9 ม.ค. 2023 เวลา 22:54 • ประวัติศาสตร์
อยากเล่าเรื่องนี้
พุทธคุณพระแก้วมรกต
เมื่อใดที่มีการกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระพุทธรูปที่ถูกยกให้มีความสำคัญลำดับแรกเหนือพระพุทธรูปองค์อื่นๆ คือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม และศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และราษฎร
เมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชปณิธานที่จะสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นกรุงศรีอยุธยาแห่งใหม่ โดยได้จำลองแบบอย่างหลายๆ ด้าน มาไว้ในกรุงเทพมหานคร แต่กลับไม่ได้นำพระพุทธรูปที่เปรียบเสมือนเป็น “ใจเมือง” แห่งกรุงศรีอยุธยามาเป็นมิ่งขวัญแก่เมือง
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระพุทธรูปสำคัญๆ ได้ถูกทำลายไปมากในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก พระพุทธรูปที่อาจนับได้ว่าเป็นขวัญเมือง เช่น พระศรีสรรเพชญ์ ที่โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครนั้น ก็ชำรุดเกินกำลังจะซ่อมแซมได้ ทั้งไม่สมควรที่จะหลอมเพื่อหล่อขึ้นใหม่ จึงโปรดให้อัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหญ่ในวัดพระเชตุพนฯ
อย่างไรก็ดียังมีพระพุทธรูปสำคัญๆ หลงเหลืออยู่ทั้งในกรุงศรีอยุธยาและตามหัวเมืองต่างๆ ที่โปรดให้อัญเชิญลงมาไว้ในพระนครอีกนับพันองค์ [1] แต่ก็ไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดเลยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะมีพระราชศรัทราในพุทธคุณเทียบเท่าพระแก้วมรกต
ด้วยพระราชศรัทธาต่อองค์พระแก้วมรกตของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปหินหยกเขียวอันวิเศษองค์นี้จึงถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญนับเป็น “ใจเมือง” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาจนทุกวันนี้ นับเวลาได้ 200 กว่าปี
แต่เหตุใดจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดพุทธคุณในพระแก้วมรกตยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์ใดในแผ่นดินสยามประเทศนี้? การอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากกรุงเวียงจันทน์ครั้งนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าตาก หรือเป็นเจตนาของเจ้าพระยาจักรี? เพราะรับรู้รับทราบพุทธคุณปาฏิหาริย์จากตำนานต่างๆ ทั้งในดินแดนล้านนา ล้านช้าง ตลอดจนสยามประเทศ คำถามเหล่านี้คือปริศนาที่ท้าทายให้ค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง
ปาฏิหาริย์ในตำนานพระแก้วมรกต
ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องรัตนพิมพวงศ์ [2] แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลี ในปีพุทธศักราช 2271 [3] โดยพระพรหมปัญญา ซึ่งอ้างว่าแต่งตามตำนานเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นภาษาไทย (ท้องถิ่น)
“เพื่อแสดงตำนานเดิมของพระพุทธรูปที่เล่ากันสืบๆ มา นักปราชญ์ผู้รู้เรื่องราวได้แต่งเป็นภาษาไทยไว้แล้วข้าพเจ้าอาศัยตำนานนั้นเป็นหลัก จะได้แต่งตำนานที่เรียกว่ารัตนพิมพวงศ์นี้เป็นภาษาบาลี ตามกำลังสติปัญญาฯ” [4]
ตามตำนานพระแก้วมรกต ได้กล่าวถึงอภินิหารการกำเนิดพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งคือพระนาคเสน อุบัติขึ้นในโลกราวพุทธศักราช 500 เป็นพระนักปราชญ์ฉลาดในธรรมบรรลุพระอรหันต์ ประวัติและเรื่องราวโดยละเอียดของพระนาคเสนมีอยู่ในหนังสือคัมภีร์มิลินทปัญหา พระพรหมปัญญาได้ตัดตอนมาเล่าแสดงไว้ในภาคแรกของตำนานพระแก้วมรกต
พระนาคเสนมีความคิดว่า ถ้าจะให้ธรรมของพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองมั่นคงไปในอนาคตกาล ก็สมควรที่จะสร้างพระพุทธรูปให้ดีงาม
“แต่ถ้าเราสร้างพระพุทธรูปให้ดีงามด้วยเงินหรือทอง พวกโจรที่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จะทำอันตรายด้วยเหตุต่างๆ ในอนาคต เพราะฉะนั้นเราจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะให้ทำลายยากด้วยเดชานุภาพของรัตนะนั้น
ความทราบไปถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) จึงเสด็จลงไปหาพระนาคเสนพร้อมกับพระวิษณุกรรม แล้วรับอาสาจะเป็นผู้นำรัตนะนาม “มณีโชติ” สีขาวนวล มีแก้วมณีเป็นบริวาร 3,000 ดวง จากภูเขาวิบุลบรรพตมาถวาย
แต่แก้ว “มณีโชติ” นั้นมีราชากุมภัณฑ์เฝ้าอยู่ และไม่ยินยอมมอบแก้วมณีโชติให้ได้ตามพระประสงค์ เพราะแก้วมณีโชตินั้น มีเดชานุภาพมาก เตรียมไว้สำหรับเป็นเครื่องบริโภคใช้สอยคู่บารมีของพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น (ซึ่งจะมาอุบัติในอนาคต) ขอให้รับเอาแก้ว “อมรโกฏ” [5] สีเขียวไปแทน แก้วอมรโกฏนี้ มีขนาด 1 วา 3 นิ้ว [6] มีหมู่รัตนะ 750 ดวง เป็นบริวาร
เมื่อพระนาคเสนได้แก้วอมรโกฏมาแล้ว จึงคิดหาช่างฝีมือเอกที่สามารถสร้างพระพุทธรูปอันประเสริฐ อำนวยประโยชน์แก่ชนทั่วไป ฝ่ายพระวิษณุกรรมเมื่อทราบความคิดของพระนาคเสนแล้ว จึงได้แปลงเป็นช่างทำพระพุทธรูปผู้เชี่ยวชาญ อาสาสร้างพระพุทธรูปถวาย
การแปลงร่างมาก็เพื่อแสดงว่าจะสร้างด้วยมือ ไม่ได้ใช้อิทธิฤทธิ์เสกด้วยคาถา พระวิษณุกรรมสร้างอยู่หลายวันจึงแล้วเสร็จ ได้พระพุทธรูปงามด้วยรัตนะ ควรเป็นที่บูชาแก่ อินทร์ พรหม เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย มีขนาดสูง 1 ศอก 7 นิ้ว
เมื่อมีการทำพิธีบูชาสักการะ พระแก้วมรกตก็ได้สำแดงปาฏิหาริย์ตลอด 7 วัน ด้วยการแผ่ซ่านรัศมีออกเป็นสีต่างๆ มีสีเขียวดั่งปีกแมลงภู่ สีเหลืองดั่งทองใบ สีแดงดั่งรัศมีดวงอาทิตย์รุ่งอรุณ สีขาวดั่งดาวประกายพรึก เป็นต้น
ในคราวนั้นพระนาคเสนได้อธิษฐานจิตอัญเชิญพระบรมธาตุ 7 องค์ มาประดิษฐานในองค์พระ ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้ายขวา พระชานุซ้ายขวา
นี่คือปาฏิหาริย์กำเนิดพระแก้วมรกตตามตำนานรัตนพิมพวงศ์
ต่อจากนั้นพระแก้วมรกตก็ได้ถูกอัญเชิญไปยังดินแดนต่างๆ ก่อนจะมาประดิษฐานถาวรที่กรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่กำเนิดที่เมืองปาตลีบุตร สู่เกาะลังกา จากนั้นพระเจ้าอนุรุทธเจ้านครม่าน (พม่า) ได้ขออาราธนาไปยังเมืองของพระองค์พร้อมกับพระไตรปิฎก แต่ได้เกิดพายุพัดกระหน่ำ เรือที่บรรทุกพระไตรปิฎกไปถึงนครม่าน ส่วนลำที่บรรทุกพระแก้วมรกตแล่นเลยไปจนถึงเมืองนครเอกราช (นครธม)
ต่อมากษัตริย์กรุงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง ไม่ประพฤติในทศพิศราชธรรม นำเอาบุตรของปุโรหิตไปถ่วงน้ำ ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย พญานาคทราบเหตุเข้า จึงบันดาลให้น้ำท่วมพระนครนั้น คนทั้งปวงตายหมด เว้นแต่ชาวเรือ
ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินอโยชฌา (อโยธยา) เสด็จไปทำสงครามที่ชายแดนเมืองมหานคร แล้วได้พระแก้วมรกตกลับอโยชฌา
หลังจากนั้นพระแก้วมรกตก็ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ เริ่มที่กำแพงเพชร แล้วจึงมาที่เชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนพระแก้วมรกตแก่ศัตรู จึงเอาปูนพอกลงรักปิดทองเก็บไว้ที่เมืองเชียงรายนั้น จนกระทั่งต่อมา (ด้วยประสงค์ของเทวดา) ปูนที่พอกไว้ตรงปลายพระกรรณข้างหนึ่งกะเทาะออก เห็นเป็นเนื้อแก้วมณี ชายเฝ้าวัดซึ่งเช็ดล้างพระพุทธรูปเห็นเข้า
จึงแจ้งแก่พระภิกษุสมภาร ความทราบต่อมาถึงเจ้าเมืองเชียงราย และในที่สุดก็ทราบถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงคิดจะนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้อัญเชิญขึ้นหลังช้าง แต่ด้วยเทวดาบันดาลช้างไม่สามารถแบกพระแก้วมรกตเดินทางถึงเมืองเชียงใหม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเสี่ยงทายจับฉลากเมืองเลือกเมืองใดเมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา จับฉลากอยู่ 3 ครั้ง ก็ได้แต่เมืองลำปางทั้งสิ้น จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นวอให้คนไปโดยง่าย พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนาน 32 ปี (พ.ศ. 1979-2011)
ต่อมาก็ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ คือ เชียงใหม่ 85 ปี (พ.ศ. 2011-2096) หลวงพระบาง ไม่ถึงปี (พ.ศ. 2096) เวียงจันทน์ 225 ปี (พ.ศ. 2096-2322) กรุงธนบุรี 5 ปี (พ.ศ. 2322-2327) สุดท้ายจึงมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปีพุทธศักราช 2327
ตลอดระยะเวลา 300 กว่าปี ก่อนที่พระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น ได้แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้เป็นที่ปรากฏแก่เมืองต่างๆ ที่ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตด้วยความศรัทธา นอกจากปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแล้ว พระแก้วมรกตยังแสดงพุทธคุณทำให้เมืองสงบร่มเย็นเป็นสุขและมหาชนชื่นชมยินดี
จากเวียงจันทน์สู่กรุงธนบุรี อาถรรพ์ “พระแก้วพระบาง”
ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าศิริบุญสารเจ้านครเวียงจันทน์ ไม่ให้ความร่วมมือในหลายๆ ด้านกับฝ่ายกรุงธนบุรี หนึ่งในนั้นคือไม่ร่วมมือกับกรุงธนบุรีปราบปรามพม่า พระเจ้าตากจึงแต่งให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบ กองทัพของพระเจ้าศิริบุญสารถูกกองทัพกรุงธนบุรีตีแตกในที่สุด
ครั้งนั้นกองทัพกรุงธนบุรีได้กวาดต้อนเจ้านายนครเวียงจันทน์และครัวลาว ลงมาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากรวมทั้ง “กวาดเก็บเอาทรัพย์สินข้าวของทั้งมวลอันมีค่าในพระคลังหลวง และของประชาราษฎรทั้งหลาย พร้อมด้วยพระแก้วมรกตและพระบางอันมีค่ามิ่งเมืองลาว” [7] กลับมายังกรุงธนบุรี
ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่า การอัญเชิญ “พระแก้วพระบาง” ลงมากรุงธนบุรีในครั้งนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าตาก หรือเป็นความคิดของเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพใหญ่ เหตุใดกรุงธนบุรีจึงให้ความสำคัญกับพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นั้น ทั้งที่ตลอดระยะเวลาของกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีความพยายามเช่นนี้มาก่อน
อย่างไรก็ดีมีข้อบ่งชี้บางประการบอกให้ทราบว่าพระเจ้าตากทรง “รู้จัก” พระแก้วมรกตและพระบาง เป็นอย่างดี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตและพระบางถึงเขตเมืองสระบุรี และจัดกระบวนแห่สมโภชอย่างยิ่งใหญ่ อาจนับได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตจากสระบุรีมาอยุธยาด้วยกระบวนเรือ 115 ลำ และจากอยุธยามากรุงธนบุรีมีกระบวนเรืออีก 246 ลำ มีการตั้งงานสมโภชตลอดระยะทาง เมื่อ “พระแก้วพระบาง” มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว จึงจัดงานสมโภชใหญ่อีก 7 วัน 7 คืน สิ้นเงินหลายร้อยชั่ง [8] แม้ว่างานแห่จะ “กร่อย” ไปสักหน่อยเพราะมีอุบัติเหตุเรือพระองค์เจ้าคันธวงษ์ล่มหน้าวัดระฆังฯ ขุนนางตามเสด็จถูกลงพระราชอาญากันถ้วนหน้า [9]
แต่แล้วพระเจ้าตากก็มิได้ทรงเฉลียวพระทัยเกี่ยวกับอาถรรพ์ “พระแก้วพระบา” ซึ่งมีมาแต่ในอดีต คือ “ผี” ที่รักษาประจำองค์พระพุทธรูปทั้งสองเป็นอริกัน เมื่ออยู่ด้วยกันคราวใดมักจะวิวาทกัน เป็นเหตุร้ายแก่บ้านเมืองนั้น
เมื่ออดีตนั้นพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เชียงใหม่ พระบางอยู่หลวงพระบาง ก็ไม่เกิดเหตุร้ายใด จนกระทั่ง พระเจ้าไชยเชษฐาทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบางด้วยกัน ก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ระหว่างเมืองเชียงใหม่ พม่า และหลวงพระบาง (เมืองหลวงของกรุงศรีสัตนาคนหุต)
จนต้องย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ แล้วย้าย “พระแก้วพระบาง” มาไว้ด้วยกันที่กรุงเวียงจันทน์ ก็เกิดเหตุกรุงเวียงจันทน์เสียแก่กรุงธนบุรีอีก ครั้นเมื่อเจ้าพระยาจักรีอัญเชิญ “พระแก้วพระบาง” มากรุงธนบุรี ไม่นานก็เกิดเหตุเปลี่ยนแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินสู่กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงพระราชทาน “พระบาง” คืนแก่กรุงเวียงจันทน์ไป
แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อเกิดศึกเวียงจันทน์ ก็มีการอัญเชิญพระบางกลับมากรุงเทพมหานครอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่องอาถรรพ์ของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ดี จึงให้อัญเชิญ “พระบาง” ไปที่วัดจักรวรรดิราชาวาส [10] ซึ่งเป็นวัดนอกเมือง มาถึงรัชกาลที่ 4 มีดาวหางขึ้น เกิดฝนแล้งโรคระบาดติดต่อกัน 3 ปี จนคนลือกันว่าเป็นเพราะพระบางมาอยู่กรุงเทพมหานคร แม้จะมีประกาศเตือนไม่ให้ราษฎร “คิดวิตกเล่าฦาไปต่างๆ” [11] แต่อีกทางหนึ่งก็พระราชทาน “พระบาง” คืนไปเมืองหลวงพระบาง
พระคู่บารมีรัชกาลที่ 1
เมื่อมีการ “ปราบจลาจล” เปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการก่อสร้างพระอารามขึ้นในพระราชวังหลวงตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา เสร็จในปี 2326 ปีถัดมาจึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มาจากกรุงธนบุรี ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวน ไปยังพระอุโบสถแห่งใหม่
“ทรงพระกรุณาให้เชีญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎจากโรงในพระราชวังไหม่ เชีญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามไหม่ แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมทำสังฆกรรม สวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น แลการพระอารามสำเรจบริบูรรณแล้ว จึ่งทรงตั้งพระนามวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ไว้เปนที่ประชุมข้าทูลอองธุลีพระบาท ถือน้ำพระพิพัทสัตยาธิษฐานทำมงคลการ พระราชพิธีปีละสองครั้ง” [12]
การอัญเชิญพระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มานี้ มีอีกเนื้อความหนึ่งต่างไปจากพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ที่ว่าเชิญลงเรือข้ามฟากตรงมายังพระราชวังแห่งใหม่เลย แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ได้กล่าวว่ามีการแวะพักสถานที่หนึ่งก่อนแล้วจึงนำไปยังพระอุโบสถในพระราชวังหลวง
“ครั้นแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธพิมพ์มรกฎ อันพระนาคเสนเจ้าได้บรรจุพระสัตถุธาตุไว้ ทรงรัศมีเขียวงามประเสริฐ แห่ออกจากวัดโพธารามมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดิษฐานไว้ในโรงอุโบสถอันงามประเสริฐนั้นแล้ว” [13]
หากพระพิมลธรรม หรือต่อมาคือสมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพนฯ มีความแม่นยำในการแต่งหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเป็นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปองค์สำคัญเช่นนี้ ก็อาจจะแสดงว่าวัดพระเชตุพนฯ มีความสำคัญบางอย่างในเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน เพราะเมื่อคราวที่เจ้าพระยาจักรีจะ “ข้ามฟาก” ไป “ผจญมาร” ฝั่งธนบุรี ก็มาหยุดรอข้ามฟาก ณ ที่แห่งนี้ก่อนเช่นเดียวกัน
เมื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตแล้ว ก็จัดให้มีการสมโภชถวาย 7 วัน 7 คืน ในครั้งนี้พระแก้วมรกตได้สำแดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง
“พระธาตุทั้งหลายที่บรรจุอยู่ในพระรัตนพิมพ์นั้น ก็ได้ทำพระปาฏิหาริย์สว่างโอภาษทั่วพระนคร เปล่งรัศมีงามรุ่งเรืองอย่างประเสริฐ ด้วยพระรัศมีทั้งหลาย คล้ายกับแสงทองเนื้อนิกข อันหลอมลลายคว้างอยู่ในเบ้า แลล่วงเสียซึ่งแสงดอกไม้เพลิงฉะนั้น ได้ปรากฏในประถมยามราตรี
ด้วยอำนาจอธิฐานแห่งสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้ง 2 พระองค์ ผู้ทรงบุญญาธิการ แลด้วยอำนาจอธิฐาน ถึงสมเด็จพระพุจธเจ้าด้วย ประชาชนทั้งปวงเว้นแต่สมเด็จพระมหากระษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์แล้ว ได้พากันเห็นรัศมีพระธาตุแล้วจะได้พากันรู้สึกก็หามิได้ กลับพากันตระหนกตกใจกลัว ต่างก็พูดจากันต่างๆ นาๆ” [14]
แน่นอนว่าพระแก้วมรกตไม่ได้สำแดงปาฏิหาริย์เช่นเดียวกันนี้ในหนังสือประเภทพระราชพงศาวดาร แต่ในขณะเดียวกัน “ความศรัทธา” ในพระแก้วมรกต ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็มิใช่เรื่องปกปิดแต่อย่างใด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิพนธ์ที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน ว่ารัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อมใสในพุทธคุณของพระแก้วมรกต โดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับการปราบยุคเข็ญและการปราบดา ภิเษกของพระองค์
“ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง” [15]
หลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เพียง 2 เดือน ได้เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้น คือปีพุทธศักราช 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ โปรดให้ตั้งพระราชกำหนดใหม่ให้ข้าราชการทั้งปวงต้องเข้าไปกราบนมัสการพระแก้วมรกตก่อน แล้วจึงเข้ารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาภายหลัง ผิดกับพระราชกำหนดเก่าที่ถือธรรมเนียมเข้าไปไหว้รูปพระเทพบิดรก่อนแล้วจึงกราบนมัสการพระรัตนตรัยภายหลัง [16]
ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะทรงศรัทธาและถือว่าพระแก้วมรกตนั้น “เป็นสิริแก่พระองค์” ยังเป็นไปได้ว่าทรงเชื่อพุทธคุณในทางใดทางหนึ่งขององค์พระแก้วมรกตเป็นพิเศษ
“ก็แลการถือน้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นความมหัศจรรย์ ในพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎพระองค์นี้ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก” [17]
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถึงความศรัทธาเลื่อมใสพระแก้วมรกตของรัชกาลที่ 1 ว่า
“ท่านเลื่อมใสในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เปนหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย” [18]
พระแก้วมรกตยังมีความสำคัญถึงขนาดว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มี “ข้าพระ” ดังปรากฏในหมายรับสั่งและบัญชีโคมตรา ในพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ 4 มีการกล่าวถึง “ข้าพระแก้วมรกต” [19] ให้เบิกน้ำมันมะพร้าวต่อชาวพระคลังไปจุดโคมประทีปรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ด้วยเหตุนี้พระแก้วมรกตจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบพระราชพิธีใหญ่ๆ มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพิธีทางศาสนา พระราชพิธีเกี่ยวกับราชตระกูล และการปกครอง เช่น ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา กรณีที่พระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ก็ยังคงต้องเข้าไปถือน้ำสาบานหน้าพระแก้วมรกตเป็นปฐมก่อน
แล้วจึงมาดื่มน้ำต่อหน้าพระพักตร์ในท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของการถือน้ำคือการสาบานต่อหน้าพระ ผู้ถือน้ำสาบานจะต้องนุ่งห่มขาวรับคำสาบานที่ให้คุณและสาปแช่งให้โทษต่อหน้าพระแก้วมรกต ไม่ได้กระทำเพียงการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระเจ้าอยู่หัวเพียงอย่างเดียว
การที่พระแก้วมรกต “เป็นสิริแก่พระองค์” คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี เพราะการบูชาสมโภชพระแก้วมรกตตลอดจนการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างยิ่งใหญ่ ทรงกระทำพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวัง อันเป็นช่วง 3 ปีแรกแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ยังถือเป็นการเริ่มต้นเมืองใหม่ พระแก้วมรกตก็ยังไม่ได้สำแดงพุทธคุณใดให้ประจักษ์ในแผ่นดินใหม่นี้ นอกจากทำให้การจลาจลในแผ่นดินเก่าสงบลง
ส่วนพุทธคุณทางด้านกำราบราชศัตรู “เมืองใดไป่ต้านทานทน พ่ายแพ้เดชผจญ ประณตน้อมวันทา” [20] เวลานั้นสงครามใหญ่ก็ยังไม่เกิด ศึกพม่าครั้งแรกในแผ่นดินใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพระอุโบสถแล้วเกือบปี
พระจอมเกล้าไขความลับพระแก้วมรกต
พระแก้วมรกตถูกไขปริศนาตำนานและปาฏิหาริย์การกำเนิด พร้อมทั้งเพิ่มเติมเรื่องเร้นลับด้านพุทธคุณ โดย “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระองค์แรกที่ปฏิเสธตำนาน “เทวดาสร้าง” หรือ “พระอินเดีย” ตามที่เชื่อถือกันมาก่อนหน้านี้
โดยมีพระราชวินิจฉัยไว้ในบทพระราชนิพนธ์ตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่าน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือคำอ่านบูชาพระแก้วมรกต ในพระราชพิธีถือน้ำ ก่อนการอ่านโองการแช่งน้ำนั่นเอง
“เรื่องตั้งต้นมาจนถึงที่นี้ มีเรื่องราวเล่ายืดยาวไปดุจมีคนได้รู้เห็นเป็นแน่ แลความนั้นใครที่มักเชื่อง่ายก็ย่อมเห็นว่าเป็นจริง ตามตำนานที่กล่าวมานั้น ที่ไม่เชื่อก็จะคิดวิตกสงสัยไปต่างๆ ว่าพระพุทธรูปองค์นี้แล ฝีมือเทวดาสร้างพระพุทธเจ้ารูปร่างเหมือนอย่างนี้ เป็นฝีมือเทวดาแน่แล้ว
และจะเป็นที่สงสัยไม่ตกลงกัน ก็ปรกติคนโบราณแรกมีหนังสือขึ้นใช้ ยังไม่มีหนังสือเก่าๆ มาก เมื่อแต่งเรื่องอะไรๆ นึกจะเขียนอย่างไรก็เขียนไปไม่คิดว่านานไปจะมีคนภายหน้าจะมีปัญญาแลสติตริตรองเทียบเคียงมาก จะเชื่อคำของตัวแลไม่เชื่อนั้นไม่ใคร่จะคิด” [21]
และมีพระราชวินิจฉัยว่า “ดูเหมือนว่าจะเป็นฝีมือช่างลาวเหนือโบราณ ข้างเมืองเชียงแสน เห็นคล้ายคลึงมากกว่าฝีมือช่างเมืองอื่น” [22]
ปัจจุบันนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระแก้วมรกต ก็มีบทวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกับพระราชวินิจฉัยนี้ คือเป็นฝีมือช่างชาวลาวเหนือหรือล้านนา ไม่ใช่พระพุทธรูปอินเดียหรือลังกาตามที่กล่าวไว้ในตำนาน
ในตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่านฯ ยังมีเรื่องที่ช่วยไขปริศนาสำคัญในประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับพระอาการ “สัญญาวิปลาส” ของพระเจ้าตาก ปรากฏอยู่ด้วย
“แผ่นดินกรุงธนบุรีได้ความเดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระเจ้าแผ่นดินเสียสติอารมณ์ไปนั้น ก็ชะรอยจะเป็นวิบัติเหตุ เพราะที่มิได้ควรเป็นเจ้าของผู้ได้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ บารมีเจ้าตากสินทรงกำลังสิริของพระพุทธรัตนปฏิมากรมิได้ จึงเผอิญให้คลั่งไคล้เสียพระสติสัญญาผิดวิปลาสไปดังนี้” [23]
เรื่องคล้ายกันนี้ยังปรากฏในหนังสือประถมวงศ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน โดยไม่ได้กล่าวว่า “บารมีไม่ถึง” แต่เป็นเพราะ “มีจิตรกำเริบเติบโต”
“ฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมณีพระองค์นี้มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว ก็มีจิตรกำเริบเติบโตในอันใช่ที่ คือมีสัญญาวิประหลาดว่าตนมีบุญนักศักดิ์ใหญ่ เปนพระโพธิสัตว์ จะสำเรจพระพุทธภูมิ ได้ตรัสเปนพระชนะแก่มาร เปนองค์พระศรีอาริยเมตไตรยกัลปนี้ ก็คิดอย่างนั้นบ้างตรัสอย่างนี้บ้าง ทำไปต่างๆ บ้าง จนถึงพระเจ้าแผ่นดินเสียจริตทำการผิดๆ ไปให้แผ่นดินเปนจลาจล ร้อนรนทั่วไปทั้งไพร่แลผู้ดีสมณชีพราหมณ์ เปนความผิดใหญ่ยิ่งหลายอย่างหลายประการ” [24]
“พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” จะทรงวินิจฉัยตำนานพระแก้วมรกตตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่เห็นได้ชัดว่าพระองค์มิได้ทรงข้ามเรื่องฤทธานุภาพอัน “วิเศษ” ของพระแก้วมรกตไป โดยเฉพาะพุทธคุณทางด้านการเมืองที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระเจ้าตาก และกรุงธนบุรี
อย่างไรก็ดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่านฯ โดยทรงปฏิเสธตำนาน “เทวดาสร้าง” ไปแล้วในภาคต้น และทรงกล่าวในภาคต่อมาว่า “จะขอกล่าวข้อความเรื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แต่ที่ควรจะเชื่อได้” [25] หนึ่งในนั้นมีเรื่อง บารมี กรุงธนบุรีเสื่อม และ “สัญญาวิปลาส” ของพระเจ้าตากรวมอยู่ด้วย เรื่องนี้จะเป็นพระราชนิพนธ์เพื่อผลทางการเมืองหรือจะเป็นฤทธานุภาพที่เกิดขึ้นจริงตามคำบอกเล่าก็เกินจะรับรองได้
แม้ว่าเรื่องบารมีแห่งผู้ครอบครององค์พระแก้วมรกตจะปรากฏอยู่หลายครั้ง ทั้งที่อยู่ในตำนานและประวัติศาสตร์ ดูคล้ายจะเป็นเรื่องทางปาฏิหาริย์ขาดหลักขาดเกณฑ์ แต่โดยนัยทางศาสนาแล้ว ท่านผู้มีบุญญาธิการ “ถึง” ที่จะได้ครอบครองพระแก้วมรกต ย่อมหมายถึงผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจทางการเมืองสูง มีทศพิธราชธรรม สามารถปกครองแว่นแคว้นใหญ่น้อยได้อย่างเป็นสุข ซึ่งเปรียบได้กับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถสืบทอดพระศาสนาไปได้อย่างมั่นคงยาวนาน ตรงตามเจตนาของการสร้างพระพุทธรูปนั่นเอง
พระแก้วมรกตกับสังคมวันนี้
พระพุทธรูปทั่วไป ย่อมถูกสร้างมาเพื่อให้คุณ เป็นสิ่งระลึกถึงพระศาสดาและพระธรรมคำสั่งสอน ผู้ประพฤติในธรรมก็จะได้อานิสงส์จากพุทธคุณไปโดยวิสัย ส่วนพุทธคุณในทาง “วิเศษ” นั้น ปุถุชนย่อมหวังให้มีให้เกิดขึ้นเป็นอามิสรางวัล เป็นธรรมดาของโลก จนบางครั้งอาจทำให้พระพุทธรูป “บัง” พระพุทธเจ้าจนสนิท
พระแก้วมรกตอาจมีฐานะต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่น ตรงที่ได้การเคารพนบไหว้เป็น “ใจเมือง” และยิ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระปฐมบรมกษัตริย์ให้ความเคารพศรัทธาเหนือสิ่งอื่นใด ภาระหน้าที่ของพระแก้วมรกตจึงมากมายเลยขอบเขตทางพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการ “รักษา” เมืองด้วยในบางโอกาส
เช่น บางครั้งพระแก้วมรกตก็ถูกอัญเชิญไป “ไล่ผี” ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ พระราชพิธีนี้เมื่อคราวรัชกาลที่ 1 ไม่ปรากฏในหมายรับสั่งว่ามีการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปในพระราชพิธี [26] จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถไป “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อแห่ประพรมน้ำทั้งทางบกทางน้ำ เพียงไม่กี่วัน “ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว” [27] แต่การอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถ ยุติไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย
ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพระแก้วมรกตยากเกินจะพิสูจน์หรือปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบารมีของผู้ครอบครอง เรื่องอาถรรพ์พระแก้วพระบาง การกำราบไล่อริราชศัตรู หรือแม้แต่การไล่ผีในพระราชพิธีอาพาธพินาศ
แม้ว่าทุกวันนี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระแก้วมรกตจะถูกจัดให้มีความสำคัญระดับต้นใน “ไก๊ด์บุ๊ก”มากกว่าในทางพุทธคุณไปแล้วก็ตาม หรือบางครั้งบางโอกาสก็พึ่งพาพุทธคุณไปในทางเลอะเทอะบ้างก็ตาม เช่น เป็นสถานที่ “กล้าสาบาน” ของนักการเมือง
เป็นที่เสกวัตถุมงคลที่ขลังที่สุดในประเทศ เป็นต้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเชื่อแรงศรัทธาของผู้คนต่อพุทธคุณของพระแก้วมรกตยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะหากครั้งใดที่กรุงรัตนโกสินทร์ต้องเผชิญกับปัญหารุนแรงแล้ว “โบสถ์พระแก้ว” ก็จะกลายเป็นที่รวมศรัทธาของผู้คนอีกครั้ง เพื่อพึ่งปาฏิหาริย์พระแก้วมรกตในทางใดทางหนึ่ง
มาบัดนี้สภาพสังคมบ้านเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาพอาเพศและอาพาธเจ็บป่วยอย่างสาหัส อาจถึงเวลาต้องพึ่งพุทธคุณทาง “วิเศษ” จากพระแก้วมรกตอีกครั้งเพื่อ “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศกำจัด “ห่ากินเมือง” เสียทีน่าจะเป็นมงคลไม่น้อย
อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปประดิษฐานในถ้ำพร้อมสมบัติอีกอื้อ ?!?
ประตูผี และหน้าที่ของ “พระแก้วมรกต” จากแนวคิด-หลักฐานทางประวัติศาสตร์
[1] ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, พิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏและฉลองอายุวัฒนมงคล 85 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร), กรุงเทพฯ, 2544, น. 52.
[2] ร.ต.ท. แสง มนวิทูร. รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์, 2530, ไม่มีเลขหน้า.
[3] ปีที่พบพระแก้วมรกตในเมืองเชียงรายตามพงศาวดารคือพุทธศักราช 1979 กับปีที่แต่งห่างกันอยู่ 292 ปี
[4] ร.ต.ท. แสง มนวิทูร. เรื่องเดิม.
[5] แปลว่า แก้วที่เทวดาสกัดเอามา คือ แก้วของเทวดา แก้ววิเศษที่วิบุลบรรพต (Vipula) มี 3 อย่าง คือ แก้วมณีโชติ แก้วไพฑูรย์ แก้วมรกต
[6] ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ (2518, น. 125) กล่าวว่า มีขนาด 2 ศอก 3 นิ้ว มีขนาดเล็กกว่าที่กล่าวในรัตนพิมพวงศ์
[7] สีลา วีระวงส์. ประวัติศาสตร์ลาว. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2539), น. 147.
[8] ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี, “หมายรับสั่ง เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต”, คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ, 2523.
[9] กรมหลวงนรินทรเทวี. พระราชวิจารณ์จดหมายความทรงจำฯ. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 64.
[10] ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี, อ้างแล้ว, น. 67.
[11] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2540), น. 148.
[12] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2539), น. 50.
[13] พระพิมลธรรม. สังคีติยวงศ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (กมลเถระ). กรุงเทพฯ, 2521, น. 430.
[14] เรื่องเดิม, น. 432.
[15] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน.(พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2503), น. 235.
[16] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 5, “พระราชกำหนดใหม่”, (พระนคร : คุรุสภา, 2506), น. 354.
[17] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชกรัณยานุสร. กรมศิลปากร, กรุงเทพฯ, 2541, น. 17.
[18] เรื่องเดียวกัน, น. 17.
[19] ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2515), น. 360.
[20] พระยาทัศดาจตุรงค์. ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์. พิมพ์ในงานฌาปนกิจ
โฆษณา