21 ธ.ค. 2022 เวลา 07:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การถอยของ Kuroda (ภาคต่อ)
เมื่อวานนี้มีข่าวใหญ่จากญี่ปุ่น เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ประกาศ “ปรับ” นโยบายการคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร หรือ Yield Curve Control หรือ YCC จาก +/-0.25% เป็น +/-0.5%
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ได้นั่งยันนอนยันว่าไม่มีแผนจะปรับนโยบายใดๆ และพูดว่าการปรับนโยบายนี้เท่ากับการขึ้นดอกเบี้ย และก็ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนที่คาดว่า BoJ จะปรับนโยบายในการประชุมครั้งนี้เลย เรียกว่า Surprise ไปทั้งตลาด
เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องปรับ และจะมีผลกระทบอย่างไร
ผมเคยเล่าถึง “การเดิมพันของ Kuroda” ไปแล้วครั้งหนึ่ง อันนี้น่าจะเป็นภาคต่อ แต่ไม่ใช่ภาคจบแน่ๆ
อย่างที่เคยเล่าไปครับ ญี่ปุ่นยืนยันการใช้นโยบายการเงินแบบกระตุ้น โดยใช้ ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ และยังไม่พอ ยังใช้นโยบาย YCC แทรกแซงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวด้วย โดยการ #เข้าซื้อพันธบัตรแบบไม่จำกัด เพื่อรักษาระดับของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ไม่ให้เกิน 0.25%
สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารกลางอื่นกำลังปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยืนเดี่ยวในการเก็บดอกเบี้ยต่ำๆไว้ โดยเชื่อว่ายังมีความจำเป็น และเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ
แม้ว่านโยบายนี้เริ่มสร้างปัญหา เช่น อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้น คาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าใกล้ 4% แล้ว แต่ BoJ เชื่อว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาชั่วคราว และจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและการลงทุน ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฝ้ารอมานาน
นอกจากนี้ การซื้อพันธบัตรแบบไม่อั้น กำลังสร้างปัญหากับการทำงานของตลาดการเงิน เมื่อตอนนี้ BoJ ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเกินกว่าครึ่งหนึ่งไป แล้ว และ BoJ ถือพันธบัตรบางชุด เกินกว่า 90% ของยอดที่ออก ซึ่งแปลว่าสภาพคล่องของพันธบัตรลดลงไปเรื่อยๆเพราะอยู่ในมือของธนาคารกลางหมดแล้ว
และ มีคนมาเดิมพันว่า BoJ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้หรอก โดยการขาย short พันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นไปอีก โดยคาดว่าดอกเบี้ยต้องขยับขึ้น ยิ่งบังคับให้ BoJ ต้องมารับซื้อและอัดฉีดสภาพคล่องไปเรื่อยๆ จนค่าเงินเยนอ่อนปวกเปียก และอัตราดอกเบี้ยค้างชนอยู่ที่ขอบบนของ YCC อยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่บิดเบือนตลาด ไม่ยั่งยืน ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้แน่นอน ไม่ต่างอะไรกับตอนที่เราตรึงอัตราแลกเปลี่ยน แล้วโดนโจมตีแบบไม่หยุดหย่อน
แต่ที่ตลาดแปลกใจคือทำไมมาทำเอาตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้นึกว่าจะรอให้หมด Term ของ Kuroda ที่กำลังหมดในเดือนเมษาปีหน้าไปก่อน และช่วงหลังแรงกดดันเริ่มลดลง และค่าเงินเยนเริ่มกลับมาแข็งขึ้นแล้ว
แต่ก็อาจจะเพราะสองประเด็นนี้เลย Kuroda อาจจะอยากเป็นคนปรับนโยบายนี้เอง ดีกว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าคนต่อไป และการปรับนโยบายเพื่อลดแรงกดดันน่าจะทำตอนที่แรงกดดันไม่เยอะนี่แหละดีแล้ว ในขณะที่ผลกระทบของนโยบายกำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การปรับนโยบายให้ตรึงตัวขึ้น และยังคงยืนดอกเบี้ยนโยบายติดลบต่อไป
เราเห็นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปี ญี่ปุ่นเด้งขึ้นไป 0.4% ทันที (แน่นอนว่าใคร Short ไว้ได้กำไรเลย) ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นตามนโยบายที่ตรึงตัว หุ้นร่วง และส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น
เรียกว่าส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
หลังจากนี้คงต้องดูกันว่าการปรับนโยบายครั้งนี้เพียงพอหรือไม่ ถ้าอัตราดอกเบี้ยอยู่ต่ำกว่า 0.5% ก็แปลว่าตลาดเชื่อ BoJ และจะช่วยลดแรงกดดันต่อ BoJ ไปได้เยอะ
แต่ถ้าตลาดไม่เชื่อและตามกันไป Short JGB ต่อ จนดอกเบี้ยไปชนขอบบนของเป้าที่ปรับใหม่ ก็จะสร้างแรงกดดันต่อเนื่องจนวุ่นวายกันไปอีก
และดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น จะสร้างปัญหาอีกด้านต่อ ค่าเงินเยน ที่อาจกลับมาแข็งขึ้น และต้นทุนทางการเงินภาคเอกชนญี่ปุ่น และที่สำคัญคือหนี้สาธารณะของรัฐบาลญี่ปุ่นเองที่สูงกว่า 240% ของ GDP ดอกเบี้ยขึ้นเยอะๆก็เหนื่อยแน่
เกมนี่คงต้องดูกันยาวๆ ครับ...
แต่ที่แน่ๆ เป็นอีกครั้งที่บอกเราว่า นโยบายที่บิดเบือนตลาด ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน มีต้นทุนเสมอ และทนอยู่ได้ไม่นาน
โฆษณา