20 ธ.ค. 2022 เวลา 06:30 • ไลฟ์สไตล์
สรุป 12 เทรนด์การทำงาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงปี 2023
นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่โควิด-19 ที่ทำให้ “โลกการทำงาน” เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันย้อนคืน จนถึงปี 2022 นี้ ที่นอกจากจะมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย คนทำงานยังต้องเผชิญกับการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และปัญหาการจ้างงานอีกด้วย
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “สถานะ” การทำงานของเรานั้นเป็นสิ่งไม่แน่นอน ทั้งองค์กรและคนทำงานยังคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในบทความนี้เราจะพาไปดู 12 เทรนด์ ที่จะช่วยให้คุณก้าวเข้าสู่โลกการทำงานในปี 2023 ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
1. การหาพนักงานใหม่และการรักษาพนักงานเก่าจะมีความท้าทายขึ้น
กระแสของปรากฏการณ์ “ลาออกครั้งใหญ่” ยังคงเกิดขึ้นในปี 2022 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีค่าตอบแทนต่ำ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมถึงการที่พนักงานไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขการทำงานที่ยุ่งยากหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ องค์กรจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทักษะด้านการทำงานของพนักงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจและทำให้มองเห็นโอกาสในการเติบโตในสายงานได้มากขึ้น
2. เพิ่มความยืดหยุ่น แต่ยังคงคุณภาพ
แม้ในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางองค์กรจะมีข้อกำหนดให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่บริษัท แต่ผลสำรวจจาก Omdia พบว่า 48% ของพนักงานจะยังคงทำงานนอกสถานที่หรือทำงานในรูปแบบผสมผสาน องค์กรจึงต้องพิจารณาถึงนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น และยังต้องหา ‘เครื่องมือ’ ในการทำงานที่เหมาะสมด้วย เพื่อรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนทำงานสมัยใหม่ แต่ยังสามารถรักษาคุณภาพและประสิทธิภาพของงานเอาไว้ได้
3. การสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน
ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานลาออกอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียดในการทำงานและความกังวลเรื่องค่าตอบแทน องค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับสมดุลในชีวิตการทำงานและการรักษาสุขภาพจิตของคนทำงาน เช่น ให้สวัสดิการเพิ่มเติม หรือเพิ่มการประเมินด้านความเป็นอยู่ของพนักงาน เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงและจัดสรรผลประโยชน์ให้พนักงานได้อย่างเหมาะสม
1
4. การจ้างงานคนเก่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น
นอกจากการจ้างงานแล้ว การหาพนักงานที่มีทักษะและความสามารถที่ตรงกับความต้องการก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับองค์กร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างและเทคโนโลยี แต่ในทางกลับกันก็ถือเป็นโอกาสสำหรับองค์กรที่ให้ความรู้ด้านการพัฒนาทักษะ (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) ที่จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างด้านทักษะให้กับคนทำงานได้
5. ให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่างาน
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอาจทำให้คนทำงานต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนทักษะเพื่อรองรับโอกาสในการทำงาน ดังนั้นองค์กรควรตระหนักถึงการพัฒนาและประเมิน ‘ทักษะเฉพาะ’ ของพนักงานมากกว่าตัวชิ้นงาน เช่น ทักษะการออกแบบ ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ตรงจุดมากขึ้น
6. Soft Skills เป็นทักษะที่ขาดไม่ได้
ในปี 2023 ‘Soft Skills’ ยังคงมีความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน รวมถึงการรับผิดชอบหน้าที่การทำงานของตนเองให้สำเร็จลุล่วง โดย Soft Skills ที่ได้รับความต้องการสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ ทักษะด้านการบริหาร, ความเป็นผู้นำ, การคิดเชิงวิพากษ์, ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา เป็นต้น
7. ยกระดับความยั่งยืนด้วยความเข้าใจ
องค์กรต่างๆ อาจมีข้อกำหนดหรือแนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่สำคัญคือการยกระดับความเข้าใจและทักษะการทำงานด้านความยั่งยืนในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือผู้บริหาร เพื่อทำให้ทุกคนในองค์กร ‘ยอมรับ’ แนวทางเหล่านั้นร่วมกัน และสามารถผลักดันให้องค์กรเกิดการดำเนินงานด้านการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง
8. เข้าใจความหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
แนวคิด DEI คือ ความเข้าใจด้านความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equity) และการอยู่ร่วมกัน (Inclusion) ถือเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่องค์กรควรทำความเข้าใจ เพราะการจัดสรรพนักงานที่มีความหลากหลายให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข จะส่งผลให้องค์กรสามารถสร้างรากฐานความสัมพันธ์ของพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานที่ดีได้
9. AI จะกลายเป็น ‘เพื่อนร่วมงาน’
เมื่อคนเริ่มตระหนักถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ ‘AI’ หรือปัญญาประดิษฐ์ และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น ChatGPT ระบบแชตบอตที่สามารถโต้ตอบข้อความ เขียนบทความ หรือแม้แต่เขียนโค้ดก็สามารถทำได้แล้วเช่นกัน จึงถือเป็นโอกาสในการเติบโตสำหรับองค์กรที่มีความเข้าใจ รวมถึงความพร้อมที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีและแรงงานที่มีทักษะการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีนั้นด้วย
10. เพิ่มประสิทธิภาพของ HR ด้วยเทคโนโลยีจัดการข้อมูล
ในปี 2023 จะมีการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในฝ่ายทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดหาคนสมัครงาน หรือการค้นหาสาเหตุการลาออกของพนักงาน เพื่อที่องค์กรจะนำข้อมูลเหล่านี้มาคัดเลือกพนักงาน หรือปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารงานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
11. ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงด้วย ‘การคิดเชิงกลยุทธ์’
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถรับความกดดันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในปี 2023 ได้ดี คือ การคิดเชิงกลยุทธ์ หรือการที่องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจหรือรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับปัจจัยภายนอกได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นรูปแบบ Hybrid Working ให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
12. ปลูกฝังแนวคิด ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’
ไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะการทำงาน แต่องค์กรยังต้องปลูกฝังแนวคิดการเติบโตของพนักงานไว้ในวัฒนธรรมองค์กรด้วย เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างไม่สิ้นสุด
ในขณะที่โลกยังคงหมุนต่อไป ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงเข้ามาท้าทายเราอยู่เสมอ อย่าลืมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทำงานที่ประสบความสำเร็จในปี 2023
อ้างอิง
12 Workplace Trends to Expect in 2023 : EMERITUS > https://bit.ly/3G3dI0k
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา