27 ธ.ค. 2022 เวลา 04:24 • ปรัชญา
อ่าน-มา-เล่า 06
สรุป: โปรตากอรัส
บทสรุปชุดนี้แม้อาจเรียกว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นความตั้งใจที่พ่ออยากถ่ายทอดใจความสำคัญของเรื่องราวเหล่านี้สู่ลูก ความผิดพลาดนั้นคือ พ่อตั้งใจส่งไปรับการพิจารณาเพื่อหวังค่าตอบแทน แต่ด้วยทักษะความสามารถไม่เอื้ออำนวย ผลที่ได้คือ ทำส่งไม่ทันกำหนด ที่สำคัญคือคุณภาพอาจจะไม่ได้ด้วย แต่แทนที่จะปล่อยให้สูญเปล่า พ่อคิดว่าเนื้อหาสาระของงานเพลโตชิ้นนี้มีความสำคัญในฐานะการสอนกระบวนการวิพากษ์อภิปรายที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อใครก็ตามที่สนใจอย่างแน่นอนในความเห็นของพ่อ
_
คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้หรือไม่? คำถามแกนหลักในการอภิปรายโต้ตอบทางปรัชญาระหว่าง ‘โสกราตีส’ กับ ‘โปรตากอรัส’ 2 ปราชญ์ชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่ ผ่านการเล่าเรื่องแนวบทสนทนากึ่งจริงกึ่งละครโดย ‘เพลโต’ อีกหนึ่งปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่รุ่นถัดมา รายล้อมด้วยบรรดาผู้มีชื่อเสียงในสังคมกรีกโบราณและทรงอิทธิพลต่อแนวความคิดเชิงปรัชญาในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกว่า โซฟิสต์ อันหมายความอย่างกว้างว่าเป็นผู้ทรงภูมิซึ่งดำรงชีพด้วยการถ่ายทอดความรู้ที่มีต่อผู้ที่ต้องการ
บทสนทนาที่เพลโตนำเสนอ เริ่มด้วยการฉายภาพโปรตากอรัสมาเยือนกรุงเอเธนส์ จนมีผู้นำข่าวมาแจ้งแก่โสกราตีสและชักชวนกันให้ไปพบเพื่อร่วมวงเสวนา การให้ความเห็นของโสกราตีสที่มีต่อโซฟิสต์อันหมายรวมถึงโปรตากอรัสด้วยนั้น สะท้อนภาพ "โซฟิสต์"
ในมุมมองของของชนชาวกรีกว่าอาจไม่ได้เป็นที่ชื่นชมมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ทรงปัญญาหรืออย่างน้อยก็โสกราตีสเองที่เปรียบเทียบคนเหล่านี้กับ "พ่อค้า หาบเร่ ขายสินค้า บำรุงจิตวิญญาณ" แน่นอนว่าสินค้านั้นหมายถึง ‘ความรู้’ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทำไมหัวข้อของการสนทนาจึงให้ความสำคัญกับ คุณธรรมคือความรู้หรือไม่? หากคุณธรรมคือความรู้แล้ว ดังนั้นคุณธรรมจึงสอนกันได้ใช่หรือไม่? ตลอดไปจนถึงความพยายามของโสกราตีสในการยืนยันความเป็นหนึ่งเดียวกันของคุณธรรม
••
วิธีการของโสกราตีสในการตรวจสอบความรู้และทรรศนะเพื่อแสวงหาความจริงจากคู่สนทนา ถือเป็นรูปแบบการศึกษาปรัชญาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถไล่ตามลำดับได้ตั้งแต่เมื่อคู่สนทนาเอ่ยถึงจริยธรรมใดขึ้นมา โสกราตีสจะถามหาความรู้และความชัดเจนของสิ่งนั้น จากนั้นแสดงทรรศนะของตัวเองด้วยเหตุและผลเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เมื่อคู่สนทนาไม่ได้เห็นแย้ง โสกราตีสจึงใช้การอธิบายผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์ ด้วยความตั้งใจที่จะชี้ให้เห็นว่าคำตอบของคู่สนทนานำไปสู่ข้อขัดแย้งหรือเป็นเท็จ
เมื่อเป็นดังนั้นคู่สนทนาจำต้องหาหรือเสนอคำตอบที่ดีกว่าเดิม และเพื่อพิสูจน์ โสกราตีสก็จะใช้กระบวนการเดิมอีกครั้ง เป็นอย่างนี้วนไปจนกว่าทั้งโสกราตีสและคู่สนทนาจะสิ้นหนทางหาคำตอบ ณ ขณะนั้น
•••
ในบทสนทนากับโปรตากอรัส เพลโตผู้แต่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโสกราตีสในการใช้วิธีการข้างต้นดำเนินบนสนทนาเพื่อค้นหาความจริง แม้หลายครั้งจะดูเป็นความพยายามเพื่อเอาชนะ แต่มันสะท้อนถึงจุดยืนของโสกราตีสที่อ้างว่าตัวเอง ‘ไม่มีความรู้’ จึงต้องการหาทางที่จะพิสูจน์คำถามและยืนยันเหตุผลของตนเอง
เมื่อโสกราตีสเปิดการสนทนาด้วยข้อเสนอว่า “คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้” โปรตากอรัสซึ่งเห็นตรงข้ามจึงเริ่มอภิปรายด้วยปาฐกถาแสดงเหตุผลสอดแทรกการอ้างถึงเทพเจ้าพร้อมหน้าที่ของแต่ละองค์ในเทพนิยายกรีก และด้วยสุนทรียะทางวาทะศิลป์อันเลิศล้ำนั้นเองที่ส่งผลให้โสกราตีสต้องยอมรับในคำตอบของโปรตากอรัสว่า "คุณธรรมสอนกันได้"
••••
คำถามต่อมาโสกราตีสชวนถกกันในประเด็น "คุณธรรมเป็นหนึ่งเดียว" หรือไม่? โดยได้ข้อสงสัยมาจากปาฐกถาของโปรตากอรัสเองที่ว่าคุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้ เมื่อคุณธรรมสอนกันได้ คุณธรรมก็ต้องเป็นความรู้ เมื่อคุณธรรมเท่ากับความรู้ประเภทหนึ่งที่ถ่ายทอดให้กันได้ ดังนั้นคุณธรรมทั้งหลายย่อมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย เพราะหากบรรลุความรู้ทั้งหลายได้ก็ต้องบรรลุคุณธรรมหนึ่งเดียวเช่นกัน ยกตัวอย่าง
เมื่อคุณธรรมประกอบไปด้วย ความชอบธรรม, ความรู้จักพอดี, ความเคารพกฎของเทพ ตามที่โปรตากอรัสกล่าว หากบุคคลขาดข้อหนึ่งข้อใดไปแล้ว แสดงว่าไม่มีคุณธรรมใช่หรือไม่? ข้อสรุปต่อหัวข้อนี้ทั้งสองดูจะเห็นตรงกันว่า ‘คุณธรรมเป็นหนึ่งเดียว’ แต่ยังไม่ลงรอยกันในแง่ ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ นั้นคือลักษณะใด
•••••
ความเป็นหนึ่งเดียวของคุณธรรมในมุมโสกราตีส เป็นลักษณะของสิ่งเดียวกันแต่ชื่อเรียกต่างกันโดยยกตัวอย่าง ดาวศุกร์ ว่ามีชื่อเรียกหลายแบบ ทั้งดาวประจำเมือง ดาวรุ่ง ดาวพระศุกร์ ก็เป็นชื่อของดาวดวงเดียวกัน
ส่วนในกรณีของโปรตากอรัส ให้นิยามของ ‘หนึ่งเดียว’ ในแบบของอวัยวะบนใบหน้าว่ามี ตา หู จมูก ปาก หากขาดอะไรไปเสียอย่างหนึ่งก็ไม่ครบ ‘องค์รวม’ อย่างไรก็ตามในทรรศนะของโปรตากอรัส มองว่าบุคคลสามารถมีคุณธรรม แม้ขาดคุณธรรมบางอย่างได้ ด้วยการสอนคุณธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน สุดท้ายแล้วก็สามารถสอนคุณธรรมให้บุคคลจนครบถ้วนได้
แต่ในทรรศนะของโสกราตีสที่เชื่อว่าแม้จะมีคุณธรรมหลากหลาย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน โดยมี ‘ความรู้’ เป็นคำตอบ หมายความว่าการจะมี คุณธรรม ต้องรู้ว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนเลว ซึ่งต้องอาศัยการมีความรู้เป็นปัจจัย ดังนั้นในมุมมองของโสกราตีสการมีคุณธรรมย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ประกอบกันขึ้นจากความรู้ในเรื่องคุณธรรม ที่ต้องครบถ้วนและไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป
••••••
การอภิปรายในประเด็นข้างต้นดำเนินต่อไปอย่างลุ่มลึกในรายละเอียด จนถึงจุดที่โสกราตีสขอให้โปรตากอรัสเลิกใช้วาทศิลป์ประกอบการโต้แย้ง แต่ให้ใช้การตอบคำถามสั้นๆ ไม่ยืดยาวแทน คือให้มีแต่เนื้อไม่เอาน้ำ เมื่อไม่ได้ตามที่ร้องขอโสกราตีสเลือกยุติการสนทนาและเดินออกจากที่ประชุม
แต่ไครติแอสก็อาสาเข้ามาไกล่เกลี่ยจนการสนทนาดำเนินต่อไปได้ จากนั้นเป็นโปรตากอรัสที่เริ่มด้วยการนำบทกวีของซิมโมนิดิส (กวีเอกในยุคกรีกโบราณ) เข้ามาอ้างอิงและชี้ข้อขัดแย้งในการอภิปรายเรื่องการสอนคุณธรรม เพื่อเน้นให้โสกราตีสเชื่อว่า ‘คุณธรรมสอนกันได้’ ด้วยเหตุที่โปรตากอรัสเชื่อว่ากวีบทนี้ของซิมโมนิดิสทรงอิทธิพลต่อโสกราตีสจนเชื่อว่าสอนคุณธรรมกันไม่ได้
•••••••
แทนที่โสกราตีสจะแก้ความเข้าใจผิดของโปรตากอรัสในเรื่องที่มาของความคิด ว่าไม่ได้รับอิทธิพลจากกวีดังกล่าว แต่กลับอภิปรายวิเคราะห์บทกวีไปต่างๆ นานาและจบด้วยการสรุปว่า ผู้ทรงปัญญาไม่ควรหยิบยืมความคิดคนอื่นมาใช้ในการถกเถียง
อันหมายความว่าทรรศนะของตนที่เกี่ยวกับคุณธรรมสอนกันไม่ได้นั้น มิใช่การรับอิทธิพลมาจากซิมโมนิดิส ที่ชวนสังเกตคือในช่วงการอภิปรายดังกล่าวโสกราตีสจงใจใช้การกล่าวอ้างตำนานกำเนิดทางปรัชญาและวัฒนธรรมของชนสปาร์ตา ประกอบด้วยการใช้วาทศิลป์เข้าครอบงำบรรยากาศการถกเถียง อันเป็นการกระทำเช่นเดียวกันกับที่เค้าเองขอให้โปรตากอรัสเลิกเสีย
•••••••
ข้อถกเถียงยังดำเนินต่อไปล้อมรอบประเด็นเกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆ จนเข้าสู่เรื่องของความกล้าหาญที่โปรตากอรัสเชื่อว่าออกจะแตกต่างจากคุณธรรมอื่น โสกราตีสจึงพยายามที่จะนำเสนอทรรศนะเพื่อพิสูจน์ว่าความกล้าหาญเป็นหนึ่งเดียวกับทุกคุณธรรม ด้วยการเชื่อมโยงความกล้าหาญกับการมีความรู้ การมีปัญญาและมีความมั่นใจ โปรตากอรัสค้านการอ้างเหตุผลเช่นนี้ของโสกราตีส โดยไม่
เชื่อว่าคนมีความมั่นใจทุกคนจะเป็นคนกล้าหาญ แน่นอนว่าโสกราตีสยอมรับเพราะรู้ตัวดีว่าตนเองทำพลาดไป แต่ด้วยปฏิภาณโสกราตีสเบนหัวข้อสนทนาไปสู่เรื่อง ‘สุขารมณ์’ ‘ทุกขารมณ์’ แล้วนำพาการถกเถียงไปสู่การอภิปรายในประเด็นปรัชญาที่สำคัญยิ่งของโสกราตีส นั่นคือ "ไม่มีใครจงใจทำเลว" ด้วยเหตุผลว่ามนุษย์ต้องมี ‘ความรู้’ เพื่อสามารถชั่งตวง คำนวณปริมาณและวางแผนการกระทำของตัวเองด้วยเจตจำนงเพื่อแสวงหาความสุขมิใช่การมีความทุกข์ ดังนั้นการขาดความรู้ก็มีโอกาสนำพาชีวิตไปสู่ปริมาณความทุกข์ที่มากกว่าความสุข
••••••••
สุดท้ายโสกราตีสสรุปว่าคนที่มีความรู้ในสิ่งที่ ‘ดี’ และ ‘เลว’ ย่อมไม่เลือกในสิ่งที่เลว หากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีแต่สิ่งที่เลว ก็จะเลือกทางที่เลวน้อยที่สุด ขณะเดียวกันในประเด็นของความกล้าหาญและความขลาด โสกราตีสเลือกสรุปว่า
ความกล้าหาญกับความรู้เป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าความขลาดย่อมเท่ากับความเขลาหรือความไม่รู้ด้วย ดังนั้นเมื่อความกล้ากับปัญญาเป็นหนึ่งเดียวกัน ปัญญาก็เป็นหนึ่งเดียวกับคุณธรรม โดยสรุปแล้วโปรตากอรัสควรยอมรับตามที่โสกราตีสเสนอว่า "คุณธรรมทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียวกัน" ในท้ายที่สุด
•••••••••
อย่างไรก็ตามในตอนจบของการสนทนา ปราชญ์ทั้งสองก็ยังไม่สามารถสรุปได้ถึงคำถามเริ่มต้นที่ว่า "คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้" ทั้งหมดอยู่ดี เพราะยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังอธิบายไม่ได้และเป็นโสกราตีสเองที่เห็นซับซ้อนย้อนแย้งในเรื่องนี้ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการถกเถียงที่จบลงด้วยความล้มเหลว
บทเรียนปรัชญาจากเพลโตที่ถ่ายทอดบทสนทนาวิพากษ์ถกเถียง ระหว่างสองปราชญ์ สองทรรศนะชุดนี้ ช่วยให้เราเห็นวิธีการหาข้อตกลงจากความเห็นแย้งอย่างผู้มีปัญญาหรืออาจจะเรียกว่า "อย่างผู้มีอารยะ" ตามรอยสังคมตะวันตกต้นกำเนิดความอารยะ ช่วยให้เราเรียนรู้ความละเอียดซับซ้อนอ่อนไหวของการหาเหตุผลมาคัดคานในประเด็นถกเถียง อันเป็นรากฐานของกระบวนการ Critical thinking ที่พ่อคิดว่าลูกควรจะมีโอกาสฝึกฝนให้ช่ำชองในวันใดวันหนึ่ง
.
หนังสือ: โปรตากอรัส
ผู้เขียน: เพลโต้
ผู้แปล: อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย
สำนักพิมพ์: Illuminations Editions
#จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #อ่านมาเล่า #อ่านมาเล่าจริงจริง #protagoras #plato #socrates #jingjingkhue #illuminationseditions
โฆษณา