16 ธ.ค. 2022 เวลา 13:40 • ความคิดเห็น
"เพราะอะไร? การศึกษาจีนถึงพัฒนาแบบก้าวกระโดด "
ภาพจาก www.pixabay.com
หลังจากคราวก่อน อ้ายจงได้เล่าเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาเฉพาะด้านทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จีน ที่เกี่ยวข้องกับการแก้จนในพื้นที่ยากจนของจีน อย่างเช่น มหาวิทยาลัย University of Science and Technology of China และมณฑลอันฮุย มณฑลที่เคยได้ชื่อว่ายากจนที่สุดแห่งจีนตะวันออก
เรามาลองวิเคราะห์กันครับ ขออนุญาตออกตัวก่อนว่า เป็นการวิเคราะห์จากประสบการณ์และหลักฐานนโยบายต่างๆของทางจีน รวมถึงมุมมองนอกจีนที่มองจีนครับ
จีนทุ่มให้ "ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ ทุกปี"
ภายใต้เป้าหมาย "การเปิดรับต่างชาติและมุ่งสู่สากลมากขึ้น"
จากการวิเคราะห์ พบว่า จีนตั้งเป้าพัฒนาการศึกษา ตลอดจน นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เรียนรู้ "สากล" จากต่างประเทศ และเปิดประเทศ พัฒนาสู่ความเป็น "นานาชาติ" มากขึ้น
ผมเคยใช้ชีวิตในประเทศจีนช่วงปี ค.ศ. 2011-2019 ซึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงในจีนอยู่ตลอด โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา
10 กว่าปีมานี้ ทางจีนจัดตั้งหน่วยงานทางทุนการศึกษา เพื่อจัดสรรทุนให้กับนักศึกษา ทั้งในจีนเอง ให้ไปเรียนต่างประเทศ และนักศึกษาต่างชาติไปเรียนที่จีน ซึ่งข้อหลังนี้ เป็นสิ่งที่มุ่งเน้นมาก แต่ละปีมีนักศึกษามากกว่าหลักร้อยต่อปี ได้ทุนการศึกษาเพื่อเข้าไปเรียนในจีน ทั้งหลักสูตรภาษา และปริญญา ซึ่งถ้าเป็นปริญญาจะเน้นที่ปริญญาโทและเอก เนื่องจากต่อยอดด้านการวิจัยได้
โดยสาเหตุที่ให้ทุนมากขนาดนั้น ก็ด้วยเป้าหมายที่กล่าวไปข้างต้น
การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ นับเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาจีนเองมีการพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่าสากลและส่งไปเรียนต่างประเทศเช่นกัน"
แต่ก็มีประเด็นหนึ่งที่นักศึกษาต่างชาติแบบเราเรามักเจอบ่อย คือ อุปสรรคด้านภาษาในการเรียนการสอน และความรู้ในห้องเรียน หากเราเรียนแบบต่างชาติล้วน อาจจะไม่เท่าที่สอนคนจีนล้วนๆ และอาจเจอเหตุการณ์ที่ผู้สอนมาฝึกภาษาอังกฤษจากการสอนนักศึกษาต่างชาติด้วยซ้ำ แต่หลายปีมานี้ หลายม.ที่เป็นม.ขนาดใหญ่ มีต่างชาติเยอะ ก็เริ่มดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม "การไม่เข้มงวดเรื่องคุณภาพของการเรียนการสอนนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงหลักสูตรนักศึกษาจีนในมหาวิทยาลัย ที่เปิดเพื่อมุ่งเน้นทำเงิน เช่น อินเตอร์"
1
และ"การเน้นแต่พัฒนา อันดับมหาวิทยาลัย" อย่างที่เราเคยได้ยินว่า โรงงานผลิตเปเปอร์-งานวิจัย การทุ่มงบให้ทุนแก่อาจารย์นักวิจัยระดับโลกมาร่วมด้วย ก็เป็นปัญหาที่ยังมีให้เห็นครับ
และก็อาจจะวิเคราะห์ไปในแนวทางของ "การสร้าง Soft Power" ได้
คือ การที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าไปเรียนที่จีน วิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนระดับไหน คือ ภาษาจีน วัฒนธรรม และความรู้เกี่ยวกับจีน
ตอนนี้มหาวิทยาลัยจีนส่วนใหญ่มีข้อบังคับให้นักศึกษาก่อนเรียนจบระดับปริญญา จะต้องผ่าน HSK (สอบวัดความรู้ภาษาจีน) ในระดับที่กำหนด แม้จะเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ก็ตาม
มองในแง่ดี ตัวนักศึกษาก็ได้ความรู้และทักษะภาษาจีนติดตัว เป็นการเปิดโอกาสในอนาคต แต่อีกมุม สิ่งที่จีนได้คือ การถ่ายทอดและปลูกฝังภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน รวมถึงแนวคิดแบบจีน ให้นักศึกษาต่างชาติด้วยเช่นกัน
1
โดยเฉพาะทุนภาษาจีนที่ให้โดยสถาบันขงจื่อ
บางประเทศในตะวันตกเคยออกมาชี้ประเด็นว่า
"สถาบันขงจื่อในต่างประเทศของจีน" เป็นเครื่องมือแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
1
แต่จีนมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบละมุนละม่อม ภายใต้แนวคิดจีนที่พร้อมร่วมมือกับโลก อย่างแนวคิด Global Development Initiative (GDI) หรือก่อนหน้าแนวคิด GDI ก็คือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
จากข้อข้างต้น เราเลยได้เห็นจีนออกแคมเปญทุนการศึกษา
1
"สำหรับประเทศที่มีความร่วมมือ BRI" และมีความสัมพันธ์อันดีกับจีน อย่างยิ่งประเทศคู่ค้าสำคัญ
เช่น ประเทศกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือกับจีนทางการศึกษาค่อนข้างมาก และจำนวนนักศึกษาไทยที่ได้ทุนการศึกษาเรียนที่จีนถือว่าเป็นจำนวนที่สูง
จะกล่าวว่า "การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติของจีน" = "การลงทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาและด้านต่างๆของจีนในระยะยาวและอย่างยั่งยืน" ก็ว่าได้
"จำนวนนักศึกษาต่างชาติ และผลงานงานวิจัยที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ" ส่งผลต่ออันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก
1
อีกเป้าหมายที่แฝงไว้ในการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้เข้าไปเรียนที่จีน คือ "จำนวนนักศึกษาต่างชาติ และผลงานงานวิจัยที่ตีพิมพ์ระดับนานาชาติ" โดยเฉพาะช่วงหลังๆมีการให้ทุนเฉพาะด้านมากขึ้น อาทิ ทุนจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน CAS และทุนจากสถาบันขงจื้อสำหรับวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน
1
"เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ"
การเปลี่ยนแปลงไปในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกใบนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการพัฒนาของจีน ซึ่งหลายๆสิ่งจีนเองก็อาจจะไม่ใช่ที่แรกที่คิดค้น
ต้องยอมรับว่า แม้ประเทศอื่น อย่างยิ่งโซนตะวีนตก จะมองจีนในประเด็นนี้ ว่า "จีนคัดลอก" แต่ในมุมของจีน จีนมองว่า มันคือการ "เรียนรู้และพัฒนา"
จีนจึงตั้งนโยบาย "Made in China 2025" สร้างนวัตกรรมของตนเอง ใช้ในจีนและส่งไปภายนอก ล้อไปกับ "เศรษฐกิจวงจรคู่ - พัฒนาตลาดภายในประเทศ ขนานไปกับตลาดต่างประเทศ"
ลองดูข่าวเศรษฐกิจและข่าวเทคโนโลยีในจีนก็ได้ครับ จะพบว่า
ข่าวที่เกี่ยวกับ "การเจาะตลาดโลกของแบรนด์ใหญ่ๆของจีน และเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศของจีน"
สอดคล้องกับ "ข่าวสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนในช่วงนั้นๆที่เน้น"
เช่น ตอนนี้จีนมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี 5G เราก็จะได้เห็นข่าวการลงทุนเทคโนโลยีนี้ที้งในและต่างประเทศมากขึ้น
"ปลูกฝังเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆในการศึกษาอยู่ตลอด" กล่าวคือ "ปรับหลักสูตรไปตามนโยบายของประเทศ"
จีนมองเห็นโอกาสในทุกครั้งที่มีสิ่งใหม่ๆเกิดมา แล้วนำมาเรียนรู้และพัฒนา
โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษา หรือพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาให้ทรัพยากรบุคคลในประเทศของตน
ตัวอย่างเช่น การบรรจุหลักสูตรโปรแกรมมิ่งภาษาไพธอนเพื่องานAIและBig Data สำหรับเด็กประถมและมัธยม เพราะปัจจุบันภาษาโปรแกรมมิ่งภาษาไพธอนถือเป็นสิ่งสำคัญในวงการโปรแกรมมิ่ง
จีนสนับสนุน "การเอาจริงเรื่องการศึกษา และการใฝ่รู้ของประชาชน" โดยเฉพาะ "หนังสือ" - แหล่งความรู้ที่เข้าถึงง่ายที่สุด"
1
ปัจจุบันตลาดหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ในจีนยังคงไปต่อได้ แม้ประเทศอื่นๆอาจเริ่มซบเซา
อย่างยิ่ง หนังสือและตำราเฉพาะทาง เช่น เทคโนโลยี ทางรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนสำนักพิมพ์ เพื่อทำให้ราคาหนังสือถูกลง ไม่ว่าจะหนังสือที่เขียนโดยคนจีนเอง หรือหนังสือที่แปลจากTextbookต่างประเทศ
"จีนเริ่มทุ่มเงิน และใช้ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งต่างๆของประเทศ เพื่อแก้ปัญหา สมองไหล ดึงดูดหัวกะทิ กลับจีน"
ปัญหาสมองไหล คนจีนเก่งๆ พากันไปเรียนต่างประเทศและทำงานที่นั่นกันหมด โดยเฉพาะประเทศอเมริกา ถือเป็นปัญหาที่จีนเผชิญมาอย่างยาวนานหลายสิบปี อย่างที่มีการรายงานตัวเลขช่วงปี 2002 จนถึงราวปี 2007 พบว่า แต่ละปี คนจีนไปเรียนต่างประเทศมากกว่า 100,000 คนต่อปี แต่กลับไปทำงานที่จีนเพียง 20-30% (20,000 - 30,000 คน) เท่านั้น
หลายปีมานี้ ปัญหาสมองไหลเริ่มดีขึ้นจนมีการคาดกันว่า อาจจะหมดไปในไม่ช้า
ข้อนี้ นับเป็นจุดสำคัญเหมือนกันที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาจีน การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมของจีนดีขึ้น ดูได้จากการติดอันดับโลกของม.จีน
ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีและเงินเดือนที่สูง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ดึงดูดให้คนจีนกลับจากต่างประเทศไปทำงานที่จีนเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งวิจัยหลังปริญญาเอก ม.หลายแห่งให้ผลตอบแทน 500,000 - 600,000 หยวน หรือคิดเป็นราว 2.5 - 3 ล้าน ต่อปี
ช่วงปี 2018-2019 คนจีนกลับจากอเมริกาไปยังจีน ค่อนข้างสูงมาก เป็นช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีและมีข้อขัดแย้งระหว่างจีนอเมริกาอยู่ตลอดในประเด็นสงครามการค้า ทำให้คนจีนยิ่งกลับจากอเมริกาไปจีนมากขึ้น
1
ข้อมูลจาก People's Daily สื่อกระบอกเสียงทางการจีน เคยรายงานไว้ว่า ปี 2018 เป็นปีที่นักศึกษาจีนที่ไปเรียนยังต่างประเทศ กลับมาทำงานยังบ้านเกิดเมืองนอนหลังเรียนจบ เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 83% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012
โดยครั้งนั้น รายงานด้วย Key Message "สาเหตุสำคัญที่คนจีนกลับจากต่างประเทศไปใช้ชีวิตที่จีนมากขึ้น มาจากความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนและการพัฒนาของจีนที่ก้าวหน้าไปมากกว่าแต่ก่อน"
จากประสบการณ์ตรง ที่มหาวิทยาลัยที่อ้ายจงเคยศึกษาอยู่ที่จีน มักจะมีอาจารย์ชาวจีนที่เรียนจบและทำงานสายวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อังกฤษ หรือประเทศอื่นๆแถปยุโรป มาจัดสัมมนาทางวิชาการ พูดถึงงานวิจัยสายที่ตนเองถนัดอยู่เสมอ
กรณีหนึ่งที่พบบ่อย คือ ทางมหาวิทยาลัย เชิญ (จ้าง) มา เพื่อให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา รวมถึงสร้าง connection เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือ-แลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ
1
และอีกกรณี เป็นการให้อาจารย์ชาวจีน (รวมถึงอาจารย์ต่างชาติก็ด้วย) ที่ทำงานกับ ม.ต่างประเทศ ได้กลับมาลองชิมลางมหาวิทยาลัยในประเทศและเป็นการดูตัว ก่อนจะซื้อตัวกลับมา ซึ่งหลายครั้งก็มีการซื้อตัวแล้ว แต่ให้บินมาสอน มาจัดสัมมนาแบบครั้งคราว เพื่อให้จูนกันติด ก่อนจะมาถาวร
ในความเป็นจริง ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยและหลากหลายมุมเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาและประเทศจีน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมุมและแต่ละคนที่วิเคราะห์ครับ
ซึ่งมีทั้งดีและด้อย อย่างประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา และเรียนหนักจนเกินไป ที่ยังคงมี แม้จีนจะพยายามแก้ อย่าง ออกกฎหมายควบคุม
เดี๋ยวในโอกาสหน้า อ้ายจงจะมาบอกเล่าเพิ่มเติมให้ทราบอีกแน่นอนครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #การศึกษาจีน
โฆษณา