6 ม.ค. 2023 เวลา 02:04 • การศึกษา
อัมพปาลี-อภัยมาตา-วิมลา-อัฑฒกาสี อดีตโสเภณีบวชเป็นภิกษุณี สู่ใต้ร่มพระศาสนา
อัมพปาลี อดีตโสเภณีบวชเป็นภิกษุณี
อาจารย์พระมหาสังเวย ธมมเนตติโก และ อาจารย์ ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ได้เขียนถึงภิกษุณี สมัยพุทธกาลผู้สำเร็จอรหัตตผลไว้อย่างน่าสนใจ ท่านแรกนำเสนอในรูปของงานวิจัยชื่อภิกษุณีกับการบรรลุอรหัตตผล ส่วนท่านหลังเขียนเป็นหนังสือชื่อภิกษุณี : พุทธสาวิกาครั้งพุทธกาล ซึ่งมีทั้งหมด 73 รูป จากจำนวนภิกษุณีทั้งหมดนับจำนวนหมื่น บางรูปบรรลุอรหัตตผลโดยรวดเร็วและยังไม่ทันได้บวชด้วยซ้ำ แต่บางรูปกว่าจะบรรลุอรหัตตผลต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่งและใช้เวลานานจนเกือบตลอดชีวิต
ภิกษุณีผู้บรรลุอรหัตตผลส่วนใหญ่มีภูมิหลังมาจากวรรณะพราหมณ์และกษัตริย์ มีไม่มากนักที่มาจากวรรณะแพศย์ มีเพียง 1 รูปเท่านั้นที่มาจากวรรณะศูทร คือ ชั้นผู้ใช้แรงงาน
เป็นที่น่าสนใจมากที่มีภิกษุณี 4 รูป เคยมีอาชีพเป็นโสเภณีมาก่อน ท่านเหล่านี้ไม่มีวรรณะ อาจเป็นวรรณะที่เรียกว่าโอปปาติกะก็ได้ คือไม่มีพ่อแม่ คล้ายๆ กับว่าครั้งเมื่อเป็นทารกถูกนำไปทิ้ง แต่มีผู้ใจดีเก็บมาเลี้ยงไว้ เมื่อโตขึ้นเป็นคนสวย จึงได้ประกอบอาชีพโสเภณีก่อนจะอุทิศตนบวชเป็นภิกษุณี คือ ท่านอัมพปาลี ท่านอภัยมาตา ท่านวิมลา และท่านอัฑฒกาสี
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีความแตกต่างจากอาชีพนางคณิกาอยู่บ้าง และ คล้าย ๆ อย่างหลังมีฐานะสูงกว่า คือ มีความหมายตามตัวอักษรว่าเป็นนางของหมู่คณะและเฉพาะบางหมู่คณะเท่านั้น แต่มิใช่นางของสาธารณะ เช่น อัมพปาลีเป็นคนงาม ฐานะทางสังคมสูงมาก เพราะได้รับการแต่งตั้งจากสภาแคว้นวัชชี หมู่คณะที่เกี่ยวข้องกับเธอล้วนแต่อยู่ในแวดวงของพระราชา ราชบุตร กับพระสหายสนิทเท่านั้น ทั้งมีค่าตัวแพงลิบลิ่ว และ นางคณิกาได้รับการยกย่องสูงส่ง
ในนวนิยายกามนิต–วาสิฏฐี นางคณิกาของเมืองอุชเชนี เป็นที่ชื่นชมมากตั้งแต่พระราชาลงมาถึงสามัญชน พวกเธอเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นมงกุฎดอกไม้หลายสีสถิตอยู่เหนือฐานศิลา (The many coloured floral crown of the rock – entroned Ujjeni) คำว่านางคณิกา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า courtesans ส่วนโสเภณี มีสถานะต่ำกว่า มีฐานะเป็นสาธารณะ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า prostitute ส่วนที่ต่ำกว่าคือนางเทพทาสี (bajadere)
เคยเขียนถึงนางอัมพปาลีมาครั้งหนึ่งโดยโยงมาถึงยายแฟง ผู้มีใจกุศลสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่ง ด้วยใจอันมุ่งมั่นเรียกว่าวัดคณิกาผลอยู่จนวันนี้
หากจะเทียบฐานะทางสังคมและความมั่งคั่งของนางอัมพปาลีแล้วเหนือกว่ายายแฟงมาก ด้วยฝ่ายแรกถวายสวนมะม่วงขนัดใหญ่ สวยงามและร่มรื่นแด่พระพุทธองค์เพื่อปรับแต่งเป็นพระอาราม ไม่แต่เท่านั้นเมื่อเธอกำหนดวันทำบุญถวายอาหารและสวนมะม่วงแก่พระศาสนา พระราชาแห่งเมืองมาขอให้เธอเลื่อนวันทำบุญออกไปอีกวันหนึ่ง ด้วยพระองค์มีพระประสงค์ต้องการวันที่เธอกำหนดไว้ เธอยังไม่อาจเลื่อนออกไปตามพระประสงค์แม้จะทรงชดเชยเงินให้เป็นแสน ก็ยังไม่ยอมอยู่ดี ซ้ำยังท้าทายด้วยว่า
แม้จะทรงยกเมืองสาวัตถีที่ทรงครองอยู่ให้เธอก็ยังไม่ยอม อัมพปาลีมีอำนาจมากจริง ๆ
อัมพปาลี มีภูมิหลังอย่างไร เกิดวรรณะไหน ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าเธอสวยมากและเฉลียวฉลาด เมื่อได้รับแต่งตั้งโดยสภาแคว้นวัชชี เป็นนางคณิกาของเมืองเวสาลี เธอยื่นเงื่อนไขขอความสะดวกสบาย ความเป็นอิสระ และความเป็นส่วนตัวไว้ค่อนข้างมาก คือ ต้องมีบ้าน มีทรัพย์ มีสวนส่วนตัว รวมทั้งข้าทาสบริวารและรถเทียมม้า
ไม่มีพระราชา หรือ ราชวงศ์องค์ใดใช้บริการนางคณิกาของเธอได้เกินกฎที่กำหนด คือ ครั้งหนึ่งก็คืนหนึ่งเท่านั้น และแน่นอนด้วยราคาแพงลิบลิ่ว คืนละ 50 กหาปนะ (เท่ากับเงินหนัก 200 บาท)
พระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นที่ได้สิทธิพิเศษใช้บริการนานถึง 1 สัปดาห์ ด้วยเป็นพระราชารูปหล่อ นางพึงพอใจและนางได้ให้พระโอรสแก่พระเจ้าพิมพิสารองค์หนึ่ง นามพระโอรสว่า วิมลโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้ออกบวชและบรรลุอรหัตตผล จากนั้นจึงไปแสดงธรรมโปรดมารดาผู้มีศรัทธาสละชีวิตฆราวาส ออกบวชจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด
พระเจ้าพิมพิสารมีพระชนมายุน้อยกว่าพระพุทธองค์ 5 พรรษา ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าชายรูปงาม ผิวดังทองคำ อัมพปาลีหลงใหลถึงกับให้ช่างเขียนรูปประดับห้องนอนไว้เป็นที่ระลึกเลยทีเดียว พระเจ้าพิมพิสารเองก็เคยตั้งนางสาลวดีขึ้นเป็นคณิกาแห่งราชคฤห์ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
สำหรับพระอภัยมาตานั้น เกิดในวรรณะใดไม่ปรากฏ ท่านมีนามเดิมว่าปทุมวดี (เพราะมีผิวผ่องงามดุจดอกบัว) เป็นชาวอุชเชนี แคว้นอวันตี และโดยวิถีแห่งความเป็นคณิกาของเมือง เธอเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องใจพระเจ้าพิมพิสารพระองค์นั้นอย่างมาก จนได้พระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าเจ้าชายอภัย และเธอก็ได้ชื่อว่าอภัยมาตา แปลว่า มารดาของเจ้าชายอภัย ส่วนความหมายของพระนามอภัยก็คือ ไม่มีภัย
พระอภัยมาตาได้เลี้ยงดูบุตรอย่างดียิ่ง ครั้นอายุครบ 7 ขวบ เธอก็ส่งให้ไปกราบพระบิดาโดยมีพระธำมรงค์องค์หนึ่งถือไปเป็นสักขีพยาน พระธำมรงค์องค์นี้พระเจ้าพิมพิสารได้มอบให้เธอไว้ก่อนจากไปในครั้งกระโน้น
เจ้าชายอภัยได้เข้าเฝ้าพระบิดาด้วยลีลาอันกล้าหาญ ปราศจากความตื่นกลัว พระองค์จึงโปรดประทานนามให้ว่า เจ้าชายอภัย แปลอีกความหมายหนึ่งว่า “ผู้ไม่มีความกลัว” ทรงเลี้ยงดูดีเสมอด้วยเจ้าชายอชาตศัตรูพระโอรสองค์ใหญ่
ต่อมาเจ้าชายอชาตศัตรูชิงราชสมบัติ จับพระบิดาทรมานจนสวรรคต เจ้าชายอภัยทรงสลดใจมาก จึงเสด็จออกบวชและได้อรหัตตผลในไม่ช้า จากนั้นจึงเดินทางไปอุชเชนีเพื่อเทศน์โปรดพระมารดา ซึ่งพระอภัยมาตาได้เลิกชีวิตคณิกาออกบวชและบรรลุอรหัตตผลเช่นกัน
สำหรับพระภิกษุณีอีก 2 รูป คือ ท่านวิมลาเถรี และ ท่านอัฑฒกาสีเถรีทั้ง 2 ท่านมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก คือ
ท่านแรกเป็นโสเภณีมาแต่กำเนิดคือมีมารดาเป็นโสเภณีมาก่อนตนเองก็จำเป็นต้องเป็นโสเภณีโดยการสืบต่อ
ส่วนท่านหลังนั้นเคยเป็นโสเภณีมาตั้งแต่ชาติปางก่อนกลับมาเกิดอีกชาติหนึ่งก็ยังเป็นโสเภณีอยู่เนื่องจากเป็นคนสวยมากมีค่าตัวแพงจำเป็นต้องลดค่าตัวลงมาครึ่งหนึ่งจึงได้ชื่อว่าอัฑฒกาสี คือ มีราคาเป็นครึ่งหนึ่งของราคาจริงตามกำหนดของแคว้นกาสี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และ วัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย
หมายเหตุ : บทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมชื่อว่า ภิกษุณีกับชีวิตโสเภณี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2561
โฆษณา