26 ธ.ค. 2022 เวลา 05:00 • ความคิดเห็น
Serenity Courage Wisdom
ผมเคยเห็นรอยสักที่เป็นคำสามคำนี้ค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะฝรั่งชอบสักกันมาก ตอนแรกก็ไม่ได้เข้าใจความหมายอะไรลึกซึ้งนัก ก็แปลตรงๆว่า ความสงบสุข ความกล้าหาญและปัญญา ไม่รู้ทำไมฝรั่งชอบสักสามคำนี้มาก จนมาได้อ่านเจอที่มาที่ไปของสามคำนี้ที่มาจากบทสวดของ ศาสนาคริสต์ทางฝั่งอเมริกาโดยนักบวชที่ชื่อ niebuhr เมื่อเกือบร้อยปีก่อน คำสามคำนี้มาจากบทสวดเต็มๆว่า…
2
God, grant me the serenity to accept the things I cannot change, Courage to change the things I can, And wisdom to know the difference
บทสวด
3
พออ่านแล้วถึงเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำสามคำบนรอยสักนั้น ว่าเป็นบทสวดที่ขอให้พระเจ้าประทานความสงบสุขให้เมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นแก้ไม่ได้ ประทานความกล้าหาญให้เมื่อรู้ว่าสามารถแก้ปัญหานั้นได้ และประทานปัญญาให้สามารถพิจารณาแยกแยะปัญหาที่แก้ได้กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ได้ชัดเจน
1
ส่วนตัวผมได้รับอิทธิพลทางความคิดในการแยกปัญหาที่แก้ได้กับแก้ไม่ได้จากหนังสือของฟาสต์ฟู้ดธุรกิจของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ว่าตั้งแต่อ่านเรื่องนี้จากพี่ตุ้ม โลกของผมก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นอนหลับสบายขึ้นมากตั้งแต่วันนั้น
1
พี่ตุ้มเขียนว่าปัญหามีสองแบบ แบบแรกแก้ได้ แบบที่สองแก้ไม่ได้ แบบที่แก้ไม่ได้ก็อย่าไปดิ้นรนหาทางเพราะยังไงก็แก้ไม่ได้อยู่แล้ว ที่มาของความคิดนี้มาจากหลวงปู่ชาสุภทโทแห่งวัดหนองป่าพงที่ฟังปัญหาชีวิตอันใหญ่หลวงมากของชาวบ้านที่มาปรึกษา แล้วท่านก็ชี้ไปที่ก้อนหินใหญ่ ถามว่าโยมผลักก้อนหินไหวไหม
1
โยมก็บอกว่าไม่ไหว หลวงปู่ชาก็ชี้ไปที่ก้อนหินที่เล็กกว่า โยมก็พยักหน้าว่าไหว หลวงปู่ชาจึงเทศนาธรรมว่าหินใหญ่ก็เหมือนปัญหาของโยม ผลักเคลื่อนไปก็เหนื่อยเปล่าเพราะมันเกินแรงของเรา แต่ถ้าปล่อยให้ฝนตก ลมพัด หินก้อนแรกก็จะกร่อนลงจนเหลือเท่ากับหินก้อนที่สอง เมื่อนั้นถ้าเราผลักหินก้อนนั้นก็จะเคลื่อนตัวได้
1
พี่ตุ้มเขียนเสริมต่อว่า บางปัญหาคิดไปก็เท่านั้น ทุกข์ใจเปล่าๆเพราะมันยิ่งใหญ่เกินแก้ไข แต่ถ้าปล่อยไว้เวลาอาจช่วยได้ อาจมีตัวแปรอื่นมาช่วยให้ปัญหาบรรเทาเบาลง หรือเปลี่ยนไป สุดท้ายเมื่อปัญหาอยู่ในระดับที่เราแก้ไขได้ เมื่อนั้นเราค่อยคิดแก้ไขปัญหา
1
ผมเลยมาคิดเอาเองว่าปัญหาอาจจะแบ่งได้เป็นสามกอง ปัญหาที่แก้ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ กับปัญหาที่แก้ได้แต่ต้องใช้เวลา ปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ดูจะไม่ใช่ปัญหาเพราะมันแก้ไม่ได้ เช่นเมืองไทยอากาศร้อนมาก เราคนไทยอยู่มาจนไม่คิดว่าเป็นปัญหา ใจก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับความร้อนของบ้านเรา
ผมเคยมีเพื่อนของภรรยาเป็นฝรั่งมาเมืองไทยครั้งแรก มาอยู่เป็นอาทิตย์ ทุกวันก็จะบ่นทุกข์ทรมานกับอากาศร้อนจัดคิดแต่อยากจะกลับบ้านไม่มีความสุขเลยในเวลาที่อยู่เมืองไทย ปัญหาที่แก้ได้แต่ต้องใช้เวลาก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่ในเวลานี้คือโควิดกับวัคซีน เราเจอปัญหาหนักหนาสาหัสมาก แต่ก็พอจะรู้ว่าวันหนึ่งปัญหาก็จะคลี่คลายและหายไปเมื่อฉีดวัคซีนกันครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ใช่แก้ได้ในทันที
บทสวด Serenity Prayer เลยมีคำสำคัญหลักอยู่สี่คำ คำว่า Accept หรือยอมรับว่าปัญหานั้นแก้ไม่ได้ ความสงบสุขหรือ Serenity จึงจะบังเกิด ส่วนคำที่สองก็คือเมื่อรู้ว่าปัญหานั้นแก้ได้แม้จะยากลำบากหรือต้องใช้เวลา ความกล้าหาญ (Courage) ในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเพื่อคนที่เรารัก หรือเพื่อความอยู่รอดขององค์กรจึงเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ปัญหานั้นๆ
1
และคำสุดท้ายที่ผมคิดว่าคือต้นทางของบทสวดนี้ก็คือ wisdom หรือปัญญาที่เราจะสามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาไหนแก้ได้ แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้แต่ต้องใช้เวลา เราจึงจะไม่เอาชีวิตเราไปผูกกับปัญหาที่แก้ไม่ได้ซึ่งอันจะนำมาซึ่งความทุกข์ใจไม่มีที่สิ้นสุด
การที่จะมี Wisdom พอที่จะแยกแยะว่าปัญหาไหนแก้ได้ก็จะได้รวบรวมความกล้าในการแก้ ถ้าแก้ไม่ได้หรือแก้ได้แต่ต้องใช้เวลาและเวลานั้นนานเท่าไหร่เพื่อที่จะฝึกทำใจให้สงบและไม่ยุ่งกับมัน การแยกแยะทำได้ไม่ง่ายเลยเพราะจิตใจเรามักจะมี Bias มีอารมณ์ที่จะทำให้การแยกแยะปัญหาผิดพลาดได้ เช่นการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปด่าโควิด
1
หรือมีเจ้าของกิจการหลายคนตอนที่โควิดมาใหม่ๆก็คิดเข้าข้างตัวเองว่าเดี๋ยวไม่ถึงปีธุรกิจก็จะกลับมาเหมือนเดิม มุมมองที่สำคัญที่จะเกิดปัญญาในการแยกแยะปัญหาได้นั้น น่าจะต้องพยายามใช้มุมมองของบุคคลที่สาม หรือที่ภาษาพระเรียกว่าโลกุตระ หรือ Bird eye view
ก็คือมุมที่เอา Bias ของตัวเองออกไป อาจจะเกิดจากการไปถาม ไปฟังผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆวิเคราะห์หรือให้ความเห็นก็เป็นแนวทางหนึ่ง การทำใจเป็นกลาง คิดว่าถ้าเป็นคนอื่นมาตัดสินใจแทนเราจะคิดอย่างไรก็เป็นอีกทางหนึ่ง
1
หรือไปสักแขนเหมือนฝรั่งไว้ว่า Serenity Courage Wisdom ก็อาจจะเป็นอีกทางไว้เตือนใจเวลาเจอปัญหาวุ่นๆยุ่งขิงอีรุงตุงนังแล้วค่อยๆพินิจพิจารณาด้วยการมองรอยสักก็อาจจะช่วยได้เช่นกันครับ…
โฆษณา