4 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • การตลาด
กรณีศึกษา แพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบ Netflix จ่ายเงินเท่าไร เพื่อให้ได้ “ปุ่มทางลัด” บนริโมตทีวี
ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว Netflix นับเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายแรก ที่ทำข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตทีวี และกล่อง Set-top-Box หลายราย ในการทำปุ่มทางลัด เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชัน Netflix บนทีวีได้แบบง่าย ๆ เพียงกดปุ่มทางลัดบนริโมต
1
เวลาผ่านไป 10 ปี ในวันนี้ ปุ่มทางลัดที่ว่านี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ Netflix เท่านั้นที่ทำ เพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิงรายอื่น ๆ ก็ต่างพยายามนำปุ่มทางลัดของตัวเอง ไปอยู่บนริโมตทีวีแทบจะทุกแบรนด์กันหมดแล้ว
รวมถึงผู้ผลิตทีวีแทบทุกราย ก็เลือกที่จะเพิ่มจำนวนปุ่มทางลัดให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองกับพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ปุ่มทางลัดที่ว่านี้ ไม่ใช่ของที่ได้มาแบบฟรี ๆ โดยไม่มีอะไรต้องแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง
เพราะปุ่มทางลัดนี้ “เป็นของมีค่า” ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงต้องยอมจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อให้ได้มา..
และในบางครั้ง ก็เป็นพื้นที่แห่งการต่อรองอำนาจ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง อีกด้วย
เพราะริโมตทีวีแต่ละอัน สามารถใส่ปุ่มทางลัดได้อย่างจำกัด
ส่วนใหญ่แล้วอาจมีปุ่มทางลัดสำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิง เพียง 2-3 ปุ่ม เท่านั้น..
- แพลตฟอร์มสตรีมมิง จ่ายค่าปุ่มทางลัดบนริโมตทีวีเท่าไร ?
จากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ต้องยอมจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ผลิตทีวี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 บาท) ต่อริโมตทีวี 1 อัน ที่ขายออกไปพร้อมกับทีวี 1 เครื่อง
เพื่อนำปุ่มทางลัดเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเอง ไปไว้บนริโมตทีวี
อย่างไรก็ตาม บางครั้ง การนำปุ่มทางลัดไปไว้บนริโมตทีวี ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว
เพราะ Netflix เคยใช้วิธีในการ “บีบบังคับ” ให้บริษัทผู้ผลิตทีวี ต้องยอมทำปุ่มทางลัด Netflix ไว้บนริโมต
2
โดยหากไม่ยอมทำริโมตทีวี ที่มีปุ่มทางลัด Netflix
ผู้ผลิตทีวี ก็จะไม่สามารถทำให้ทีวีของตัวเอง รองรับการเข้าถึงแอปพลิเคชัน Netflix บนทีวีได้เลย..
4
หรือในทางกลับกัน แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ อาจมี “ระบบปฏิบัติการ” ที่ใช้กับสมาร์ตทีวี เป็นของตัวเอง โดยเปิดให้บริษัทผู้ผลิตทีวีรายอื่น ๆ สามารถนำระบบปฏิบัติการนี้ไปใช้ได้
แต่ก็แลกมาด้วยเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องมีปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเอง อยู่บนริโมตทีวีด้วย
โดยตัวอย่างของแพลตฟอร์มสตรีมมิง ที่มีระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวีเป็นของตัวเอง คือ Amazon Prime Video ของ Amazon ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวี Amazon Fire TV และ Roku Channel ของ Roku ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการสมาร์ตทีวี Roku TV
1
แม้การนำปุ่มทางลัดมาไว้บนริโมตทีวี ดูเหมือนว่าจะเป็นการต่อรองทางอำนาจ ระหว่างบริษัทผู้ผลิตทีวี และแพลตฟอร์มสตรีมมิง โดยต้องมีฝ่ายที่ “ได้เปรียบ” และ “เสียเปรียบ”
แต่ในความจริงแล้ว แพลตฟอร์มสตรีมมิงเอง ก็ยอมเสียเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งปุ่มทางลัดสำหรับแพลตฟอร์มของตัวเอง บนริโมตทีวี
เพราะอย่าลืมว่า การมีปุ่มทางลัดอยู่บนริโมต ย่อมทำให้ผู้ใช้งานทีวี สามารถเข้าถึงบริการของแพลตฟอร์มสตรีมมิงได้อย่างรวดเร็ว
แม้แต่ผู้ใช้งานทีวี ที่ไม่เคยสมัครสมาชิกของแพลตฟอร์มสตรีมมิงนั้นเลยก็ตาม ก็จะถูกดึงดูดให้กดปุ่ม และเข้าไปทดลองใช้งานได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งพวกเขาก็อาจปันใจเป็นลูกค้า ไปสมัครสมาชิกในที่สุด..
1
นั่นหมายความว่า ปุ่มทางลัดนี้ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือการโฆษณา ที่อยู่ในมือผู้ใช้งานทีวีทั่วโลก ให้กับแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ นั่นเอง
ส่วนในมุมมองของบริษัทผู้ผลิตทีวี แม้เงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 บาท) จะดูน้อย แต่อย่าลืมว่าริโมตทีวีแต่ละอัน ไม่ได้มีปุ่มทางลัดเพียงปุ่มเดียว ริโมตทีวีของบริษัทผู้ผลิตบางราย มีปุ่มทางลัดมากถึง 6 ปุ่ม..
 
นั่นหมายความว่า บริษัทผู้ผลิตทีวี ก็อาจได้เงินจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
และในแต่ละปี ตลาดทีวี ก็มีความต้องการจากผู้บริโภคอย่างมหาศาล อย่างในปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดทีวีทั่วโลก มียอดขายรวมกันทั้งสิ้นกว่า 210 ล้านเครื่อง
หรือหากต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ก็ต้องลองเจาะลึกไปที่ยอดขายทีวี ของบริษัทผู้ผลิตทีวีชื่อดังที่เป็นเบอร์ 1-2 ในตลาด อย่าง Samsung และ LG เฉพาะสองแบรนด์นี้ ก็มียอดขายทีวีไปแล้วกว่า 42 และ 27 ล้านเครื่อง ตามลำดับ
1
นั่นหมายความว่า ในแต่ละปี บริษัทผู้ผลิตทีวี ก็จะมีรายได้จากปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่างมหาศาล
เช่น สมมติขายทีวีได้ปีละ 40 ล้านเครื่อง ทีวีแต่ละเครื่อง มีริโมตที่มีปุ่มทางลัด 2 ปุ่ม
ดังนั้น ในแต่ละปี ผู้ผลิตทีวี ก็จะสร้างรายได้จากปุ่มทางลัดนี้กว่า 2,800 ล้านบาทแล้ว..
1
ซึ่งบริษัทผู้ผลิตทีวี สามารถนำเงินที่ได้จากปุ่มทางลัดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงนี้ มาทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อเครื่องของทีวีที่ขายออกไป ลดลงได้
และนั่นก็หมายถึงผลกำไร ที่บริษัทผู้ผลิตทีวีจะได้เพิ่มขึ้น โดยยังไม่นับรวมถึงวิธีการลดต้นทุนอื่น ๆ อีก..
1
โฆษณา