22 ธ.ค. 2022 เวลา 03:32 • การศึกษา
ลักษณะของผู้ทวงถามหนี้ ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 🦸‍♂️🦸
" เงิน 100,000 บาทสำหรับกรุ มันเยอะมากนะ ไม่ว่ากรุจะอยู่ในสถานะที่มีหรือไม่มี แต่มึงสมควรที่จะมีจิตสำนึกควรคืนกรุมา อย่ามาตอแหลเอาโล่ไปวันๆๆ กรุเห็นแก่ความเป็นเพื่อนถึงโง่ให้เงินเยอะขนาดนั้น กับคนตอแหลอย่างมึงไป " 🤬🤬
" มีความสุข เงินอ่าคืนด้วยEจัน ถ้าตาไม่บอด ปากยังพูดได้อยู่ สมองยังมีรอยหยัก ก็กรุณาเจรจากับอีชั้นด้วยนะคะ" 🤢🤢
ครับ..ประโยคข้างต้นใครอ่านตอนแรกแล้วดูเหมือผมกำลังทวงหนี้ใครอยู่ใช่ไหมครับ ..ไม่ใช่หรอกครับ สองประโยคที่ผู้อ่านเห็น เป็นข้อเท็จจากคำพิพากษา ที่เจ้าหนี้ไปโพสข้อความทวงหนี้ลงในเฟสบุ็ค แล้วลูกหนี้นำไปแจ้งความ ดำเนินคดีตาม พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558แล้วตกเป็นจำเลย
ผู้ที่จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ เบื้องต้นต้องมีคุณสมบัติ เป็นผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายก่อน เพื่อน คนสนิท คนรู้จัก ฯ ยืมเงินแล้วไม่ใช้คนให้ยืมก็ไม่ใช่มีอาชีพปล่อยเงินกู้ แบบนี้จะผิดตามกฎหมายการทวงถามหนี้ไหม
เรื่องนี้มีคำตอบครับ 👏👏
ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ให้คำนิยาม"ผู้ทวงถามหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ , ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ..และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้จากการกระทำที่เป็นทางค้าปกติ หรือปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ..
และให้หมายความรวมถึง "ผู้ให้สินเชื่อ" หมายความว่า บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางค้าปกติ หรือ บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด ..
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฎว่า เจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นเพื่อนกันและเจ้าหนี้ก็ไม่ได้มีอาชีพการค้าปกติในการปล่อยเงินกู้ ยืมเงินกันแล้วต่อมาเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดเบี้ยวซะดื้อๆ เจ้าหนี้ก็เลยลงข้อความทวงหนี้ทางเฟสบุ็คซะเลย
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 8375/2563 ว่า เมื่อเจ้าหนี้ผู้ทวงถามให้ชำระหนี้ ไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อ หรือให้กู้ยืมเงินเป็นทางค้าปกติ หรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ (มีอาชีพปล่อยเงินกู้) อันเป็นผู้ทวงถามหนี้ การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานทวงถามหนี้ในลักษณะที่เปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11(3)
เมื่อเป็นเช่นนี้การทวงเงินผ่านทางเครื่องมือออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ็ค หรือ ไลน์ ฯ แม้บุคคลอื่นจะเห็นข้อความดังกล่าวหากผู้ให้ยืมไม่ได้มีลักษณะปล่อยเงินกู้กินดอกเบี้ยเป็นอาชีพแล้วหรือเป็นปกติธุระแล้ว ก็จะไม่ใช่ "ผูทวงถามหนี้" ตามคำนิยาม ไม่มีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้
แต่ระวังนะครับ ถ้อยคำที่ใช้ทวงถาม อาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาก็ได้
ลูกความผมคนนึง เคยมาเล่าให้ฟังก่อนฟ้องคดีว่า เวลาแกไปทวงหนี้จะพูดกับลูกหนี้เพราะ ๆ กราบงาม ๆ ผมก็เลยถามว่า แล้วได้คืนไหม แกตอบว่า "ถ้าได้คืนจะมานั่งอยู่ตรงหน้าทนายรึ " 555 ผมเลยกราบงาม ๆ
กฎหมายจะรู้เมื่อได้อ่านครับ 😇😇
ขอบคุณที่ติดตามอ่าน และคอมเม้นท์บทความนะครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา