18 ธ.ค. 2022 เวลา 03:54 • การเมือง
"วันแรงงานข้ามชาติสากล"
(International Migrants Day)
แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
เนื่องใน “วันแรงงานข้ามชาติสากลประจำปี ๒๕๖๕”
ด้วยวันที่ ๑๘ ธันวาคม ของทุกปีถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day)
เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ(United Nations)ได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. ๑๙๙๐ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน
เพื่อที่จะให้ทุกประเทศ ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่อพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทาง ให้ได้การปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษา สีผิว ศาสนา ลัทธิความเชื่อที่แตกต่าง และเพศสภาพ
ตามหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการรณรงค์ให้เห็นถึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ แบ่งปันประสบการณ์และภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้มั่นใจในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเสมอภาคกับแรงงงานท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ
เนื่องจากในปัจจุบันนั้นพบว่าการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดนเกิดขึ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจากเงื่อนไขความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ ความยากจน การแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า และภาวะความไม่สงบ ความรุนแรงทางการเมือง สงคราม
สำหรับในประเทศไทย
การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ เมื่อประเทศไทยปรับเปลี่ยนนโยบายประเทศจากเกษตรกรรมเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ในช่วงเวลานั้น มีการเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทสู่เมือง แรงงานในภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอื่นๆ เริ่มขาดแคลนแรงงาน
เนื่องจากต้องสูญเสียแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สภาพปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง ลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่เอื้ออำนวยต่อการข้ามแดน จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งในปัจจุบันนั้นมีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจากประเทศต่างๆ เช่น เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และอื่นๆ ประมาณกว่า ๔ ล้านคน จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า ณ เดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๕ ไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศเพียง ๒.๗ ล้านคน โดยเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ถึง ๒.๔ ล้านคน หรือคิดเป็นถึง ๙๐% ของแรงงานข้ามชาติ ทั้งหมด
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพลังการผลิตและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะผ่านไป ๔๕ ปีการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ประกอบการยังคงพบการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงานข้ามชาติและการจ้างงานที่เป็นธรรม (Decent work) เช่น การกดราคาค่าจ้าง การทำงานในสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตราย ไม่ถูกสุขอนามัย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวเยี่ยงทาสและการค้ามนุษย์
การสร้างกระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติที่มีความล่าช้าและมีความซับซ้อน ยังเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงขบวนการจ้างงาน การทำงาน
ทั้งเรื่องการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ(วีซ่า) ใบอนุญาตการทำงาน และการซื้อหลักประกันสุขภาพ ล้วนราคาแพง สร้างความยากลำบากให้แก่แรงงานข้ามชาติ แต่กลับเป็นการเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ ประเด็นปัญหาดังที่กล่าวมาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องตามและแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ผู้ประกอบการ ขบวนการสหภาพแรงงานไทย และ แรงงานข้ามชาติเองเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติและเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในสายตานานาชาติ
เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลประจำปี ๒๕๖๕ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ได้ขับเคลื่อนผลักดันข้อเสนอทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ร่วมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ( Migrant Workers Rights Network:MWRN)ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ คสรท.รวมทั้งขบวนการแรงงานในประเทศไทย
เครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและการโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) กระทรวงแรงงาน องค์การของขบวนการสหภาพแรงานในระดับสากล หน่วยงานที่เกี่ยวข้ององค์การสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)
เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติให้เกิดความทัดเทียมกับแรงงานไทย
ดังที่กล่าวมาแม้ว่ากว่า ๔๕ ปีนับแต่แรงงานข้ามชาติเริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยปัญหาต่างเกิดขึ้นมากมายแต่จากการประสานร่วมมือกันทำงานจากภาคส่วนต่างๆทำให้ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไข ผ่อนเบาไปได้บ้างแต่ปัญหาหลักๆก็ยังดำรงอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องแรงงานข้ามชาติและการคุ้มครองสิทธิ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องดังนี้
๑.รัฐบาล ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติภาษา ลัทธิความเชื่อ สีผิว และเพศสภาพ อันเป็นหลักการที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลด้วยสิทธิมนุษยชน ดังเช่น แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ และกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น รวมทั้งสร้างมาตรการรองรับ ดูแลสำหรับบุตรของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในช่วงตั้งครรภ์ การคลอด การดูแล และการศึกษา
๒.สนับสนุน ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมตามอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การจ้างงาน ให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดความรวมตัว ร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานและมีเวทีเจรจาพูดคุยกับนายจ้างในประเด็นของค่าจ้างและสวัสดิการฯลฯ อันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่จากการจ้างงาน การทำงาน
๓.กำหนดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยเฉพาะ การจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐให้ทำงานที่สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติ
การขึ้นทะเบียนลูกจ้างตามมติ ครม. ที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานข้ามชาติ ที่มากเกินไปเป็นช่องว่างให้นายจ้างไม่ต่อใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมให้ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างมีภาระค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านนายหน้าที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนด
๔. การปราบปรามกลุ่มนายหน้าที่นำพาแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย และหลอกลวงแรงงานให้หลงเชื่อ นำไปซึ่งการได้ทรัพย์สินของแรงงาน จะต้องมีการปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้แรงงานตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับ ขบวนการค้ามนุษย์
๕.หากมีนโยบายเยียวยาแรงงานจะต้องครอบคลุมแรงงานทุกสัญชาติ ไม่เฉพาะแรงงานสัญชาติไทยอย่าง เช่น มาตรา ๓๓ เรารักกัน จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่ผ่านมา
๖.ลดขั้นตอนในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการนำแรงงานชาติเข้ามาทำงานของผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้าเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดค่าใช้จ่ายของแรงงานและเป็นการป้องกันมิให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบ และแรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเปลี่ยนนายจ้างได้
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาและร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕
โฆษณา