7 ม.ค. 2023 เวลา 12:27 • การตลาด

“เมนไทโกะ” การตลาดแบบคนใจกว้าง

ช่วงปีใหม่ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารที่ร้านอิซากายะร้านหนึ่ง ภรรยาสั่งเมนไทโกะ (ไข่ปลาดองเค็ม) มาทานทำให้ผมนึกถึงเรื่องเมนไทโกะจากหนังสือ Makoto Marketing ของ อ เกตุขึ้นมา
เป็นเรี่องของร้านไข่ปลา Fukuya แห่งจังหวัดฟุกุโอกะที่ในยุค 1950 ได้ลองดองไข่ปลาเพราะคิดถึงไข่ปลาดองตอนที่อยู่เกาหลี เขาใช้เวลาคิดค้นสูตรอยู่ 8 ปีจนได้ไข่ปลาดองที่มีรสชาติที่ต้องการ และตั้งชื่อว่า “เมนไทโกะ”
จากนั้นก็เริ่มขาย หลังจากขายมาได้หลายปีเมนไทโกะก็เริ่มมีชื่อเสียงกระจายไปในจังหวัดอื่น และเมนไทโกะก็เป็นสินค้าที่สร้างชื่อให้แก่ฟุกุโอกะ จนร้านอื่นติดต่อมาเพื่อขอซื้อเพื่อจะไปขายต่อแต่เจ้าของร้านกลับสอนวิธีทำเมนไทโกะให้แทนโดยที่มีข้อแม้ว่าต้องทำให้รสชาติแตกต่างจากที่ร้าน
เพราะเมื่อเราพูดถึงอาหาร ความพึงพอใจในรสชาติของเราแตกต่างกัน บางคนชอบเค็ม บางคนชอบเผ็ดทำให้แม้จะเป็นสินค้าแบบเดียวกันแต่ก็อยู่ในตลาดร่วมกันได้ การมีสินค้าที่มีรสชาติเดียวไม่อาจสร้างความพอใจกับทุกคนได้ การที่มีสินค้าในตลาดมากขึ้น แต่ละคนช่วยกันทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น ตลาดก็จะขยายได้มากขึ้น
ผมเห็นภาพนี้ในสังคมคราฟท์เบียร์ไทยเช่นกัน ถ้าเรามีสินค้ามากขึ้น เข้าถึงนักดื่มมากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อทุกแบรนด์ ถ้าเรามองว่าอยากมีสินค้าคนเดียวผูกขาดตลาดด้วยสินค้าของเราอย่างเดียว ความนิยมในผลิตภัณฑ์ก็จะโตอย่างเชื่องช้า
ปัจจุบันนักดื่มนิยมใน Witbier มีคนออกสินค้าเป็น Wit มากขึ้นตลาดก็ครึกครื้น ที่เหลือก็คือแต่ละแบรนด์จะทำสินค้าให้คุณภาพดี การตลาดที่ดี และราคาที่เหมาะสมและเมื่อองค์ประกอบของการตลาดลงตัวผลลัพธ์ก็จะออกมาเอง พบกันใหม่คราวหน้า
SPACEMAN
โฆษณา