31 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
พลิกตำรา.. Apple บริหารงานอย่างไร จึงสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา
Apple บริษัทที่มีมูลค่ามากสุดในโลก ด้วยมูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 73 ล้านล้านบาท)
และขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนจำนวนมาก มาแล้วหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็น iPhone ที่เปลี่ยนนิยามความเป็นโทรศัพท์มือถือ จนผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต้องหันมาทำตาม หรือแม้แต่ MacBook ที่ครั้งหนึ่ง สตีฟ จอบส์ เคยสร้างเสียงฮือฮา ด้วยการเปิดตัว MacBook Air ที่มีความบางเฉียบ จนสามารถใส่เข้าไปในซองเอกสารสีน้ำตาลได้
2
แน่นอนว่าสิ่งที่ Apple ทำ คือการทุ่มงบประมาณ ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างมหาศาล
- ปี 2020 Apple มีงบ R&D 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.3 แสนล้านบาท)
- ปี 2021 Apple มีงบ R&D 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.3 แสนล้านบาท)
- ปี 2022 Apple มีงบ R&D 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.0 แสนล้านบาท)
แต่นอกจากงบประมาณด้าน R&D ที่ Apple ใช้ไปในแต่ละปีแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ Apple บริหารงานองค์กรอย่างไร
จึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ?
การจะตอบคำถามนี้ได้นั้น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ในยุคที่สตีฟ จอบส์ กลับมารับตำแหน่งเป็น CEO ของ Apple อีกครั้ง ในปี 1997 หลังจากที่ถูกกดดันให้ออกจากบริษัทของตัวเอง ไปนานเกือบ 10 ปี
1
โดย Harvard Business Review ได้รวบรวมการบริหารองค์กรของ Apple ที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไว้ในหลายด้าน
ในตอนนั้น สิ่งที่สตีฟ จอบส์ ทำคือ การ “ปรับโครงสร้างองค์กร” ครั้งใหญ่ โดยยุบรวมแผนกที่มีหน้าที่ทับซ้อนกัน
รวมถึงปลดผู้จัดการทั่วไป (General Manager) หลายสิบคน ภายในเวลาไม่กี่วัน เพื่อรวมให้องค์กรมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต่างแผนกต่างมองแต่มุมของตัวเอง โดยไม่ได้มองภาพรวมขององค์กร
1
นอกจากนี้ สตีฟ จอบส์ ยังเลือกที่จะจัดโครงสร้างองค์กรของ Apple ตามหน้าที่ (Function) ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ (Product)
เพราะอย่าลืมว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 ชนิดของ Apple ต้องมีผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายหน้าที่
ดังนั้น หากจัดโครงสร้างองค์กรโดยแบ่งแยกตามผลิตภัณฑ์ ก็จะทำให้แต่ละฝ่าย มองแต่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยไม่ได้มองภาพรวมอื่น ๆ ของบริษัทเลย
หรืออาจระบุได้ว่า การจัดโครงสร้างองค์กรตามหน้าที่ เป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียว แทนที่จะแยกไปอยู่กันตามผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การรวมทีมพัฒนากล้อง เข้ามาอยู่ด้วยกัน แทนที่จะแยกกันไปเป็นทีมตามผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
เพราะ Apple มองว่า.. ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ชนิดของตัวเอง มีกล้องเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือแม้แต่ MacBook
1
การรวมคนที่เก่งในด้านเดียวกัน เข้ามาทำงานด้วยกัน ย่อมให้ผลลัพธ์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีกว่า รวมถึงช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า การแยกกันทำงานตามผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้
2
นอกจากนี้ Apple ยังมีแนวคิดปั้นผู้บริหารของแต่ละทีม จากคนที่มีความรู้ ความสามารถในด้านนั้นจริง ๆ แทนที่จะเลือกคนที่มีทักษะการบริหารจัดการ แต่ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ซึ่งจะตัดสินใจโดยการอาศัยเพียงตัวเลขสถิติ ไม่ใช่จากความเข้าใจในงานที่ทำจริง ๆ
2
สิ่งที่ Apple ต้องการจากผู้บริหารแต่ละคน จึงเป็นความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในเชิงลึก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ นั่นเอง
ทั้งนี้ Harvard Business Review ได้ยกตัวอย่าง ระดับการตัดสินใจของผู้บริหารในแต่ละทีมของ Apple โดยยกตัวอย่าง กรณีการขึ้นรูป iPhone ที่มีขอบโค้ง ที่ Apple เลือกใช้เทคนิคพิเศษ ที่แตกต่างจากการขึ้นรูปของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายอื่น ๆ ในท้องตลาด ที่แม้จะมีความยาก แต่ให้ผลลัพธ์ที่สวยงามกว่า
ซึ่งผู้บริหารของ Apple ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จากข้อมูลเชิงเทคนิคที่มี เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย และความท้าทายในกระบวนการผลิตที่ Apple ต้องเจอ หากเลือกใช้เทคนิคพิเศษในการขึ้นรูป iPhone นี้
หรือจะเป็นกรณีการพัฒนากล้องที่อยู่ใน iPhone 7 ซึ่งในขณะนั้น เป็น iPhone รุ่นแรก ที่เลือกใช้กล้องหลังแบบคู่
Harvard Business Review ให้เครดิตการสร้างนวัตกรรมกล้องคู่ใน iPhone รุ่นนี้ ว่าเป็นผลมาจากการตัดสินใจ โดยใช้ความรู้ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการพัฒนาให้กล้องคู่นี้เกิดขึ้นได้จริง แม้จะทำให้ iPhone 7 มีต้นทุนในการผลิต และราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
หากผู้บริหารไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่ทำจริง ๆ ก็อาจตัดสินใจ ไม่พัฒนา iPhone 7 ที่มีกล้องคู่ โดยใช้ข้อมูลด้านต้นทุนการผลิต และผลกำไร เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ
และผลของการตัดสินใจในครั้งนี้ ก็ทำให้ Apple เลือกใช้ “กล้องคู่” เป็นจุดเด่นทางการตลาด ในการโปรโมต iPhone 7 ในช่วงเวลานั้น
นอกจากนี้ แม้ว่า Apple จัดโครงสร้างองค์กรตามหน้าที่ โดยรวมผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาทำงานร่วมกัน
แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่ Apple ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน และก็ทำให้ Apple กลายเป็นองค์กรที่สร้างสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมต่อการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ
นั่นคือ วิธีการทำงานที่ “เปิดรับฟังความคิดเห็น” ทั้งจากผู้บริหาร และเพื่อนร่วมงานจากทีมอื่น ๆ
เพราะการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่สามารถทำขึ้นมาได้โดยเป็นผลงานของทีมงานเพียงทีมเดียว แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่าย
ดังนั้น ทัศนคติในการทำงาน ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือ การพัฒนาฟีเชอร์ โหมดถ่ายภาพบุคคล (Portrait Mode) ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของทีมงาน จาก 40 ทีม เช่น ทีมพัฒนาชิปเซต ทีมพัฒนากล้อง และเซนเซอร์ รวมถึงทีมซอฟต์แวร์ ทีมพัฒนาอัลกอริทึม และอีกมากมาย
1
นั่นหมายความว่า กว่าที่โหมดถ่ายภาพบุคคล จะเกิดขึ้นจริง ต้องผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันของคนจำนวนมาก ที่ช่วยกันผลักดันให้ iPhone สามารถถ่ายภาพบุคคลออกมาได้ดีที่สุด
และแน่นอนว่า ไม่มีความคิดของทีมใดทีมหนึ่งที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น โหมดถ่ายภาพบุคคลจึงเกิดขึ้นได้ จากพื้นฐานความคิดที่หลากหลาย ที่ช่วยกันผลักดัน สนับสนุน หรือแม้แต่โต้แย้งในความคิดของแต่ละทีม
และทั้งหมดนี้ คือเคล็ดลับเบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของ Apple ที่หลาย ๆ นวัตกรรม กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก โดยมีจุดเริ่มต้นจากการบริหารงานองค์กร ที่ส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ
โฆษณา