14 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์

ย้อนรอย “Y2K” วิกฤตปี 2000 ที่ทำให้ทั้งโลกแตกตื่น

ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นในยุคนี้คงคุ้นหูกับคำว่า Y2K ในแวดวงแฟชั่นปี 2000 กับเสื้อครอปทอปพอดีตัว กางเกงยีนส์เอวต่ำทรงหลวม ๆ เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด
แต่หากคุณเป็นวัยรุ่นในยุค 2000 คงรู้จักกับ Y2K ในอีกแบบหนึ่ง ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการบันทึกข้อมูลของคอมพิวเตอร์จนเป็นความตื่นตระหนกไปทั่วโลก
Bnomics จึงจะพาทุกท่านย้อนรอยวิกฤต Y2K ช่วงก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 2000 ที่แม้ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นเต้นที่จะก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ แต่ในทางกลับกันผู้คนก็ยังกังวลกับการก้าวข้ามสหัสวรรษนี้ด้วย…
⭐ วิกฤต Y2K คืออะไร?
Y2K มาจากคำว่า Year 2000 แต่ย่อเหลือ Y2K (โดยตัว K มาจาก Kilo แปลว่า หลักพัน)
จุดเริ่มต้นของคำว่า Y2K เกิดจากความกังวลของมนุษย์เกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจส่งผลให้ระบบรวนและผิดพลาดได้
สาเหตุมาจาก เมื่อก่อนการบันทึกข้อมูลจะถูกระบุปีแค่สองตัวท้ายเท่านั้นเช่น 1997 ก็จะเหลือเพียง 97 และละเลขข้างหน้าคือ 19 ไว้เพื่อประหยัดพื้นที่และเขียนระบบให้คอมพิวเตอร์เข้าใจว่าเลขข้างหน้าคือ 19 โดยไม่ต้องเขียน
แต่แล้วก็มีคนเริ่มตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดเราก้าวเข้าสู่ปีที่ 2000 จะเป็นอย่างไรล่ะ?
คำตอบก็คือ ข้อมูลจะถูกบันทึกโดยเลขตัวหลังคือ 00 เพราะฉะนั้นคอมพิวเตอร์จะย้อนข้อมูลกลับไปปีที่ 1900 แทนที่จะเป็นปี 2000 และนี่คือจุดเริ่มต้นความกังวลครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
1
แต่…แค่ปีผิดพลาดจะส่งผลเสียขนาดนั้นเลยหรือ?
1
ถ้าในแง่ของประชาชนทั่วไปก็มีความตื่นตระหนก แต่กับรัฐบาลและบริษัทใหญ่ที่เก็บข้อมูลจำนวนมากไว้ไม่ใช่แค่ความตื่นตระหนก แต่หมายถึงผลเสียมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น
1
อย่างธนาคาร อาจส่งผลต่อการคิดอัตราดอกเบี้ยรายวัน ถ้าวันผิดก็อาจส่งผลให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยผิด แน่นอนว่าเจ้าหนี้อย่างธนาคารต้องเสียผลประโยชน์หากคำนวณเงินและดอกเบี้ยผิด
ในโรงงานไฟฟ้าที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับการตรวจสอบความปลอดภัย การไม่มีวันที่ถูกต้องอาจทำให้คอมพิวเตอร์ประเมินความเสี่ยงผิดพลาดได้
การขนส่งอาจได้รับผลกระทบจากวันและเวลาที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะสายการบิน หากระบบควบคุมรวนอาจทำให้เครื่องบินไม่รู้จุดหมายที่แน่ชัดจนเกิดการบินผิดทิศทางจนอาจชนกลางอากาศก็เป็นเรื่องที่จะสร้างความเสียหายมหาศาล
เมื่อเฝ้าดูจากผลกระทบที่กล่าวไป ก็ไม่น่าแปลกใจทำไมมนุษย์ถึงกังวลกับการก้าวข้ามสหัสวรรษมากมายขนาดนั้น
⭐ “หายนะ” เลขสองหลักกับการสูญเงินมหาศาลเพื่อแก้ปัญหา
Y2K เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความผิดพลาดของระบบคือประเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์เยอะกว่าที่อื่นในโลกนั่นคือสหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ ทุ่มเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น ถ้ามองเผิน ๆ เงินที่ใช้ในการแก้ไขก็คงเหมาะสมแล้วกับการแก้ปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ หากแต่เทียบการใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหา Y2K
นี้มันมากกว่างบประมาณสำหรับประชาชนชาวอเมริกาทั้งหมดคือ 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่างบประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้ในการซ่อมแซมแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีเสียอีก!
อีกหนึ่งประเทศที่ใช้งบประมาณเยอะไม่แพ้สหรัฐฯ คือสหราชอาณาจักรก็ใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านปอนด์เพื่อกับการแก้ปัญหา Y2K
ในขณะที่อิตาลีถูกมองว่าใช้งบประมาณเพียงน้อยนิดสำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับ Y2K โดยใช้งบเพียง 1.6 ล้านปอนด์เท่านั้น แต่จากข้อมูลของ GartnerGroup ได้ออกมาระบุว่านี่เป็นเพียงแค่งบประสานงานระหว่างสำนักงานในอิตาลีเท่านั้น ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายกว่าพันล้านที่รัฐบาลจ่ายสำหรับการทดสอบ อัปเกรดซอฟแวรต์ต่าง ๆอีก
⭐ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส? Y2K กับการเติบโตภาค IT ของอินเดีย
ในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจโลก Y2K ไม่ได้ส่งผลเป็นนัยยะสำคัญ หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับ Y2K ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนทุ่มเงินมหาศาลกันยกใหญ่กับภาคไอที ทำให้เกิดการจ้างงานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสายไอทีจำนวนมาก
อย่างเช่น ในอินเดีย บริษัท IT อย่าง Infosys และ TCS มีการจัดหาบุคลากรฝ่ายไอทีจำนวนมากเพื่อสอดรับกับตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่กำลังมองหาบุคลากรเข้ามาแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ภาคเทคโนโลยีของอินเดียเติบโตอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากในปี 1998 ภาคไอทีคิดเป็น 1.2% ของ GDP แต่ในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.7% เรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจริง ๆ
นอกจากนี้กลยุทธ์ที่เตรียมไว้สำหรับกรณีเลวร้ายในตอน Y2K ได้ถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์ 9/11 ที่ทางสหรัฐฯ ปรับแผนดังกล่าวเข้ากับสถานการณ์ จนบรรเทาความเสียหายในตลาดการเงินไปได้
Y2K ยังถูกนำมาเป็นบทเรียนด้านนโยบายและพฤติกรรมของมนุษย์ ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การจะให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเดียวกันอย่างขมักเขม้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง แต่ความกลัวกรณีเลวร้ายที่สุดจากวิกฤติ Y2K ก็ทำให้ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา