4 ม.ค. 2023 เวลา 03:09 • ธุรกิจ

เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราจ่ายภาษีไม่ตรง ไม่ครบถ้วน ผิดเงื่อนไข

ภาษีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจและใส่ใจรายละเอียด เพราะการยื่นภาษีผิดนั้นอาจสร้างความเสียหายและทำให้เราโดนบทลงโทษในภายหลังได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต้องจ่ายภาษีให้ตรง ให้ครบถ้วน
ที่สำคัญก็คือ เราไม่สามารถอ้างกับทางกรมสรรพากรได้ว่า ไม่รู้หรือไม่ทราบ เพราะเรื่องของภาษีถือว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนต้องรู้ ถึงแม้จะไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม
ในกรณีที่เราเกิดทำผิดขั้นตอนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากร จะมีบทลงโทษจะมีดังนี้
1. กรณียื่นภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ
จะเสียเบี้ยปรับตั้งแต่ครึ่งหนึ่งจนถึงเท่ากับจำนวนของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของค่าภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่น
2. กรณีไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
จะเสียเบี้ยปรับเท่ากับ2ค่าภาษีที่ต้องจ่ายหรืออาจถูกปรับ 2 เท่า และต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของค่าภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นและมีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
3. กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในวันที่กำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี
1
จะเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่ายและต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของค่าภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดยื่น และมีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาทแถมยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนด้วย
4. กรณีหนีภาษี
จะเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่ายและต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของค่าภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดยื่น และมีโทษทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี
1
เราจะเห็นได้ว่าในกรณีที่เราจ่ายภาษีไม่ตรงตามกำหนด สิ่งที่ตามมาแน่ ๆ ก็คือ ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงพอ ๆ กับค่าปรับของบัตรเครดิตเลยก็ว่าได้
ถ้าคำนวณแบบง่าย ๆ คือ ภายในระยะเวลา 4 ปี ถ้าเราไม่จัดการเสียค่าปรับให้เรียบร้อย เงินเพิ่มที่ต้องจ่ายจะมีมูลค่าเป็น 2 เท่าของเงินที่ต้องจ่ายเลยทีเดียว
ดังนั้น หากรู้ตัวว่าจ่ายไม่ครบหรือจ่ายภาษีไม่ตรง ทางออกที่ดีที่สุด คือ การเข้าไปคุยกับกรมสรรพากร เพื่อแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าเราไม่ได้ต้องการหลบเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษีจะเป็นการดีที่สุด
ซึ่งเราสามารถไกล่เกลี่ยกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อาจได้รับการละเว้นหรือลดเบี้ยปรับลง เพราะหากเราไม่แจ้งกรมสรรพากรและถูกตรวจพบในทีหลังจะโดนทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ยิ่งเวลาผ่านไปจะยิ่งทวีคูณเพราะถูกคิดในอัตรา 1.5% ต่อเดือน อีกทั้งหากถูกตรวจสอบว่ามีเจตนาหลบหนียังมีโทษทางอาญาอีกด้วย
หากจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ต้องศึกษาเงื่อนไขและควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่คนลดหย่อนภาษีมักจะเจอกันบ่อย ๆ เลยคือ การซื้อ SSF หรือ RMF ที่ซื้อหรือขายผิดเงื่อนไข อาจทำให้การลดหย่อนภาษีของเราถูกปรับและต้องจ่ายภาษีเพิ่มได้
อย่างการซื้อ SSF หรือ RMF เกินสิทธิ แต่หากเราไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็อาจโดนโทษไม่รุนแรงมากนักเพียงแค่กำไรจากการลงทุนจำเป็นจะต้องมารวมรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย
แต่ถ้าหากใครขาย SSF หรือ RMF ผิดเงื่อนไข นอกจากกำไรต้องมารวมเป็นรายได้แล้ว ยังต้อง “คืนภาษี” ที่เคยลดหย่อนไปพร้อมเงินเพิ่ม 1.5% ของเงินที่เคยลดหย่อนภาษีไปในปีนั้น ๆ อีกด้วย โดยคิดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ของปีที่ได้รับลดหย่อนภาษีจนถึงเดือนที่ยื่นคืนภาษีให้แก่กรมสรรพากร
เช่น หากเราซื้อ SSF ไว้ในปี 2563 เป็นจำนวน 100,000 บาท ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นเงิน 10,000 บาท ผ่านไปเป็นเวลา 3 ปี หากในเดือน เมษายน ปี 2566 มีความจำเป็นต้องขาย SSF ออกมาก่อนกำหนด ได้เงิน 130,000 บาท เท่ากับเป็นกำไร 30,000 บาท ต้องนำส่วน 30,000 บาทไปรวมเป็นรายได้ของปี 2566
ในขณะเดียวกันต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ได้ลดหย่อนไป 10,000 บาท โดยนับตั้งแต่เดือน เมษายน จะเสียเงินเพิ่ม 70.9% หรือ 7,090 บาท รวมเป็นยอดที่ต้องจ่ายคืนและเงินเพิ่มเป็น 17,090 บาท เป็นต้น
โฆษณา