5 ม.ค. 2023 เวลา 12:30 • การเกษตร
ผมมองว่า
1) “เริ่มจากการเก็บข้อมูล”
“น้ำและดิน”
นำ้ในที่นี้หมายรวมถึง “ปริมาณนำ้ฝนและนำ้บาดาล” ในพื้นที่ที่เราสนใจ และอยู่ใน “เขตชลประทาน” ที่เราสามารถบริหารจัดการ “นำ้” สำหรับการเพาะปลูกได้ดีเพียงใด
โดยเราเองต้องค้นคว้าพอสมควร และอาจต้องขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ เป็นต้นว่า กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรนำ้, และหน่วยงานอื่นๆที่สังกัดกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์
เพราะ “นำ้” คือหัวใจในการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้นอกจาก “ปริมาณน้ำ” แล้ว “คุณภาพนำ้” ก็มีความสำคัญด้วย เนื่องจากตัวเราเองต้องพึ่งพานำ้นั้นในการอุปโภคและบริโภคด้วย เพื่อลดการพึ่งพา “น้ำประปา” หากพื้นที่นั้นอยู่นอกเขตการให้บริการน้ำประปา
1
ต่อมา ผมมองไปที่ “ดิน”
เพราะพืชแต่ละชนิด สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนประเภทจองดินที่แตกต่างกันไป
และผมมองว่า “หมอดิน” หรือท่านผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ที่เป็นทั้งนักวิชาการจากภาครัฐและเป็นชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรอาชีพ สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เราได้ รวมถึงข้อมูลบน Youtube ด้วย
และนอกจากนี้ “ทิศทางของลมและแสงแดด” ก็เป็นปัจจัยที่พิจารณากล่าวคือ
ในขั้นตอนการจัดวางตำแหน่งของ “ส่วนที่อยู่อาศัย” (residential area) เราควรวางตำแหน่งของบ้านให้อยู่ “เหนือลม” จาก ตำแหน่งของ “โรงเรือนเลี้ยงสัตว์”
เพราะสัตว์เลี้ยงจะมีการขับถ่ายที่จะส่งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ออกมา และกลิ่นนั้นจะถูกพัดพาไปตามทิศทางลมนั่นเอง
ส่วน “แสงแดด” นั้น
เป็นองค์ประกอบสำคัญในการ “สังเคราะห์แสง” ของพืช และกระบวนการนี้คือหัวใจในการ “เจริญเติบโตของพืช”
และแน่นอนว่า “บ้านที่อยู่อย่างเย็นสบาย” ย่อมขึ้นอยู่กับทั้ง “ปริมาณและทิศทางของกระแสลมและแสงแดด” ที่เหมาะสม
2) “ขั้นตอนการออกแบบ”
ครับ ถึงขั้นตอนนี้ เราก็มานั่งคิดว่า ในพื้นที่ของเรานั้น สามารถ “จัดวาง” สิ่งใดได้บ้าง ใน “ขนาดและปริมาณ” ที่เหมาะสมอย่างไร
เช่น เรามีพื้นที่ 3 ไร่
เราควรขุด “หนองนำ้” กี่จุด และแต่ละจุดควรมีความกว้างและลึกเท่าใด
และ “ดิน” ที่ได้จากการขุด “หนองนำ้” เราจะนำไปถมเป็น “โคก” ได้กี่จุด และได้สูงเพียงใด
จากนั้นก็มาพิจารณาว่า เราต้องการพื้นที่สำหรับ “โรงเรือนเลี้ยงสัตว์เลี้ยง” และจัดวางตำแหน่ง “ส่วนพักอาศัย” หรือ “โรงเรือนเพาะเห็ด” หรือ “โรงเรือนทำปุ๋ยชีวภาพ” และพื้นที่เพาะปลูกไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก อย่างไร ตาม “ข้อมูล” ที่เราได้หาไว้ข้างต้น!
และเทคนิคในการขุด “หนองนำ้” ที่สำคัญคือ
หากเราต้องการเลี้ยงปลาหรือสัตว์นำ้ เราควรขุด “พื้นหรือก้นของหนองนำ้” ให้มีส่วนที่ตื้นพอที่แสงแดดจะส่องลงไปได้ด้วย” เพราะเมื่อแสงแดดส่องถึงพื้นดินใต้น้ำ บริเวณนั้น “พืชนำ้” บางชนิดสามารถเติบโตได้ และมันจะเป็น “อาหาร” ของปลาและสัตว์นำ้ที่เราเลี้ยงได้เป็นอย่างดี!
อนึ่ง คุณสมบัติที่ดีของ “โคกหนองนา” คือ เราสามารถทำการเพาะปลูกพืชบน “คันนา” ได้ด้วย เพื่อเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ
และผมมองว่า “โคกหนองนา” ที่ดี ควร
“ช่วยให้เรามีนำ้ใช้ในฤดูแล้ง” และ
“ช่วยให้เราปลอดภัยจากนำ้ท่วมในฤดูน้ำหลาก”
1
โดย “ความลึก” ของ “หนองนำ้” ควรลึกไม่ตำ่กว่า 3.65 เมตร
เนื่องจากอัตราเร็วของการระเหยของน้ำโดยประมาณอยู่ที่ 1 เซนติเมตรต่อวัน
นั่นคือ ในหนึ่งปี นำ้จะระเหยไปทั้งหมดราว 365 cm หรือ 3.65 เมตรนั่นเอง!
หากเราขุดหนองนำ้ให้มีความลึกกว่า 3.65 เมตร เราอาจมีนำ้เหลือใช้ในหน้าแล้งได้ด้วย!
3) จากข้อมูลที่ผมลองค้นคว้าดู มีข้อพึงพิจารณาเพิ่มเติมคือ
>ทางเข้า-ออกพื้นที่
ตำแหน่งของถนนหรือทางเข้าบ้านไม่ควรอยู่ติดขอบฝั่งใดฝั่งหนึ่งของพื้นที่ อาจวางอยู่กลางพื้นที่ หรือหากพื้นที่หน้าแคบควรวางตำแหน่งทางเข้าให้อยู่ 2 ใน 3 ของพื้นที่ และให้มีทางออกอยู่ทางด้านหลังของพื้นที่
>โครงสร้างหลัก
บ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ควรอยู่บนโคก ซึ่งสามารถมีโคกได้หลายแห่ง เช่น บ้านอยู่โคกหนึ่ง เล้าเป็ด เล้าไก่ และโรงปุ๋ย อยู่อีกโคกหนึ่ง เป็นต้น
>ตำแหน่งของบ้าน
การกำหนดตำแหน่งบ้านขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของพื้นที่ หากต้องการความสงบเป็นส่วนตัว อาจวางตำแหน่งให้อยู่ลึกเข้าไปกลางแปลงหรือท้ายแปลง โดยให้คำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
i) ทิศทางแสง เป็นสิ่งสำคัญด้วยความที่ประเทศไทยแสงอาทิตย์อ้อมใต้ 8 เดือน จึงไม่ควรวางตำแหน่งบ้านหันหน้าทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เราอาจจะวางตำแหน่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ii) ทิศทางลม ตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงเรือน โรงปุ๋ย เล้าเป็ด และเล้าไก่ ซึ่งมีกลิ่นจึงไม่ควรวางให้อยู่ในทิศทางของแนวลม เพื่อไม่ต้องรับกลิ่น ซึ่งแกนลมของประเทศไทยพัดในแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้
iii) ทิศทางของเสียง หากมีสัตว์เลี้ยงจะมีเสียงรบกวนได้ จึงควรวางตำแหน่งของส่วนเลี้ยงสัตว์ให้ไกล
จากตัวบ้าน
>กำหนดพื้นที่กิจกรรมส่วนต่าง ๆ
-โคก หากเป็นพื้นที่ราบ ให้นำดินที่ได้จากการขุดหนองน้ำและคลองไส้ไก่ นำมาถมเป็นโคก หากพื้นที่เป็นภูเขาก็จะเป็นโคกตามธรรมชาติอยู่แล้ว
หลักกสิกรรมธรรมชาติเน้นการปลูกป่าบนโคก เป็นการเก็บน้ำไว้ใต้ดินและเพื่อให้การเก็บน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกจะทำให้น้ำที่อยู่ในโคกกระจายลงสู่พื้นที่ได้ดี
-หนองน้ำ ให้สังเกตว่าน้ำไหลมาทางไหน แล้วกำหนดตำแหน่งคลองไส้ไก่เพื่อเชื่อมโยงกับหนองน้ำ คำนวณปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ หากพื้นที่มีขนาดใหญ่อาจจะต้องมีหนองน้ำหลายแห่ง
-นา ควรอยู่ในตำแหน่งที่รับลมฝน ซึ่งลมฝนมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยกำหนดขนาดแปลงนาตามที่เราต้องการ
-ป่า การปลูกป่า 5 ระดับแบบผสมผสาน เพื่อให้มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หากมีส่วนที่เป็นป่าอยู่แล้ว อาจจะปลูกป่าเพิ่มได้ แต่ระวังอย่าให้เป็นป่าทึบในส่วนที่ต้องการให้ลมฝนผ่าน และไม่ควรสร้างบ้านใกล้พื้นที่ป่าเพราะกิ่งไม้อาจจะหักลงมาเป็นอันตรายได้
-การปลูกต้นไม้ วางแผนการปลูกต้นไม้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ว่าเราต้องการเน้นไม้ประเภทใดเป็นหลัก
เพื่อให้เราสะดวกในการจัดการสิ่งนั้น ๆ เช่น พื้นที่ที่ปลูกไม้ผล ซึ่งต้องการการตัดแต่งกิ่งและการเก็บผลผลิตอยู่เสมอ จะต้องเป็นตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก
เมื่อได้โครงสร้างหลักแล้ว จึงเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยตามความชอบ เช่น พื้นที่ปลูกผัก หรือปลูกดอกไม้ ซึ่งต้องการการดูแลมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ แปลงผักจึงควรอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งอาจจะมีหลาย ๆ แปลงรอบบ้าน ส่วนพื้นที่ปลูกไม้ดอก ควรอยู่ในพื้นที่ที่เรามองเห็นและสามารถได้กลิ่นหอมของดอกไม้
-ทางสัญจร ทำทางสัญจรเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่กิจกรรมส่วนต่าง ๆ
-ทางน้ำ หลังจากกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ตามความต้องการของเราแล้ว ให้ดูว่าน้ำสามารถไปถึงทั่วทุกพื้นที่หรือไม่ หากจุดไหนไม่ถึงให้เชื่อโยงด้วยคลองไส้ไก่ขนาดเล็กเพื่อเป็นตัวส่งน้ำให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่
-ตรวจสอบแก้ไขแบบ
เมื่อเราวางตำแหน่งโครงสร้างต่าง ๆ ครบแล้ว ให้พิจารณาว่ากิจวัตรประจำวันของเรามีอะไรบ้าง หากส่วนใดเห็นว่าไม่สะดวกก็สามารถปรับแก้ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของเรา โดยสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการอบรมและขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการและเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้พื้นที่สูงสุด
4) “ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร”
ครับ หากเราต้องการทำ “โคกหนองนา” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย
เราก็มีข้อพิจารณาอื่นๆเพิ่มเติม เป็นต้นว่า
-พื้นที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
-การจัดการขยะ
-แหล่งพลังงานเพิ่มเติม
5) posts ของผมที่อาจเป็นประโยชน์
-พลังงานแสงอาทิตย์
-พื้นฐานความรู้เรื่องปั๊มนำ้
-เครื่องมือช่างพื้นฐานที่คุณอาจจะอยากมีติดบ้านไว้
“Note:”
นี่เป็น post แรกของผมในปี 2023
สวัสดีปีใหม่อีกครั้งสำหรับ fc ทุกท่านครับ!
โฆษณา