12 ม.ค. 2023 เวลา 05:30 • ไลฟ์สไตล์
“คนทำไม่จำ คนถูกกระทำไม่ลืม” บทเรียนจากซีรีส์ The Glory กับปัญหาการบูลลี่ในวัยเด็ก
ช่วงนี้คอซีรีส์หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ “The Glory” กันมาบ้าง เพราะเป็นซีรีส์เกาหลีที่กำลังติดเทรนด์อันดับหนึ่งอยู่บน Netflix โดยมีนักแสดงนำคือ “ซงฮเยคโย”
ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กมัธยมปลายอย่างมุนดงอึน (ตัวละครหลักที่รับบทโดยซงฮเยคโย) ที่ถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้งในโรงเรียนอย่างรุนแรง และมีการเล่าเรื่องราวถึงการวางแผนเพื่อกลับมาแก้แค้นตลอด 18 ปี
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรื่องนี้มีฉากความรุนแรงที่ถูกสร้างมาจากเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในเกาหลี นั่นก็คือ ฉากโดนเครื่องม้วนผมนาบแขน เรียกได้ว่าเป็นฉากที่มีความโหดร้ายมาก ฉากนี้จึงเป็นหนึ่งในฉากที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในเรื่อง
หลังจากซีรีส์นี้ได้สตรีมลงบน Netflix หลายคนก็ได้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งความสนใจในที่นี้ไม่ได้มาจากแค่กับคนเกาหลีเพียงเท่านั้น แต่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ รวมถึงคนไทยด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยก็มีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน โดยจากข้อมูลโดยกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี 2020 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกในเรื่องการบูลลี่กัน แล้วยังชี้อีกว่าการบูลลี่เกิดขึ้นมากที่สุดในระดับชั้นมัธยม
1
ทำไมการบูลลี่มักเกิดขึ้นบ่อยในโรงเรียน?
ต้องเล่าก่อนว่าการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การล่วงละเมิดทางวาจา ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายพื้นที่ เช่น การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ที่ทำงาน ที่บ้าน และที่อื่นๆ ที่มีการพบปะกัน
แต่แล้วทำไมเหตุการณ์ที่เราเห็นส่วนใหญ่ถึงเกิดขึ้นที่โรงเรียนล่ะ?
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Abnormal Child Psychology ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีดังนี้
1. ต้องการมีอำนาจ
คนที่ต้องการควบคุมคนอื่นหรือคนที่อยากมีอำนาจมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งคนอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจใดๆ ในชีวิตของตัวเองเลย แต่การกลั่นแกล้งจะทำให้ได้รับอำนาจนั้น และทำให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ
2. ต้องการความนิยม
ในบางครั้งการบูลลี่ก็เป็นการแสดงสถานะทางสังคม เช่น คนที่ดังหรือมีเพื่อนเยอะกว่าก็มักจะล้อเลียนคนที่มีเพื่อนน้อยกว่าหรือไม่ได้รับความนิยมน้อยกว่า ซึ่งเรื่องความนิยมเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดแค่การบูลลี่ในโรงเรียน แต่ยังทำให้เกิดการแพร่ข่าวลือผิดๆ การซุบซิบนินทา การประจบ และการเหยียดหยามคนอื่นด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น คนที่มีความนิยมน้อยก็อาจจะพยายามไต่บันไดทางสังคมโดยการเหยียบคนอื่น เพื่อเรียกร้องความสนใจและเพื่อให้ตัวเองปีนไปอยู่จุดสูงสุด
3. ต้องการแก้แค้น
คนที่เคยตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่มาก่อนอาจกลับมาแก้แค้นด้วยการรังแกคนอื่นต่อ เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองเคยถูกคุกคามมาก่อน ฉะนั้นการทำเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้จะพุ่งเป้าไปที่คนที่อ่อนแอกว่า หรือในบางครั้งก็ไล่ตามแก้แค้นคนที่เคยบูลลี่ตัวเองมาก่อน
4. มีปัญหาที่บ้าน
คนที่เติบโตมาในบ้านที่มีความรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะบูลลี่คนอื่น รวมถึงคนที่ถูกเลี้ยงแบบตามใจและคนที่ขาดความรักจากพ่อแม่ก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะการบูลลี่ทำให้บุคคลเหล่านี้รู้สึกถึงพลังและการควบคุมที่ตัวเองขาดไป
5. ต้องการความบันเทิง
คนที่รู้สึกเบื่อและมองหาความบันเทิงก็อาจจะเข้ามาหาความตื่นเต้นให้กับชีวิตผ่านการบูลลี่คนอื่น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการที่คนคนนั้นเป็นคนที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง จึงเลือกที่จะบูลลี่คนอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจ
6. มีอคติส่วนตัว
ในหลายๆ ครั้งเราก็อาจจะเห็นว่าเพื่อนในห้องบางคนถูกกลั่นแกล้งหรือถูกแบ่งแยกจากสังคมเพียงเพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศที่ต่างจากตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอคติบางอย่างเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการบูลลี่กันในโรงเรียนได้จริงๆ
7. โดนแรงกดดันจากเพื่อน
บางคนกลั่นแกล้งคนอื่นเพียงเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งในบางครั้งเขาก็อาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไรนัก แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ให้ความสำคัญกับ “การได้รับการยอมรับ” หรือ “การกลัวตกเป็นเหยื่อคนต่อไป” มากกว่าการคำนึงถึงผลที่ตามมาของการกลั่นแกล้งคนอื่น
บาดแผลในวัยเด็กที่ไม่เคยหายไป
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การบูลลี่คนอื่นนั้นไม่เคยเป็นเรื่องที่ถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ถูกรังแกด้วย
เพราะจากงานวิจัยโดย Dr. Andre Sourander ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์เด็กจาก University of Turku ชี้ว่า 20% ของคนที่ถูกรังแกได้ประสบกับปัญหาสุขภาพจิตในภายหลัง แม้ว่าจะโตขึ้นจนอายุ 50 ปีแล้วก็ตาม เช่น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ความวิตกกังวลในการเข้าสังคม และอาการซึมเศร้า
ซึ่งจากซีรีส์เรื่อง Glory ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า เวลา 18 ปีที่ผ่านมา มุนดงอึนที่ถูกกลั่นแกล้งไม่เคยลบเรื่องราวเหล่านี้ออกไปได้เลย หรือในกรณีของไทยที่มีคนออกมาเล่าเหตุการณ์การถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กที่เกิดขึ้นทั้งจากศิลปินที่มีชื่อเสียงในตอนนี้และจากคนอื่นๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ในบางครั้งการบูลลี่อาจร้ายแรงมากจนผู้ถูกรังแกไม่สามารถลบเรื่องราวเหล่านั้นออกไปจากใจได้ เรียกได้ว่าเป็นบาดแผลวัยเด็กที่ไม่มีวันจางหาย
ฉะนั้นเราก็ควรคำนึงถึงความรู้สึกและจิตใจของคนอื่นให้มากๆ เพราะความสนุกเพียงชั่วครั้งชั่วคราวของเราอาจกลายเป็นความทุกข์ระยะยาวของใครหลายๆ คน
อ้างอิง
- The shocking bullying scene depicted in 'The Glory' is based on real-life events : allkpop - https://bit.ly/3X39Dzq
- บูลลี่ (Bully) คืออะไร มีกี่ประเภท วิธีที่จะรับมือจากการโดนบูลลี่ : กรมสุขภาพจิต - https://bit.ly/3ZvarhT
- Childhood bullying can cause lifelong psychological damage – here’s how to spot the signs and move on : Calli Tzani, The Conversation - https://bit.ly/3IE2qkU
- 8 Reasons Why Teens Bully Others : Sherri Gordon, Verywell Family - https://bit.ly/3iq4oLa
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา