10 ม.ค. 2023 เวลา 05:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียน VS ออสเตรียน แบบสั้นที่สุดและเข้าใจง่ายสุดๆ
การเข้ามาเรียนรู้บิตคอยน์ที่เกิดมาเพื่อเป็นเงิน เงินคือภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในการค้าขายแลกเปลี่ยน เงินคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจก็ย่อมต้องมีความรู้ทางนี้โดยเฉพาะ ความรู้ต่างๆถูกรวบรวมประกอบกันขึ้นมาเป็นหมวดหมู่ เกิดโมเดลทางการเงิน เกิดทฤษฎี รวบรวมเป็นกฏต่างๆ กลายมาเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์
ผมต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ทำงานในสายเศรษฐศาสตร์ การเงิน หรือการตลาดแต่อย่างใด ไม่ได้เรียนปริญญาทางด้านนี้มาด้วย มุมมองของผมเป็นมุมมองของคนนอกวงการ ที่ศึกษาหาข้อมูลมาบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ผมมองว่ามันสนุกและน่าสนใจมาก
ปัจจุบันนี้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่รู้จัก และมีการนำมาใช้ในโลกเศรษฐกิจการเงิน มี 2 ฝั่งคือ
1. ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เซียน (Keynesian economy)
ถูกนำเสนอในช่วงปี 1930 ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกและครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (the great depression) โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า
จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)
ในช่วงวิกฤตที่ว่านี้ ก็เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตในหลายๆครั้ง ผู้คนจำนวนมากแห่ถอนเงินออกจากสถาบันทางการเงิน พันธบัตรรัฐบาลถูกเทขาย ธุรกิจล้มละลาย ผู้คนชะลอการจับจ่ายใช้สอย เงินฝืด เกิดเป็นวงจรทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
เคนส์มองว่าผู้มีอำนาจ ควรจะต้องใช้อำนาจในมือที่ตนเองมี เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด จะสร้างหนี้เพิ่มโดยการกู้เงินจากผู้กู้ด่านสุดท้าย (Lender of the last resort) ก็คือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (FED หรือ Federal reserve) เป็นสิ่งจำเป็น แล้วอัดฉีดเงินนี้เข้าสู้ระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน
- ต้องเอาเงินส่งให้ถึงมือประชาชนทุกระดับ
- ธุรกิจผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
เพื่อให้ประชาชนมีเงินไว้ใช้ซื้อของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รักษาแรงซื้อนี้ไว้ เพื่อให้ธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ เพื่อให้กิจกรรมเศรษฐกิจยังคงดำเนินไป
เมื่อธุรกิจและผู้ประกอบการมีรายได้ก็จะสามารถส่งใช้หนี้รัฐบาลได้ ทางรัฐบาลก็สามารถใช้หนี้ FED ได้ เหมือนเอาเงินจากอนาคตมาพยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต แล้วใช้หนี้ภายหลังเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ถ้ามองๆดูก็จะพบว่าแนวทางของเคนส์ก็ฟังดูไม่เลวและน่าจะเป็นฮีโร่ได้
แต่ตลาดที่ควรจะสามารถปรับสมดุลได้ด้วยตัวเอง เมื่อถูกแทรกแซงจากภายนอก สมดุลที่ควรจะเกิดได้ด้วยตัวเอง ก็เกิดช้าหรือไม่เกิดเลย ราคาสินค้าราคาพลังงานถูกแทรกแซง และอย่าลืมความเป็นจริงที่โหดร้ายในโลกการเงิน เงินที่ถูกผลิตใหม่เข้าถึงกลุ่มคนบางกลุ่มที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตเงินได้ก่อน เกิดเงินเฟ้อสะท้อนมาในราคาสินค้าอุปโภคบริโภค จนทำให้เกิด Cantillon effect ที่ผมเคยเล่าไปแล้วในบทความตอนแรกของซีรีส์ Basic Bitcoin the series นี้
เคนส์ยังมีมุมมองต่อการใช้จ่ายของประชาชนด้วยว่า เมื่อมีการใช้จ่ายมากมันสะท้อนภาพว่าผู้คนมีเงิน มีกำลังการซื้อ เคนส์จึงสนับสนุนให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อเป็นการมองว่านั่นแหละ เศรษฐกิจฟื้นแล้ว เคนส์มองว่าการออมคือศัตรูที่คอยทำลายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะเงินที่อยู่เฉยๆไม่เคลื่อนไหว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆต่อภาพรวมเศรษฐกิจเลย
John Maynard Keynes (5 June 1883 – 21 April 1946)
2. ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน (Austrian economy)
ถูกนำเสนอเป็นที่รู้จักโดย เฟรดเดอริก ฮาเยค (Friedrich August von Hayek) ทางฝั่งออสเตรียนเชื่อในเรื่องกลไกของตลาดเสรี(Liberalism) เชื่อว่าตลาดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ที่สามารถเคลื่อนเข้าสู่จุดสมดุลราคาได้ด้วยตัวเอง โดยปราศจากการแทรกแซงหรือควบคุมจากทางภาครัฐ
เมื่อไม่มีการแทรกแซง กลไกราคาสินค้าจะเข้าหาจุดสมดุลระหว่างอุปสงค์ (Supply = ความอยากขายของโดยผู้ผลิต) และอุปทาน (Demand = ความอยากซื้อของจากฝั่งผู้บริโภค) ด้วยตัวเองตามธรรมชาติแล้วสะท้อนออกมาในราคาของสินค้าและบริการที่เหมาะสม เป็นจุดสมดุลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
ไม่มีการสร้างหนี้ ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อหรือเงินฝืดอย่างผิดธรรมชาติ ทำให้ผู้คนสามารถเก็บออมเงินเพื่ออนาคตได้โดยไม่ต้องกังวลว่าสินทรัพย์หรือเงินที่มีจะด้อยมูลค่าลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเป็นแนวที่ตรงข้ามคนละขั้วกับเคนส์
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนจากการให้ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นไปอย่างเสรี คือในยุคฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการ เรอเนสซอง (Renaissance) ช่วงปี 1400-1700
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ได้ก้าวกระโดดอย่างมาก มีสิ่งประดิษฐ์ มีการค้นพบความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ หนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังก็คือกลไกตลาดเสรี
ที่เป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะทุกคนสามารถมีเงินเก็บออมพร้อมเกษียณ เงินไม่เสื่อมสภาพไม่ด้อยมูลค่าตามกาลเวลา ไม่ต้องคอยกังวลหาเช้ากินค่ำ ผู้คนมีเงินเก็บออมพร้อมส่งความมั่งคั่งให้รุ่นลูกรุ่นหลาน กิจกรรมการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจก็ดำเนินไปควบคู่กันได้อย่างกลมกลืน ผู้คนสามารถให้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานที่ตนเองชอบได้ทั้งวี่ทั้งวัน บางคนถึงกับลืมหลับลืมนอนเช่น ลีโอนาโด ดาวินชี และ ไมเคิล แองเจลโล
เงินที่แข็งแกร่งไม่เสื่อมมูลค่าในยุคนี้คือเหรียญฟลอริน (Florin)
เป็นเหรียญผลิตจากทองคำซึ่งเป็นเงินที่ผลิตได้ยาก (hard money)
แต่ก็น่าเสียดาย ที่สุดท้ายทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน ได้หมดความนิยมลงไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยประเทศสุดท้ายที่ยืนหยัดใช้ทฤษฎีก็คือออสเตรีย จนสุดท้ายก็ถูกทฤษฎีสำนักเคนส์เซียนกลืนกินไป
Friedrich August von Hayek (8 May 1899 – 23 March 1992)
แต่ในเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน ผมไม่กล้าพูดว่าทฤษฎีที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ตอนนี้เป็นเคนส์เซียน 100% เพราะในปัญหาบางจุดที่แนวคิดของเคนส์สามารถแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ผู้มีอำนาจก็ไม่เลือกที่จะใช้มันเพื่อแก้ปัญหา ตัวอย่างก็คือการพิมพ์เงิน (QE)อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเกิดวิกฤต ถ้ายึดถือหลักของเคนส์เซียนอย่างเคร่งครัด เราคงไม่เห็น Cantillon effect
ท้ายสุดผมมีมุมมองต่อทฤษฎีทั้งสองนี้ว่า
1. มีมุมมองที่แตกต่างกัน เถียงกันได้ไม่จบ เหมือนนักปราชญ์ยุคกรีกโบราณที่ถกกันเรื่องปรัชญากันได้ทุกวันจนกว่าจะแก่ตายกันไปข้างนึง แต่มันอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจผู้บริหารประเทศนั้นจะเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เท่านั้นเองครับ
2. แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่อดีต มันมีตัวตนอยู่แล้ว มันทำงานอยู่เบื้องหลังกลไกตลาด แต่ยังไม่มีใครรวบรวมเป็นหมวดหมู่ เมื่อถึงยุคของเคนส์ และ ฮาเยคที่มีการรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นประกอบเป็นชุดแนวคิดให้เกิดเป็นทฤษฎีขึ้นมา มันเลยเกิดเป็นทฤษฎีของบุคคลทั้ง 2 ท่านนี้ หากบนโลกนี้ไม่มีเคนส์หรือฮาเยค สุดท้ายก็จะมีนักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นที่นำเสนอทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนี้ขึ้นมาอยู่ดี
**ผู้มีอำนาจในบทความนี้ทั้งหมดหมายถึงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและ FED นะครับ**

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา