6 ม.ค. 2023 เวลา 05:40 • ปรัชญา

แนวคิดของพุทธศาสนา เข้าใจง่ายกว่าที่คิดมาตลอด..

...ย้อนกลับไป ช่วงก่อนที่จะได้เข้าไปเรียน ป.ตรี ตัวผู้เขียนเองก็มีความสงสัยอยู่ตลอด ว่าแก่นที่แท้จริงของพุทธศาสนาเนี่ย คืออะไรกัน ที่เราเข้าใจคือ พระพุทธรูป นี่เราไม่จำเป็นต้องไหว้ไม่ใช่หรอ ศาลต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องไหว้ไม่ใช่หรอ แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้เท่าไรนัก เพราะเราเองก็ไม่มีแหล่งที่จะศึกษาเรื่องนี้ได้เต็มที่เท่าไร(แค่ไปวัด ยังไม่อยากไปเลย มีแต่ของปลุกเสก ไม่รู้เลยว่าต้องไปวัดไหน ที่จะไม่เจอของปลุกเสก 555)
พอเข้ามหาวิทยาลัย ได้เข้าเรียน สาขาปรัชญาและศาสนา ตอน ป.ตรี ช่วงปี1 ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ในวิชา "พุทธปรัชญา" ที่พอจำได้ลาง ๆ ว่าทำไมถึงเรียกว่าพุทธปรัชญา ประมาณว่า ตะวันตกมอง "พุทธ" เป็นเหมือนปรัชญามากกว่า แล้วแต่ละสิ่งที่เขาสอน เราก็รู้สึกทึ่งมากว่า เฮ้ย! ทำไมอาจารย์สอนได้เข้าใจง่ายจัง ถ้ามันเข้าใจง่ายแค่นี้ แล้วตั้งแต่ประถม มัธยม เราเรียนอะไรอยู่เนี่ย!!!
ผู้เขียนจึงสรุป แนวคิดของพุทธ(นิกายเถรวาท) ให้ตัวเองเข้าใจประมาณนี้
1. แท้จริงเราเป็นเพียงแค่ "กอง" ซึ่งกองในที่นี้ คือ ขันธ์5 หรือก็คือ ร่างกายของเราเกิดจากการรวมกันของธาตุทั้ง4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งอยู่ใน รูปขันธ์ ซึ่งหมายถึงส่วนร่างกายที่จับต้องได้ และขันธ์ที่เหลือ เวทนา สัญญา สังขาร นั้นเป็นส่วนของนามขันธ์ คือ เรื่องของความรู้สึก ความจำได้ และวิญญาณ คือ สิ่งที่เข้าไปรับรู้ผ่านผัสสะต่าง ๆ เช่น การได้ยิน หูเป็นสิ่งรับเสียง ส่วนวิญญาณก็เข้าไปทำหน้าที่รับรู้เสียง
2. แก่นแนวคิดหลักของพุทธ คือ ไตรลักษณ์(ลักษณะ 3 อย่างที่เกิดขึ้นกับทุกสิ่ง) ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจัง คือ ความไม่คงที่ ไม่เที่ยง มีการตั้งอยู่และต้องดับไปในที่สุด
ทุกขัง คือ สภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ ดังเช่น โต๊ะตัวหนึ่งแม้ภายนอกจะดูเหมือนเดิม แต่10ปีผ่านไป แต่โมเลกุลข้างในของโต๊ะตัวนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป ทนอยู่แบบเดิมไม่ได้
อนิจจัง คือ ไม่มีตัวตน ตัวตนในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งอย่าง เช่น ตัวเราเองหากแยกออกมา ก็จะพบเพียงธาตุ4 ขันธ์5 ไม่มีส่วนไหนคือตัวของเราเลย
3. ทุกสิ่งเป็น "เหตุ" และ "ผล" หากฝนตก ไม่ใช่เพราะพระเจ้าประทาน แต่เป็นเพราะการรวมกันของเมฆและไอน้ำควบแน่น หรือ หากเราล้มละลาย เพราะเราบริหารความเสี่ยงทางการเงินไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี แล้วเศรษฐกิจไม่ดีเพราะอะไร
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น มันจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้
3. นรก สวรรค์ อรูปพรหม พรหม เทวดา สัตว์นรก เปรต สิ่งเหล่านี้มีอยู่ "จริง" ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือภพภูมิต่าง ๆ ที่เรามีโอกาสได้ไปเกิด แต่ไม่สลักสำคัญอะไร สิ่งสำคัญคือ เราจะ"หลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด"ได้อย่างไร
4. "กระบวนการที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด" เรียกว่า ปฏิจสมุปบาท(ทางสายเกิด) เริ่มจาก อวิชชา เป็นเหตุปัจจัย จึงเกิดสิ่งอื่น ๆ ต่อเนื่องเป็นลำดับ จนไปถึงทำให้เกิด ภพ ชาติ ชาติมรณะ วนเวียนไปไม่สิ้นสุด(ซึ่งทุกขั้นตอนเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว จนเราไม่ทันสังเกต) ซึ่งนอกจากทางสายเกิด ก็ยังมีทางสายดับ ที่จะทำให้เราสามารถดับ ปฏิจสมุปบาท ได้
5. "อริยสัจ4" ทำให้เราเข้าใจทุกข์และพบหนทางดับทุกข์ จาก4ข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนอยู่ในอริยสัจ4 และหนทางที่จะดับทุกข์ได้ ก็คือ มรรค8
6. ข้อสุดท้ายนี้ คือ แม้จะมีสิ่งแปลกประหลาด ปาฏิหารย์ อย่างไร การวิงวอนไม่เคยได้ผล การไหว้พระขอพร ล้วนไม่มีประโยชน์อันใด การที่พึ่งพาตนเองคือสิ่งที่ได้ผลอย่างที่สุด และสิ่งที่ควรเคารพคือพระธรรม ไม่ใช่พระพุทธรูป เพราะตัวแทนของพระพุทธเจ้า คือ คำสอนที่ได้ทิ้งเอาไว้
... จากทั้ง 6 ข้อ ล้วนมีรายละเอียดลงลึกให้ศึกษาลงไปอีกมากมาย แต่หากเข้าใจแนวคิดของพุทธประมาณนี้ เราจะรู้สึกว่าพุทธศาสนา ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด
ปล. ยังมีคำสอนที่ผมจดจำได้อีกอย่าง คือ กาลามสูตร หรือการไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ แม้แต่ที่อาจารย์สอนมา หรือแม้แต่บทความที่คุณกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ เพราะผู้เขียนเพียงต้องการบอกเล่าตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง แนวคิดเหล่านี้ควรเชื่อหรือไม่อยู่ที่คุณผู้อ่าน
...เพราะผมนั้นเป็นนักคิดและยังคงคิดต่อไปว่า คำสอนถูกบันทึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แล้วคำสอนเหล่านี้ถูกต้องทั้งหมดจริงหรือไม่ และผมคงไม่มีทางหยุดคิดได้ว่าความเชื่อใดผิดถูก เพียงแค่เราตั้งคำถามให้ผู้คนได้คิดตามก็พอแล้ว :)
โฆษณา