12 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยเงินกู้ เปรียบเทียบเป็น ประหยัดได้
เมื่อจะขอสินเชื่อ สิ่งแรกที่ผู้ขอกู้ควรดูก่อนเลยก็คือ "ดอกเบี้ย" เพราะเป็นต้นทุนที่ผู้ขอกู้ต้องจ่าย เราจะได้ดอกเบี้ยถูกหรือแพง ส่วนหนึ่งอยู่ที่การหาข้อมูลและเปรียบเทียบผู้ให้บริการหลาย ๆ แห่ง แต่ในบางครั้งก็ไม่สามารถนำดอกเบี้ยของแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงทันที เพราะผู้ให้สินเชื่ออาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย วิธีคิดดอกเบี้ย รวมถึงระยะเวลาการกู้ที่แตกต่างกัน จึงชวนมาทำความเข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ย เพื่อให้เรารู้หลักในการเปรียบเทียบได้
รู้จักประเภทของอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อในท้องตลาดส่วนใหญ่มีอยู่สองประเภท คือ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุสัญญาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง กับอีกแบบคืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ที่มักไปอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารนั้น ๆ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่แน่นอน
จากตัวอย่าง สมมติธนาคาร A มีอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่อยู่ที่ 3.3% และธนาคาร B มีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวอยู่ที่ MRR - 1% ซึ่งดอกเบี้ยอ้างอิง MRR ของธนาคาร B อยู่ที่ 4.5% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของธนาคาร B จะอยู่ที่ 4.5 - 1 = 3.5% ซึ่งแพงกว่าเมื่อเทียบกับธนาคาร A แต่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีความไม่แน่นอน อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอนาคต
ดังนั้น การที่จะเลือกว่าจะกู้อัตราดอกเบี้ยแบบใด ก็อาจต้องคำนึงถึงระยะเวลาการกู้และสภาวะเศรษฐกิจด้วย เช่น ถ้าจะกู้ระยะยาว และเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่น่าจะตอบโจทย์กว่า
การคำนวณอัตราดอกเบี้ย 2 วิธี
สำหรับวิธีคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีคิดแบบลดต้นลดดอก (effective rate) โดยจะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงค้าง อธิบายง่าย ๆ คือ เงินค่างวดที่ผ่อนชำระเข้าไป จะถูกนำไปหักค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยก่อน แล้วจึงนำที่เหลือไปหักเงินต้น เมื่อเงินต้นซึ่งเป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยลดลง ดอกเบี้ยในงวดถัดไปก็จะลดลงด้วย การคำนวณแบบ effective rate นี้ มักใช้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ ธปท. กำกับดูแล
อีกวิธีคือคิดแบบเงินต้นคงที่ (flat rate) จะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน แล้วนำดอกเบี้ยที่คำนวณได้มารวมกับเงินต้น จากนั้นนำมาหารเฉลี่ยเพื่อให้ผ่อนชำระเท่ากันทุกงวด วิธีคำนวณแบบนี้มักจะพบในการเช่าซื้อรถยนต์
จะเปรียบเทียบดอกเบี้ยของ 2 วิธีอย่างไรว่าอันไหนถูกกว่า
แม้การคิดดอกเบี้ยจะคิดจากเงินต้นเหมือนกัน แต่คิดจากฐานที่ไม่เหมือนกัน หากต้องการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของวิธี effective rate กับ flat rate จึงต้องปรับให้ฐานคิดเท่ากันก่อน ซึ่งผู้ให้บริการที่คิดแบบ flat rate ไว้ ก็มักจะบอกอัตราดอกเบี้ยที่คิดแบบ effective rate กำกับไว้ด้วย แต่หากไม่ได้ให้ไว้ เราสามารถแปลง flat rate เป็น effective rate คร่าว ๆ ได้ โดยนำอัตราดอกเบี้ยของ flat rate คูณด้วย 1.8[1]
ตัวอย่าง
จากตัวอย่าง สมมติว่าธนาคาร A และ B กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่มีวิธีคิดดอกเบี้ยแตกต่างกัน ดังนั้น เวลาจะเปรียบเทียบ เราต้องแปลงวิธีคิดดอกเบี้ยของธนาคาร B จาก flat rate เป็น effective rate ก่อน โดยเอา 8.5 x 1.8 = 15.3% ต่อปี โดยประมาณ แล้วจึงค่อยเทียบกับธนาคาร A โดยสามารถสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยของธนาคาร A (14% ต่อปี) ต่ำกว่าธนาคาร B (15.3% ต่อปี)
นอกจากนี้ เพื่อความแน่ใจควรดูต่ออีกว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อวัน (ที่มักพบเจอในหนี้นอกระบบ) ต่อเดือน หรือต่อปี เช่น หากคิดดอกเบี้ยแบบ flat rate ต่อเดือน และต้องการเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยต่อปี ก็ต้องแปลงให้เป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีก่อน แล้วจึงค่อยแปลงเป็น effective rate แบบคร่าว ๆ
ตัวอย่าง อัตราดอกเบี้ย 0.74% ต่อเดือน คิดดอกเบี้ยด้วยวิธี flat rate ให้นำ 0.74 x 12 = 8.88% ต่อปี แล้วจึงนำไปคูณกับ 1.8 จะได้อัตราดอกเบี้ยแบบ effective rate 8.88 x 1.8 = 15.98% ต่อปี โดยประมาณ จึงสามารถสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยของธนาคาร A (14% ต่อปี) ต่ำกว่า ธนาคาร B (15.98% ต่อปี)
แม้จะเป็นการแปลงข้อมูลคร่าว ๆ แต่ก็ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบเพื่อเลือกกู้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สามารถใช้ตัวช่วยคือ "โปรแกรมเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์" ที่ได้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อพื้นฐานของผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติมาไว้ในที่เดียว เช่น อัตราดอกเบี้ย วงเงินกู้ เงื่อนไขการกู้
และสามารถเลือกได้ว่าจะเปรียบเทียบสินเชื่อแบบใด เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ทำให้การเปรียบเทียบง่ายขึ้น สามารถลองเข้าใช้ได้ที่เว็บไซต์ www.1213.or.th เลือก "โปรแกรมเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์"
[1] มาจากการคำนวณพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่าง flat rate กับ effective rate
โฆษณา