30 ธ.ค. 2022 เวลา 07:40
ฎีกาที่ 4480/2563
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นของโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 และปรากฏว่าจำเลยนำชี้แนวเขตล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วน เนื้อที่ 2 งาน 47 ตารางวา ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลแขวงราชบุรีมีคำพิพากษาตามยอมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 98/2557
โดยโจทก์มอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนของโจทก์เนื้อที่ 2 งาน 47 ตารางวา ให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงชำระเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์โดยจำเลยเป็นฝ่ายนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาท แล้วแก้ไขเนื้อที่ดินของจำเลยจากเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา เป็นเนื้อที่ 15 ไร่
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงราชบุรีอ้างว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเต็มพื้นที่ที่ดินพิพาทภายในเส้นประสีชมพู เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา เป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ศาลแขวงราชบุรีมีคำสั่งวินิจฉัยว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา เอกสารหมาย ล.5
เห็นว่า แม้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาแต่ข้อพิพาทในคดีเดิมคงยุติไปเฉพาะที่ดินเนื้อที่ 2 งาน 47 ตารางวา ที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์เท่านั้นศาลแขวงราชบุรีไม่มีอำนาจบังคับคดีให้เกินเลยไปจากข้อตกลงในที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่า ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแขวงราชบุรีมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการเข้าไปปลูกสับปะรดในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา
อันเป็นที่ดินส่วนที่อยู่นอกแนวเขตที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์ ปรากฏตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล. 1 อันเป็นกรณีที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ขึ้นใหม่ มิได้เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยในเหตุละเมิดดังกล่าวได้ ไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลแขวงราชบุรีวินิจฉัยไว้ในคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีโดยอาศัยเหตุเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องช้ำ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ทั้งกรณีมีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ตามลำดับชั้นของศาลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วเช่นเดียวกัน (พิพากษายืน ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา