4 ม.ค. 2023 เวลา 01:26 • คริปโทเคอร์เรนซี
เงินที่ถูกสร้างยาก (Hard money)
[ตอนที่ 4: Basic Bitcoin the series]
ตอนที่แล้วผมได้เล่าถึงเงินที่ถูกสร้างง่าย ว่ามันเป็นยังไง และส่งผลอะไรต่อสังคม ครั้งนี้ผมจะมาเล่าถึงเงินที่ถูกสร้างยากบ้าง ว่ามันเป็นยังไง ส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจสังคม โดยเงินที่ถูกสร้างยากที่เป็นพระเอกหนึ่งเดียวมาตลอดก็คือทองคำ
ทองคำ เงินที่ถูกสร้างยาก ตลอดประวัติศาสตร์ทางการเงินของมนุษยชาติ
เมื่อพูดคำว่าเงินที่ถูกสร้างยาก (Hard money)มันจะสื่อความหมายได้ 2 แง่
1. เงินที่เป็นโลหะแข็ง เช่นทองคำ
2. เงินที่มีมูลค่าโดยตัวเอง ไม่ต้องมีสินทรัพย์ใดๆมาหนุนหลัง และสามารถรักษามูลค่าผ่านกาลเวลาได้ ไม่เสื่อมค่าลง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่ปี โดยไม่ได้มองกรอบเวลาระยะเวลา 10 - 20 ปี แต่มองเป็นชั่วอายุคนจากรุ่นสู่รุ่น
ทองคำคือตัวแทนของเงินที่ถูกสร้างยาก ทองคำสามารถคงคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างของเงินได้สมบูรณ์แบบอยู่หลายพันปี จนกระทั่งถึงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ผมจะค่อยๆเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นแบบสั้นๆนะครับ
1500 - 546 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรลิเดีย (Lydia) ปัจจุบันคือตะวันตกของประเทศตุรกี
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Map_of_the_Kingdom_of_Lydia.png
มีเงินตราสำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนค้าขายในอาณาจักรชือว่าเหรียญอิเลคทรัม (Electrum) เป็นเหรียญที่ทำมาจากแร่เงิน และทองคำ แต่ละขนาดมีมูลค่าแตกต่างกันไป เมื่อมีการจ่ายเหรียญทองคำในการซื้อขาย ฝั่งพ่อค้าที่รับเงินไป จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของทองคำในเหรียญ เช่นการชั่งน้ำหนัก, กัดดูว่าเป็นรอยหรือไม่ , หลอมด้วยความร้อนแล้วหล่อขึ้นมาใหม่เพื่อดูปริมาตรทองคำในเนื้อเหรียญ
ข้อสังเกตุ
1. แร่เงินและทองคำ ผลิตยาก supply จำกัด
2. ผู้คนสามารถตรวจสอบได้ว่าเหรียญที่ตนเองครอบครองคือของแท้ มีปริมาณแร่เงิน แร่ทองถูกต้อง
3. เมื่อมรการแลกเปลี่ยน ทางฝั่งผู้รับเงินจะทำการพิสูจน์ตรงนั้น เพื่อดูว่าเป็นเหรียญของแท้หรือไม่ สำหรับการค้าขายใน scale เล็กๆ ไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากเป็นการค้าขายกับ scale ใหญ่ๆ จะมีปัญหาความล่าช้าใช้ระยะเวลาตรวจสอบนาน
เหรียญ electrum : By Classical Numismatic Group, Inc. http://www.cngcoins.com, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=74443198
อาณาจักรโรมัน
300 ปีก่อนคริสตกาล เหรียญเดนาเรียส (Denarius) เป็นเงินในการค้าขาย ตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐโรมันเรื่อยมาจนถึงยุคจักรวรรดิโรมัน มีส่วนผสมของทำคำและแร้่เงินตามสัดส่วนที่กำหนด แร่เงินช่วยให้เหรียญมีความคงทน บนเหรียญแต่ละเหรียญมีตราประทับของจักรพรรดิ์ เป็นการตีตรารับรองจากทางสภา ว่าเป็นเงินที่สามารถใช้ได้ตามกฏหมายโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากในการค้าขาย ให้เงินเคลื่อนเปลี่ยนมือได้เร็ว การค้าขายขยายไปได้เป็นวงกว้าง
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/34/Common_Roman_Coins.jpg
แรกเริ่ม supply ของเหรียญเดนาเรียสมีจำกัด แร่ทองคำหาได้ยาก การเพิ่มปริมาณเงินก็ทำได้ยาก ทองคำถูกใช้เป็นเงินที่แข็งแกร่งในช่วงนี้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่แล้วเมื่อถึงยามสงครามทางรัฐมีความจำเป็นต้องทุ่มเงินเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กองทัพ วิธีการเพิ่มเงินในคลังก็คือการขึ้นภาษีเรียกเก็บจากประชาชน
ถ้าหากเป็นการเก็บเงินจากประชาชนเพื่อการป้องกันประเทศป้องกันบ้านเมืองของตนเองจากผู้รุกรานชนเผ่าอื่นๆ ประชาชนย่อมเห็นดี ยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว
แต่ถ้าหากเป็นการเก็บเงินจากประชาชนเพื่อไปตีไปรุกรานดินแดนอื่น ย่อมได้รับเสียงคัดค้าน เก็บภาษีได้ไม่ถึงเป้า ถึงแม้ประชาชนที่ขัดคืนภาษีจะมีโทษก็ตาม แต่เงินที่เก็บไม่ได้ก็คือเก็บไม่ได้ สงครามย่อมไม่ยืดเยื้อ ทางผู้นำจำเป็นต้องยุติสงครามให้เร็วที่สุด
จะเรียกได้ว่าเงินที่ผลิตยาก หรือเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้อำนาจในการต่อรองจากเสียงประชาชนนั้นดังพอ เป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่ประชาชนพึงมีโดยพื้นฐาน
แต่แล้วจักรพรรดิ์อาณาจักรโรมัน ผู้มีอำนาจ ก็ได้เห็นแล้วว่าการสงครามนั้นเอง เป็นช่วงเวลาที่สามารถใช้เป็นสถานการณ์ที่จะเพิ่มปริมาณเงินได้ รวมถึงบนเหรียญก็มีตรารับรองจากจักรพรรดิ์อยู่ว่าเป็นเหรียญที่มีสัดส่วนทองคำ/เงินในปริมาณที่กำหนด ประชาชนคนไหนไม่เชื่อตราประทับนี้ก็มีโทษคือตาย เหตุนี้นำมาอยู่การเสื่อมค่าของเหรียญเดนาเรียส กล่าวคือทำการหลอมเหรียญโลหะใหม่ โดยลดสัดส่วนทองคำลงและเพิ่มสัดส่วนของโลหะอื่นๆเข้าไปแทน และประทับตรารับรอง ประชาชนย่อมไม่รู้และไม่สงสัยไม่แคลงใจใดๆ
ปริมาณเงินค่อยๆเฟ้อขึ้นท่ามกลางความไม่รู้ของประชาชน จนสุดท้ายก็ลงเอยเหมือนเงินผลิตง่ายที่ผมเล่าไปแล้วเมื่อตอนที่แล้ว แต่จุดจบของของเงินเดนาเรียส นั้นหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าสิ้นสุดเมื่อใด ในสมัยไหน
ยุคสมัยใหม่และสงครามโลก (ฉบับย่อมากๆ)
ทองคำถูกใช่้ในการค้าขายในฐานะเงินที่แข็งแกร่งและเงินที่ผลิตยากมายาวนาน จนกระทั่งการค้าไม่ได้จำกัดอยู่ในดินแดนใดดินแดนหนึ่งอีกต่อไป การค้าขยายตัวไปทั่วโลก รัฐบาลประเทศมหาอำนาจในแต่ละยุคนำพาประเทศเข้าสู่ยุคมาตรฐานทองคำ (Gold standard) ออกสกุลเงินของประเทศเป็นเงินกระดาษหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามปริมาณทองคำที่เก็บไว้ในคลัง มีการรณรงค์ให้ประชาชนที่มีทองคำในครอบครอง ส่งมอบทองคำเข้าเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในคลังรัฐบาล
ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าเงินกระดาษที่ออกโดยรัฐบาลนั้นคือตั๋วแลกทองคำ เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนต้องการเอาทองคำออก สามารถนำเงินกระดาษไปที่ธนาคารแลกเป็นทองคำออกไปได้ตลอดเวลา
แต่เมื่อเกิดสงคราม รัฐบาลก็เปลี่ยนคำพูดเป็นการบังคับให้ประชาชนเอาเงินกระดาษจากรัฐบาลไป เอาทองคำมาให้รัฐบาลเก็บเข้าคลัง ประชาชนที่ไม่เชื่อฟังก็ต้องถูกลงโทษ และประชาชนก็ไม่เคยรู้ว่าในคลังของรัฐบาลนั้นมีปริมาณทองคำอยู่เท่าไหร่กันแน่ ในยามสงครามเป็นช่วงเวลาที่กองทัพต้องการเงินทุนมหาศาล รัฐบาลก็สามารถใช้จังหวะนี้ในการพิมพ์เงินเพิ่มได้ ก็วนกลับไปเป็นเหมือนสมัยอาณาจักรโรมัน
ในปี 1944 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนิน
ทางฝ่ายพันธมิตรนำโดยสหรัฐอเมริกา มีการประชุมก่อตั้งระบบเบรตตันวูด (Bretton wood system)ขึ้น เงินดอลล่าร์สหรัฐได้รับการรับรองจากรัฐบาลสหรัฐว่าทุกๆดอลล่าร์มีทองคำหนุนหลังอยู่ทั้งหมด เกิดการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงิน (foreign exchange rate) ขึ้น ทุกประเทศที่เข้าร่วมตอบรับระบบนี้ ให้อเมริกาในฐานะพี่ใหญ่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ด้วยความเชื่อใจว่าเขามีทองคำในคลังเยอะสุด คงไม่มีปัญหาอะไร
จนกระทั่งปี 1971 ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริการิชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยกเลิก Bretton wood system ทำให้เงินดอลล่าร์ไม่จำเป็นต้องมีทองคำหนุนหลังอีกต่อไป มูลค่าลอยตัวไปจากทองคำ
Richard Nixon : Oliver F. Atkins - http://narademo.umiacs.umd.edu/cgi-bin/isadg/viewobject.pl?object=9054
ทองคำถูกบิดเบือนออกไปจากความเป็นจริงว่ามันคือเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และถูกมองใหม่ในฐานะสินทรัพย์ที่ผลิตได้ยาก(Hard asset) แทน
ถ้ามองดูดีๆคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างของเงิน ก็ยังอยู่ครบในทองคำ แต่คนรุ่นหลังก็จะรู้จักทองคำเพียงแค่ว่าเป็นโลหะที่มีค่า และสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่า (Store of value) ได้เท่านั้น ทองคำเลยถูกใช้เป็นแหล่งเก็บรักษาความมั่งคั่ง (Store of wealth) เป็นสินทรัพย์ทางเลือกในการลงทุนไปแทน
โดยสรุปตอนนี้ผมต้องการเล่าถึงเงินที่แข็งแกร่ง เงินที่ถูกผลิตได้ยาก โดยมีประวัติศาสตร์โดยย่อของทองคำเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องทั้งหมดไว้เท่านี้ครับ แต่ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์การเงินโลกยังมีอะไรที่สนุกและน่าติดตามอีกมากครับ แต่ถ้าผมเล่าทั้งหมด บทความนี้จะยาวมาก
จนถึงตอนนี้หลายๆคนน่าจะเข้าใจข้อดีข้อเสียของเงินที่ถูกสร้างง่ายกับเงินที่ถูกสร้างยากมากขึ้นแล้วนะครับ ซึ่งนี้คือสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนเข่าใจเมื่อติดตามอ่านกันมาจนถึงตอนนี้ คงไม่ผิดที่เราจะพูดได้ว่าเงินที่สร้างยากก็คือเงินที่แข็งแกร่งนั่นเอง
ที่เล่ากันมาขนาดนี้ ก็เพื่อจะปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเงินไว้ ก่อนที่จะชวนมาดูว่าแล้วบิตคอยน์ที่ตั้งใจจะมาเป็นเงิน มันจะมาแก้ปัญหาอะไรตรงไหน
ตอนต่อไปผมจะมาเล่าถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ 2 ฝั่งใหญ่ๆในประวัติศาสตร์การเงินโลกแบบคร่าวๆครับ ว่าระบบการเงินโลกมันมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ผ่านแนวคิดแบบไหนมา แล้วมันส่งผลให้เกิดอะไรกับโลกเราบ้าง
ไว้เจอกันใหม่ตอนหน้า
สวัสดีครับ
แหล่งข้อมูล (Reference)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา