6 ม.ค. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง
ภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564 และช่วงแรกของปี 2565 อ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง
จนการส่งออก 2 เดือนล่าสุด คือ ตุลาคม (-3.6%) และพฤศจิกายน (-5.5%) กลับทิศทางจากขยายตัวมาเป็นหดตัว
โดยตัวเลขการส่งออกไปตลาดสำคัญของไทยหลายแห่งประกาศออกมาติดลบในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งจีน (-9.9%) ญี่ปุ่น (-4.61%) ASEAN 5 (-9.46%)
นอกจากนี้ อีก 2 ตลาดสำคัญ อย่างสหรัฐอเมริกา (+1.16%) และสหภาพยุโรป (+0.4%) ที่แม้ตัวเลขจะประกาศออกมาเป็นบวกเล็กน้อย แต่ก็เป็นการชะลอตัวลงอย่างมากจากช่วงต้นปี ที่การส่งออกไปตลาดกลุ่มนี้ขยายตัวได้เกินสองหลัก
ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทยมากขึ้นแล้ว ผ่านการบั่นทอนอำนาจการซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ภาคการส่งออกปรับหดตัวลง
📌 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปอีกสักระยะ
ซึ่งแนวโน้มของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ก็ยังมีทิศทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีกสักพัก หนึ่งในดัชนีทางเศรษฐกิจที่แสดงภาพไปในทิศทางนั้น คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดล่วงหน้า (Leading Indicator) ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
โดยระดับ PMI เท่ากับ 50 หมายถึง ระดับที่คาดการณ์ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าต่ำกว่า 50 ก็หมายถึง คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในช่วงถัดไปจะหดตัวลง
ซึ่งจะเห็นได้ว่า PMI ของเศรษฐกิจสำคัญของโลกยังอยู่ในแดนต่ำกว่า 50 เช่น สหรัฐฯ ที่ Manufacturing PMI ออกมาอยู่ที่ 46.2 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเกิดคู่กันไปกับการประกาศปลดพนักงานของบริษัทในสหรัฐฯ ที่มีประกาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจ
ในส่วนของจีน ตัวเลข PMI ที่ 49 ก็ยังออกมาชี้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวในช่วงถัดไป เนื่องจากความกังวลในการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
หรือกลุ่มยูโรโซน ที่แม้ตัวเลข PMI จะปรับมาดีขึ้นเล็กน้อยจาก 47.1 มาอยู่ที่ 47.8 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนการหดตัวในช่วงถัดไปอยู่ อันเกิดมาจากปัญหาราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อสูงที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของพวกเขาที่ยังไม่จบ
ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่สภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตอนนี้ เพราะมันสร้างต้นทุนค่าครองชีพให้กับประชาชนและต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่หากปล่อยไว้ไม่จัดการ จะกลายเป็นปัญหาด้านความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วย
อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก็กลายมาเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจ และก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ณ ปัจจุบัน
ซึ่งตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อก็เริ่มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อย่างไรก็ดี แม้จะปรับลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
อ้างอิงจาก HWWI ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อ แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงมาแล้วอย่างมาก จากระดับสูงสุดของปีที่แล้วที่ดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 388.2 แต่ตอนนี้ดัชนีลงมาสู่ระดับต่ำกว่า 250 แล้ว
อย่างไรก็ดี ระดับนี้ก็ยังเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงวิกฤติการเงินโลกและช่วงสงครามการค้าระลอกแรก
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ยังอยู่ระดับค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจากธนาคารกลางจะคงอยู่ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งสอดคล้องไปกับรายงานการประชุมย่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดการณ์ว่า จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยระดับสูงไปทั้งปี 2566
📌 ภาคการท่องเที่ยวไทยยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง
แต่ท่ามกลางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยยังมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เป็นเพราะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวได้อย่างเต็มที่ จึงมีอุปสงค์ที่อัดอั้นอยู่ และมาปลดปล่อยในช่วงนี้ จนบางคนเรียกว่า “Revenge Travel” หรือ “เที่ยวล้างแค้น”
ทำให้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งไทยผ่อนคลายนโยบายการเดินทางเข้าประเทศ จนทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยจำนวนมาก
โดยใน 11 เดือนแรก ไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 9 ล้านคน และทั้งปีคาดว่า ตัวเลขสุดท้ายจะออกมาราว 11 ล้านคน ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านคน
นอกจากนี้ ข้อมูลอัตราการเข้าพักแรมล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นไปอยู่ระดับมากกว่า 60% แล้ว ถือเป็นระดับที่สูงสุด นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ชี้ให้เห็นว่า การท่องเที่ยวอยู่ในทิศทางบวกอย่างแข็งแกร่ง
และการเปิดประเทศของจีนที่พึ่งประกาศออกมาล่าสุดก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หนุนภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 โดยในปี 2562 ที่ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้ 5.3 แสนล้านบาท
ภาคอุปสงค์ภายในประเทศก็ได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) และ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) จะค่อนข้างทรงตัวจากข้อมูลเดือนล่าสุด
แต่การบริโภคภาคบริการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในตอนนี้ใกล้กลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก็เกิดมาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา