8 ม.ค. 2023 เวลา 04:52 • ข่าวรอบโลก

เลือกไม่รู้กี่รอบ! การเลือกประธานสภาฯ อเมริกาอันไม่ราบรื่น

ทำไมสภาอเมริกาจึงต้องลงมติถึง 15 ครั้ง ถึงจะเลือกประธานสภาฯ​ ได้สำเร็จ
เป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เมื่อสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ของสหรัฐฯ ต้องลงมติถึง 15 ครั้ง กว่าจะสามารถเลือกนายเควิน แมคคาร์ธี ผู้นำพรรครีพับลิกันในสภา เป็นประธานสภาฯ คนใหม่ได้
ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ต่างจากตำแหน่งประธานสภาฯ ของไทยพอสมควร เนื่องจากประธานสภาฯ ไม่ได้มีหน้าที่ในการควบคุมการประชุมสภาเป็นหลัก แต่กลับทำหน้าที่คัดเลือกร่างกฎหมายที่จะได้รับการพิจารณาโดยรัฐสภา แต่งตั้ง ส.ส. ที่ได้นั่งในคณะกรรมาธิการต่างๆ และเป็นผู้รวบรวมเสียงในสภาเพื่อผลักดันนโยบายของพรรคเสียงข้างมาก นอกจากนี้แล้ว ประธานสภาฯ ของอเมริกา ยังอยู่ในลำดับการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีอีกด้วย โดยอยู่ในลำดับที่สอง หลังจากรองประธานาธิบดี
นายเควิน แมคคาร์ธี เป็น ส.ส. พรรครีพับลิกันจากแคลิฟอร์เนีย เขาเป็นผู้นำของพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนฯ มาหลายปี แต่ในปี 2015 เมื่อเขาลงรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาฯ เขากลับรวบรวมเสียงในพรรคของตัวเองไม่ได้ จึงทำให้เขาต้องสละตำแหน่งไป แต่เขาก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นประธานสภาฯ ให้ได้ในวันข้างหน้า
หลังจากที่พรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งมิดเทอมอย่างฉิวเฉียดเมื่อปีที่แล้ว ก็มีการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางว่า นายแมคคาร์ธีจะพบกับอุปสรรคในการคว้าตำแหน่งประธานสภาฯ​ อีกครั้งแน่นอน เพราะเสียงปริ่มน้ำของพรรครีพับลิกันทำให้เขาจะเสียเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ในพรรคได้แค่สี่คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นายแมคคาร์ธีก็แสดงความมั่นใจด้วยการย้ายเข้าไปใช้ห้องทำงานของประธานสภาฯ ตั้งแต่ยังไม่ได้รับเลือกตั้ง
1
ในวันที่ 3 มกราคม มีการประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาฯ แต่ในการลงมติที่ตามมาถึง 14 ครั้ง นายแมคคาร์ธีไม่สามารถรวบรวมเสียงมากกว่าครึ้งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเลยสักครั้ง โดยมีสมาชิกพรรครีพับลิกันถึง 20 คนที่ไม่ยอมสนับสนุนเขา แต่กลับลงคะแนนให้สมาชิกอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งลงคะแนนให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (กฎของสภาสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดว่าประธานสภาจะต้องเป็น ส.ส.)
ส.ส. ที่ไม่ยอมลงคะแนนให้แมคคาร์ธีเป็น ส.ส. จากฝั่งขวาจัดในพรรครีพับลิกัน ที่ไม่เชื่อใจแมคคาร์ธี และต้องการให้แมคคาร์ธีสัญญาว่า จะเปลี่ยนกฎต่างๆ ของสภา เพื่อให้อำนาจกับ ส.ส.ฝั่งขวามากขึ้น เช่น ส.ส. เพียงคนเดียวก็สามารถขอให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจประธานสภาฯ ได้ พร้อมกับมีการแต่งตั้ง ส.ส. ฝั่งขวาในคณะกรรมาธิการต่างๆ มากขึ้น
สุดท้ายแล้ว หลังจากที่พ่ายแพ้มาหลายครั้ง (จนนักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่า แมคคาร์ธีจะทนความขายหน้านี้ได้นานแค่ไหน) แมคคาร์ธีก็ต้องยอมให้ทุกอย่างที่สมาชิกที่ต่อต้านเขาต้องการ ซึ่งทำให้เขาโดนขนานนามว่า เป็นประธานสภาฯ แต่ในนามเท่านั้น (Speaker in name only) เพราะว่าเขาไม่มีอำนาจที่จะคัดค้านสิ่งที่ ส.ส. ในพรรคต้องการเลย และยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะโดนถอดถอนตลอดเวลา
ความขัดแย้งในพรรครีพับลิกันที่ทั้งโลกได้รับชมบนทีวี เป็นสัญญาณให้เห็นถึงความวุ่นวายที่กำลังจะมาภายใต้พรรครีพับลิกันในสองปีนี้ เพราะ ส.ส. ฝั่งขวาจัดในพรรครีพับลิกัน จะมีอำนาจการต่อรองมากขึ้นเพื่อที่จะผลักดันหลายๆ อย่างที่ตนต้องการ เช่น การหยุดการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้อเมริกาเกิดการ debt default ในปีนี้ และสร้างความโกลาหลทางเศรษฐกิจตามมา
โฆษณา