28 ธ.ค. 2022 เวลา 06:42 • การเมือง
“การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม”
การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่มอบอำนาจให้ผู้แทนประชาชนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใช้อำนาจปกครองประเทศ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองบางส่วน จึงมีการแข่งขันกันทุกรูปแบบ เพื่อที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ โดยการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย จากข้อมูลการสำรวจการเลือกตั้งทุกครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา
ปรากฏว่า มีการซื้อสิทธิขายเสียงมาโดยตลอด โดยมีรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม ซึ่งการใช้เงินเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งจำนวนมากทำให้เกิดแรงจูงใจที่ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะต้องหาทุนคืนทดแทนเงินที่ได้ลงทุนไป รวมทั้งการตอบแทนบุญคุณผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเงินที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการขายสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยการรับเงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เกือบจะยอมรับกันได้ทั่วไป
จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” ซึ่งมีแนวโน้มเรียกร้องจำนวนเงินเพิ่มขึ้นและลุกลามไปในการเลือกตั้งทุกระดับ ทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยเฉพาะรูปแบบเท่านั้น แต่สาระของประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะเจตนาในการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามระบบที่ควรจะเป็น การซื้อสิทธิขายเสียงและการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่าง ๆ
จึงเป็นศัตรูบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ของระบบการเมือง คือ ปรากฏการณ์ซื้อเสียง - จัดตั้งรัฐบาล - คอร์รัปชันเพื่อถอนทุนและเตรียมเงินไว้ใช้ในการซื้อเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป - เกิดวิกฤตศรัทธา - รัฐบาลอายุสั้นด้วยการลาออก ยุบสภา หรือมีการรัฐประหาร - ฉีกรัฐธรรมนูญ - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลือกตั้ง แล้วก็วนกลับมาซื้อเสียง - ถอนทุนคืน แล้วก็รัฐประหารกันอีกซ้ำแล้วซ้ำอีก
การจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองในส่วนของการเลือกตั้ง
ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง รวมทั้งการกระทำทุจริตการเลือกตั้ง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ในหลายมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศโดยรวม จนกระทั่งนำไปสู่แนวคิดหลักในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่มุ่งแก้ปัญหาของระบบการเมืองไทย คือ ทำให้ระบบการเมืองและระบบราชการมีความสุจริต และมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น และจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โดยให้มีอำนาจในการควบคุม ออกระเบียบ ข้อกำหนด วินิจฉัยชี้ขาด และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในองค์กรเดียว เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและโดยพลัน
โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ การให้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งแก่คนที่อยู่นอกเขต จังหวัดที่ตนมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และคนที่อยู่อาศัยในต่างประเทศในวันเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกเขต ที่ตนมีสิทธิลงคะแนน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนจนเงินไม่มีผลต่อการลงคะแนน รวมทั้งกำหนดให้บัตรเลือกตั้งมีช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” เพื่อให้ผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งได้มีทางเลือก
ตลอดจนการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อลดการอาศัยเงินของนายทุนพรรคการเมือง การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นเสียงข้างมากมาเป็นการเลือกตั้งแบบผสม คือ มีทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ
ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ๒ ครั้ง การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ๒ ครั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่ง แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ทำให้การซื้อเสียงในการเลือกตั้งหมดไป เนื่องจากทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองบางส่วนต่างมุ่งหวังที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปสู่การใช้อำนาจรัฐ
ส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงในการเข้าสู่ตำแหน่งและความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับ การกระทำทุจริตเลือกตั้งไว้ในมาตรา ๒๓๗ ถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยุบพรรคการเมือง จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าการทุจริตเลือกตั้งเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ ถึงขนาดกับต้องบัญญัติโทษของการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
สภาพการณ์และสาเหตุที่ทำให้การเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ปัจจุบันสภาพการณ์การซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง การทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมีหลายรูปแบบ นอกจากการจ่ายเงิน ทรัพย์สินโดยตรง ยังมีการใช้กลวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายในรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้น และหรือกระทำการในช่วงที่กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ เช่น จัดทัศนศึกษานอกพื้นที่/นอกช่วงเวลาที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แอบแฝงโดยการจัดเลี้ยง ร่วมบริจาคเงินและหรือสิ่งของในงานทำบุญประเพณีต่าง ๆ ในจำนวนมากกว่าปกติ
โอนเงินผ่านเครื่อง โอนเงินอัตโนมัติ ให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องส่งคืน ให้ไปรับสิ่งของ/สินค้าจากร้านค้า รับประทานอาหารจากร้านค้าโดยไม่ต้องชำระเงิน เสนอนโยบายในลักษณะประชานิยมที่ไม่มีงบประมาณรองรับ เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งทุกระดับ แต่ต้องยอมรับว่า หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกมีการลงโทษผู้กระทำทุจริตการเลือกตั้งได้น้อยกว่าที่ควร โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่กฎหมายยังมีช่องว่าง
รวมทั้งมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายและกลไกป้องกัน ปราบปรามการซื้อเสียงยังไม่เข้มข้น และมีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน ส่งผลให้ ผู้กระทำทุจริตการเลือกตั้งส่วนหนึ่งได้เข้าสู่ตำแหน่งและกลายเป็น ผู้มีอิทธิพลเข้าไปทำความเสียหายให้แก่ประเทศและท้องถิ่น
รวมทั้งทำให้บุคคลที่จะมาเป็นพยานในคดีเลือกตั้งเกิดความเกรงกลัว จากสภาพการณ์ดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะบัญญัติที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โครงสร้าง และบทลงโทษไว้รุนแรงเพียงใด ยังไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งบรรลุเป้าหมาย การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ ซึ่งมีสาเหตุและปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้
๑. ผลลัพธ์หรือเป้าประสงค์ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งบางส่วนอยู่ที่การได้มาซึ่งคะแนนเสียงจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดจิตสำนึกตระหนักต่อบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์การเมืองการปกครองให้มี ความเข้มแข็ง สร้างคุณประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ การพยายามเอาชนะการเลือกตั้งที่ไม่คำนึงถึงกฎหมาย และความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
การซื้อสิทธิขายเสียงและการทุจริตเลือกตั้งโดยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ ที่แนบเนียนแยบยลมากขึ้น จึงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอทั้งในการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น
๒. การบังคับใช้กฎหมายยังมีข้อบกพร่อง บางครั้งพบว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง หรือการสืบสวน สอบสวนการทุจริตเลือกตั้ง มีส่วนร่วมในการกระทำทุจริตเสียเอง
๓. โครงสร้างทางสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมชนบทมีวัฒนธรรม “ระบบอุปถัมภ์” ที่มีการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้ที่เข้มแข็งมีอำนาจอิทธิพลสูงกว่า ก็จะคอยช่วยเหลือให้การอุปถัมภ์ผู้ที่อ่อนแอ พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร จึงมักจะอาศัยผู้มีอิทธิพลหรือผู้นำในท้องถิ่นที่เรียกว่า “หัวคะแนน” เป็นผู้ช่วยเหลือในการหาเสียง
เพราะผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการจูงใจ ชักนำ ควบคุมกำกับ หรือใช้กลวิธีต่าง ๆ ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครที่ตนให้การสนับสนุน ประชาชนจึงไม่มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจหรือตัดสินใจลงคะแนนเสียงด้วยตนเอง แต่จะลงคะแนนเสียงตามความต้องการหรือการชักนำของผู้มีอิทธิพล
๔. ประชาชนบางส่วนขาดความตระหนัก และความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งผลให้การตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งจึงเป็นไปในลักษณะต่างตอบแทน โดยมิได้แยกแยะระหว่างการมอบอำนาจอธิปไตยให้ผู้แทนในการทำหน้าที่ ทางด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร กับการตอบแทนผู้มีพระคุณ ที่มาช่วยค้ำจุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นความจำเป็นที่เป็นผลประโยชน์เฉพาะตัว และได้รับการตอบสนองในระยะสั้น
๕. การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง บางองค์กรมีปัญหาความไม่พร้อมในการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ทั้งด้านจำนวนบุคลากร ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ บทบาทอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติงานและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเอกชนฯ ในภาพรวมยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และกรณีเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดเล็ก คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่รู้จักกัน จึงเกิดความเกรงใจในการทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้ง
๖. หน่วยงานอื่น ๆ ตลอดจนภาคประชาชนบางส่วน เข้าใจว่าการจัดการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียง เป็นหน้าที่เฉพาะของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงไม่เห็น ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้คณะรัฐมนตรีของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะได้มีมติเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๐ เห็นชอบให้การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติและแก้ไขปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง
และได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) เพื่อร่วมกันรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงและให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงผลกระทบอันเกิดจากการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง แต่การดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ รณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงตามกรอบการดำเนินงานของ ครส. กระจายอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ของรัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน
รวมทั้งไม่มีงบประมาณสนับสนุนโดยตรง ต้องนำงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของต้นสังกัดมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง จึงขอเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
๑. หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก่อนการได้รับเลือกตั้งหรือเลือกผู้ใดได้กระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริต เพื่อให้ตนเองได้รับการเลือกตั้งหรือเลือก หรือได้รับการเลือกตั้งหรือเลือกมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน โดยไม่กำหนดระยะเวลาว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นเมื่อใดเป็นรายกรณี เพื่อป้องกันการเอาเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง (เดิมกฎหมายห้ามกระทำการฝ่าฝืนภายในระยะเวลา ๑๘๐ วันก่อนวันครบวาระ)
๒. กำหนดมาตรการและกลไกในการตรวจสอบนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง โดยใช้นโยบายประชานิยมที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชนในระยะยาว
๓. กำหนดให้มีระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนบัญชีรายชื่อหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตามสอดส่องพฤติกรรม และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด และใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวน
๔. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจในการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐในรายที่หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อเสียง การทุจริตเลือกตั้ง หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และหรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่เป็นคุณ/เป็นโทษแก่ผู้สมัคร พรรคการเมือง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติว่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นได้กระทำความผิดทางวินัย
ให้ส่งรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัย ให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานหรือองค์กรที่ผู้นั้นสังกัด แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว กรณีพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กระทำการทุจริตต้องได้รับโทษหนักขึ้น
๕. เสนอให้นำมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง และการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวเป็นกลางมาบังคับใช้และลงโทษอย่างจริงจัง
๖. รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนตาม Road-map พลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลเสียที่เกิดจากการขายเสียง และเข้าใจกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ “การเลือกตั้งคุณภาพ โดยพลเมืองคุณภาพ”
๗. ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๘ โดยยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้ง และนำคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดมาดำเนินการแทน
เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นกลไกในลักษณะแขนและขาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับการบริหารงานของสำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หากนำคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกลับมาใช้ใหม่ ควรจะกำหนดหน้าที่และอำนาจให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และไม่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เน้นการส่งเสริมและการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
โดยเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจด้านการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำ ความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจเดิมของผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม
๘. การออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องลงคะแนนแทนการใช้บัตรเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๘๔ บัญญัติว่า การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำได้โดยวิธีการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง
คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีอื่นก็ได้ หากการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีนั้นสามารถป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกกว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งและมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า และวิธีการนั้นเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ การออกเสียงลงคะแนนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีอื่นที่มิใช่การลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง มิให้นำความในมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ มาตรา ๙๘ และมาตรา ๙๙ มาบังคับใช้ จากบทกฎหมายดังกล่าว กำหนดว่าการออกเสียงลงคะแนนให้กระทำได้โดยวิธีการลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมี การกำหนดให้มีการออกเสียงโดยวิธีอื่นก็ได้
คือสามารถใช้เครื่อง ลงคะแนนแทนการใช้บัตรเลือกตั้งได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องลงคะแนนสามารถป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสะดวกกว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง และมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า และวิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องลงคะแนนโดยตรงและลับนั้น เกี่ยวกับเครื่องลงคะแนนนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้บริษัท วิทยุการบิน จำกัด จัดทำเครื่องลงคะแนนต้นแบบซึ่งได้มีการทดสอบ ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจุบันได้พัฒนาปรับปรุงเป็นรุ่นที่ ๔ สามารถป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกกว่าออกเสียงลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้ง และมีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งจำนวนมาก แม้การลงทุนสร้างเครื่องลงคะแนนจะใช้เงินจำนวนมากก็ตามในตอนเริ่มแรก แต่เป็น การลงทุนเพียงครั้งเดียวสามารถใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับตลอดไป
ซึ่งในระยะยาวแล้ว การใช้เครื่องลงคะแนน จะประหยัดกว่าการออกเสียงลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพราะไม่ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นอกจากนี้การใช้เครื่องลงคะแนนนี้เป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เนื่องจากเมื่อออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เครื่องแล้วไม่มีผู้ใดสามารถทราบได้ว่าลงคะแนนให้ผู้ใด
ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ มาขอยืมเครื่องลงคะแนนจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไปใช้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ กรรมการรัฐสภา และกรรมการนักเรียนนักศึกษาตลอด ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าเครื่องลงคะแนนของสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งได้
ผู้ศึกษาเห็นว่า เครื่องลงคะแนนเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดความผิดพลาดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง เพื่อลดสถิติของบัตรเสีย และลดความผิดพลาดในการวินิจฉัยบัตรเลือกตั้งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความสะดวกในการลงคะแนน และความมีประสิทธิภาพในการนับคะแนน รวมผลการนับคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนน
ในขณะเดียวกัน เครื่องลงคะแนนยังสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษที่ทำเป็นบัตรเลือกตั้ง ลดขั้นตอน การดำเนินการลดขยะ ในที่สุด ปัญหาที่ยังไม่สามารถนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเกิดจากฐานคติความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงทุน ความมั่นใจในการทำงานของระบบ (ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ และการยอมรับในเทคโนโลยี)
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คณะกรรมการ การเลือกตั้งได้ ทั้งที่ในระดับพื้นที่มีการนำเครื่องลงคะแนนไปใช้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า ได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงาน ผู้ศึกษามีความเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ในการออกเสียงลงคะแนน แทนการใช้บัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งทุกระดับในครั้งต่อไป
โฆษณา