสถานภาพทางการเมืองของนายจอห์นสันจะง่อนแง่นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เหตุการณ์สำคัญที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คงหนีไม่พ้นการที่คณะทำงานกว่า 50 ชีวิต รวมถึงรัฐมนตรีระดับสูงหลายคนตบเท้ายื่นใบลาออก ไม่ว่าจะเป็นซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ริชี สุนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ มิเชล โดเนแล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกาศลาออกในช่วงเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม หลังเพิ่งได้รับตำแหน่งแค่เพียง 2 วันก่อนหน้านั้น
โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของการลาออก สืบเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในการเป็นผู้นำพรรคของนายจอห์นสัน ที่ตลอดการดำรงตำแหน่งมีประเด็นฉาวอันกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของพรรคนับครั้งไม่ถ้วน
// The Rise and Fall of Boris Johnson //
ถึงกระนั้นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ บอริส จอห์นสัน ก็นำมาซึ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่น่าสนใจ ตั้งแต่ชัยชนะเหนือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 แบบขาดลอย (landslide) หรือ การได้รับเสียงจากที่นั่งในสภาซึ่งไม่เคยโหวตให้พรรค Conservative มาก่อน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย ทั้งการผลักดันให้ Brexit สำเร็จในช่วงต้นปี 2020 นำมาซึ่งการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษอย่างเป็นทางการ
รวมถึงความสำเร็จในการแจกจ่ายวัคซีนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ที่ทำให้วงล้อทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกลับมาขับเคลื่อนได้เร็วกว่าที่คาดและเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ทำได้
อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าตลอดสมัยที่นายจอห์นสันดำรงตำแหน่ง การบริหารที่ผิดพลาดรวมถึงคดีและวีรกรรมมากมาย ก็ได้บ่อนเซาะเสถียรภาพทางการเมืองของเขาทีละเล็กที่ละน้อย
ตั้งแต่การถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนิ่งเฉยต่อคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จนสุดท้ายทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงแรก ๆ บนเกาะอังกฤษ รุนแรงมากจนมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ยังไม่นับรวมการละเมิดข้อบังคับช่วงโควิด-19 ด้วยการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ที่ Downing Street จนเป็นประเด็นให้พรรคฝ่ายค้านยกมาโจมตีหลายครั้ง
หรือข่าวฉาวล่าสุดที่เพิ่งเป็นประเด็นเผ็ดร้อนไม่กี่วันก่อนมีการประกาศลาออก อย่างการที่นางจอห์นสันตัดสินใจแต่งตั้งให้นายคริส พินเชอร์ เป็นรองประธานฝั่งวิปรัฐบาล ทั้งที่ทราบดีว่าพินเชอร์เคยมีประวัติถูกฟ้องด้วยข้อหาคุกคามทางเพศมาก่อน โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกมาชี้แจ้งว่าไม่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวตอนที่ตัดสินใจแต่งตั้งนายพินเชอร์ ก่อนจะกลับลำแก้ต่างในภายหลังว่าหลงลืมประเด็นนี้ไป จนสมาชิกในคณะทำงานต่างออกมาแสดงความไม่พอใจถึงท่าทีของนายจอห์นสันซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดูไม่น่าเชื่อถือ
// อดีตสื่อมวลชนฝ่ายขวา //
นโยบายของรัฐภายใต้การนำของบอริส จอห์นสัน ยังส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนสำคัญในสังคม โดย “สื่อ” ก็ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านั้น สำหรับอังกฤษที่สื่อหลายสำนัก เลือกแสดงจุดยืนทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน ส่งผลให้ฝั่งที่ค่อนไปทางปีกซ้ายที่สมาทานหลักคิดต่างจากพรรค Conservative ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ภายใต้การบริหารของนายจอห์นสัน
หากใครคุ้นเคยกับประวัติของบอริส คงทราบดีแล้วว่าก่อนเบนสายเข้าสู่เส้นทางการเมือง นายกอังกฤษคนนี้เคยโลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมาก่อน และชื่อเสียงสกิลปากแจ๋วของเขา ก็ได้เริ่มต้นเนิ่นนานก่อนจะผันตัวเข้ามาทำงานการเมือง โดยหลังออกจากมหาวิทยาลัย Oxford ในช่วงปลายยุค 80s จอห์นสันได้เริ่มทำงานในฐานะนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ก่อนจะเติบโตและโยกย้ายกลายมาเป็นบรรณาธิการให้กับแม็กาซีนฝั่งขวาอย่าง The Spectator เมื่อปี 1999 และก้าวเข้าสู่เส้นทางรัฐสภาในอีก 2 ปีให้หลัง
ช่วงชีวิตการเป็นสื่อของบอริส จอห์สัน ถูกขุดขึ้นมาเอ่ยถึงในหลายโอกาสและวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่งานเขียนของเขามีการแสดงทัศนะและใช้คำพูดสื่อถึงการเหยียดหยามกลุ่ม Minority รวมถึงเชื้อชาติ ผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยสมัยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขายังเคยถูกบังคับให้ออกมากล่าวขอโทษ กรณีที่เคยเรียกชาวปาปัว นิว กีนี ว่าเป็นกลุ่ม “สังวาสหมู่ที่มีแต่คนกินเนื้อมนุษย์และการเข่นฆ่า”
ไปจนถึงช่วงปี 2018 ที่เขากลับมารับตำแหน่ง บก. ให้กับ The Spactator หลังลาออกจากคณะรัฐบาลเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ เทรีซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ที่มีต่อประเด็น Brexit ก่อนกลายเป็นที่วิพากวิจารณ์ในประเด็นเกลียดกลัวชาวมุสลิม หลังเขาเขียนเปรียบเทียบผ้า burkas ของผู้หญิงมุสลิมว่าเหมือน “กล่องจดหมาย”
ความคร่ำหวอดในสายอาชีพสื่อมาก่อน ทำให้หลายเสียงมองว่านโยบายหลายข้อของรัฐบาลนายบอริส แสดงถึงความจงใจที่จะควบคุมสื่ออย่างชัดเจน โดยเฉพาะสื่อฝั่งซ้าย
// ตัดงบ BBC //
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สื่อสาธารณะอย่าง BBC ก็ส่อแววจะถูกตัดงบประมาณ โดยหากย้อนไปดูโครงสร้างจะพบ BBC มีรายได้หลักมาจากค่า Television Licence ซึ่งจะจัดเก็บเป็นประจำทุกปีจากครัวเรือนในอังกฤษที่รับชมโทรทัศน์ โดยรัฐบาลของนายบอริส มีนโบายที่จะปฏิรูปรูปแบบการหารายได้ของสื่อสาธารณะเจ้าดังกล่าว ด้วยการคงค่าบริการที่ประชาชนจะต้องจ่ายเป็นเวลา 2 ปี
มาตรการนี้แม้จะมองดูเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้ BBC ประสบปัญหาทางการเงินอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง และการแข่งขับกับสตรีมมิ่งเจ้าอื่น ๆ ในตลาด อาทิ Netflix กำลังดุเดือดเลือดพล่าน
การกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างพรรค Labour ที่มองว่านโยบายนี้มีเหตุจูงใจทางการเมืองแฝงอยู่ ด้าน ลูซี โพเวล สมาชิกสภานิติบัญญัติและหัวหน้าฝั่งนโยบายด้านวัฒนธรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม จงใจตัดงบประมาณและโจมตี BBC เนื่องจากไม่ชอบแนวทางการทำข่าวของสื่อสาธารณะดังกล่าว หลังแผนกข่าวของ BBC ได้มีการตีแผ่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลของนายจอห์นสันหลายต่อหลายครั้ง ย้อนกลับไปตั้งแต่ประเด็น Brexit
// Privatization of Channel 4 //
Channel 4 ก็เป็นสื่อสาธารณะฝั่งซ้ายอีกหนึ่งเจ้าที่ถูกแทรกแซงและกลายเป็นเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่พักหนึ่ง โดยช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานายบอริส จอห์นสัน ได้ทำการเซ็นยินยอมในข้อเสนอที่จะขายกิจการ Channel 4 ให้กลายเป็นของเอกชน
หากย้อนดูตามประวัติศาสตร์ Channel 4 ก่อตั้งขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ช่วงปี 1982 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นช่องทางสื่อที่นำเสนอ Content เชิงวัฒนธรรมทางเลือก ซึ่งแตกต่างจากที่มีการนำเสนอใน BBC One, BBC Two และ ITV โดยแม้จะบริหารจัดการโดยรัฐ แต่รายได้หลักของ Channel 4 มาจากการโฆษณา ซึ่งจะไม่เหมือน BBC ที่เรียกเก็บจากค่า Television Licence ของประชาชนผู้เสียภาษี
ข้อเสนอขาย Channel 4 มีต้นตอมาจากข้อกล่าวอ้างที่ทางรัฐบาลให้ชี้แจงว่า กังวลกับความมั่นคงทางการเงินของตัวช่อง ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดในตลาด Streaming และการลดจำนวนลงของผู้ชม อย่างไรก็ตาม ทางบอร์ดผู้บริหารได้ออกมายืนยันว่าตัวช่องยังคงมีสถานภาพการเงินที่มั่นคง โดยได้ระบุในรายงานประจำปีว่า Channel 4 มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 25% จากข้อมูลในปีที่ผ่านมา และมีผลประกอบการดีขึ้น 18% ในช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการตั้งของสังเกตว่าสาเหตุที่แท้จริงของการผลักดันให้มีการขาย Channel 4 อาจสืบเนื่องมาจากอคติเรื่องจุดยืนทางการเมือง แต่ถึงกระนั้น ก็มีการคาดการณ์ว่า ข้อเสนอนี้มีแนวโน้มที่จะยุติหลงหลังจากนายจอห์นสันพ้นตำแหน่งไปแล้ว
และตอนนี้แม้ ลิซ ทรัซ จะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว และผู้ที่มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนล่าสุดอย่าง ริชี่ ซูหนัก จะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการจัดการ BBC และ Channel 4 แต่กระแสฝ่ายขวาในสหราชอาณาจักร รวมถึงสื่อฝ่ายขวาอย่าง GB News และ Talk TV ก็ยังมีความพยายามโจมตี BBC และ Channel 4 อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเฟื่องฟูของฝ่ายขวาจัดในทั่วโลก...
โฆษณา