14 ม.ค. 2023 เวลา 04:00 • หนังสือ

ANOTHER BOOK ขอนำเสนอ

The Achievement Habit
หลักสูตรลงมือทำทันที จาก Stanford
โดย Bernard Roth
“ยิ่งคุณรู้เท่าทันตัวเองมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น”
#What_I_Get
Bernard Roth เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน d.school ที่โด่งดังในในหลักสูตรของ การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ที่เป็นหลักการคิดที่ช่วยให้เราคิดสร้างสรรค์การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม
ปัญหาหนึ่งที่เราทุกคนต่างเจอก็คือ การเปลี่ยน “ความคิด” ให้เป็น “การกระทำ” อย่างเช่นการที่เราคิดอยากมีสุขภาพที่ดีด้วยการออกกำลังกาย เราอาจจะคิดอยู่ทุกวันแต่แทบจะไม่ได้ลงมือทำมันจริง ๆ เลย
หนังสือเล่มนี้จะใช้การคิดเชิงออกแบบมาช่วยให้เราได้ลงมือทำสิ่งที่เราคิดไว้ ด้วยการทำความเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น โดยการค้นลงไปหาแรงจูงใจและตัวจนของตัวเอง เพื่อหาวิธีออกแบบชีวิตให้น่าพึงพอใจและสมบูรณ์มากขึ้น
..........
โดยพื้นฐานแล้วคุณต้องเข้าใจว่า “การพยายามทำ” นั้นไม่เท่ากับ “การลงมือทำ”
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมให้คุณ “พยายามแย่งขวดน้ำในมือ” คนส่วนมากจะเอื้อมมือมาคว้าขวดน้ำในมือผมแล้วออกแรงดึง ผมก็จะพยายามไม่ให้คุณดึงขวดน้ำนั้นไปได้ แต่ถ้าผมบอกให้คุณ “แย่งเอาขวดน้ำในมือผมให้ได้” บางคนที่เข้าใจความต่างของภาษาจะคว้าขวดน้ำไปแบบผมไม่ทันตั้งตัว
โดยสรุปแล้ว “การพยายามทำ” เราจะใช้แรงทำงานนั้น แต่ถ้าเป็น “การลงมือทำ” เราจะใช้อำนาจควบคุมในการทำงานที่ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก
การคิดเชิงออกแบบจะช่วยให้เรารับมือความคิดของเราเองได้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาตัวบุคคล และทวงคืนอำนาจให้ตัวคุณเอง เพื่อให้คุณสามารถลงมือทำได้เลยด้วยตัวคุณเอง ผ่านเนื้อหาทั้ง 10 บทในหนังสือเล่มนี้
..........
1.ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่คุณคิดว่ามันเป็น
แท้จริงแล้วความหมายของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราล้วนไม่ได้มีความหมายภายในตัวของมันเองอย่างแท้จริง แต่เป็นคนเราต่างหากที่ใช้มุมมองของเรากำหนดความหมายของมันขึ้นมา
เมื่อเราเปลี่ยนมุมมองความหมายของสิ่งต่าง ๆ ก้ย่อมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ตัวคุณเองก็เช่นกัน
ตัวคุณอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณว่าคุณเป็น การดำเนินชีวิตด้วยความเร่งรีบทุกวันอาจทำให้เราหลงลืมว่าแท้จริงแล้วคุณเป็นใครกันแน่ การหยุดสักพักแล้วทบทวนว่า ฉันเป็นใคร ฉันต้องการอะไร และจุดหมายของฉันคืออะไร
คำถามเหล่านี้ช่วยให้คุณถอยออกมาจากความวุ่นวายประจำวันแล้วช่วยให้คุณปรับมุมมองต่อชีวิตของคุณเอง พร้อมทั้งทำให้เราเห็นปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ เมื่อเราเห็นปัญหาเหล่านั้นในมุมมองที่ต่างออกไป คุณก็จะสามารถแก้ปัญหาในชีวิตของคุณได้มากขึ้น
..........
2.เหตุผลเป็นเรื่องไร้สาระ
เหตุผลแท้จริงแล้วอาจเป็นแค่เพียงข้อแก้ตัวที่ถูกปรุงแต่งให้สวยหรู เพื่อสนับสนุนสิ่งที่เราพูดหรือภาพลักษณ์ของเราให้ดีขึ้น คำกล่าวนี้มาจากการที่คนเราส่วนมากมักจะหาเหตุผลมารองรับทีหลังหลังจากที่เราลงมือทำอะไรไปแล้ว มากกว่าการคิดหาเหตุผลที่ถูกต้องที่สุดก่อนการลงมือทำ
คนเราสามารถหาเหตุผลมารองรับสิ่งที่ตัวเองทำได้เสมอ ดังนั้น การกระทำจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่าเหตุผล
แล้วคุณละมีเรื่องที่ต้องการลงมือทำแต่ยังไม่ได้ทำสักทีหรือเปล่า ใครกันแน่ที่ขวางคุณอยู่ ที่คุณยังไม่ทำเป็นเพราะเหตุผลของคุณเองที่มาขวางไว้หรือเปล่า ให้คุณลองย้อนกลับไปถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วคุณไม่ได้อยากทำมันขนาดนั้นหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ได้อยากทำมันจริง ๆ ก็แค่ล้มเลิกมันซะ
ในกรณีที่คุณตอบได้ว่าอยากทำมันจริง ๆ ให้คุณทวงคืนเวลาจากสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายที่อยากจะทำออก แล้วเริ่มลงมือทำทันที ด้วยความตั้งใจ และการเอาใจใส่ อาจจะเริ่มจากกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่กี่นาทีก่อนเพื่อสร้างนิสัยในการลงมือทำทันทีให้กับตัวคุณเอง
..........
3.หลุดพ้นจากการติดแหง็ก
การที่คุณเจอกับปัญหาแล้วพยายามแก้ปัญหานั้นอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่เจอหนทางที่จะเป็นทางออกของปัญหาได้อาจจะเป็นเพราะคุณกำลังระบุปัญหาผิดพลาดก็เป็นได้ การมองปัญหาให้เป็นหลายระดับอาจจะช่วยให้คุณเลือกแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น
การระบุปัญหาหลายระดับเราสามารถทำได้โดยการถามว่า “ฉันจะได้อะไรจากการแก้ปัญหานี้” ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา “การหาคู่ครอง” สมมุติว่าสิ่งที่ได้จากปัญหานี้คือ “การได้เพื่อนคู่คิด” เราสามารถมอง “การได้เพื่อนคู่คิด” เป็นปัญหาใหม่ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่า “การหาคู่ครอง”
“การได้เพื่อนคู่คิด” อาจเป็นปัญหาที่คุณอาจแก้ได้ด้วยวิธีอื่น ๆ มากกว่าการหาคู่ครองเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการหาเพื่อนออนไลน์ สมัครเรียนหลักสูตรต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ หรืออื่น ๆ ที่คุณคิดได้
ถ้าคุณยังไม่ได้แนวทางที่คุณต้องการคุณก็อาจจะถามคำถาม “ฉันจะได้อะไรจากการแก้ปัญหานี้” ซ้ำ ๆ เพื่อสร้างระดับของปัญหาให้มากขึ้นจนหาแนวทางที่คุณรับมือและแก้ปัญหานั้นได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้คุณยังสามารถอ่านเพิ่มเติม 22 เคล็ดลับเพื่อหลุดพ้นการติดแหง็กได้ในบทนี้
..........
4.ขอความช่วยเหลือ
 
ปัญหาบางอย่างอาจเป็นปัญหาที่คุณไม่อาจแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว คุณอาจเป็นผู้เริ่มการนำปัญหาขึ้นมาให้ทุกคนเห็นได้ แต่การแก้ปัญหาคุณต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นด้วย
 
หนึ่งในการขอความช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือ การขอร้องพวกเขาโดยตรง เพราะเขาอาจไม่รู้ได้ถ้าคุณไม่บอก ถึงคุณอาจจะคิดว่ามันเชดมากขนาดไหนก็ตาม เพราะคนเราล้วนแต่สนใจปัญหาของตัวเองก่อนเสมอ
เมื่อขอความช่วยเหลือแล้วเราควรให้ความเคารพกันและกัน ทำตัวให้น่านับถือ และไม่เสแสร้งเพื่อให้เขาช่วยเหลือเพียงเท่านั้น
..........
5.การลงมือทำคือทุกอย่าง
การลงมือทำนั้นอาศัย ความตั้งใจ และความเอาใจใส่ เพื่อที่เราจะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลุล่วงโดยไม่ล้มเลิกมันก่อน
 
เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราพร้อมที่จะลงมือทำ คือ การยืนยันกับตัวเอง ด้วยข้อความเชิงบวกเกี่ยวกับการกระทำนั้น ๆ เช่น การพูดกับตัวเองว่าฉันจะออกกำลังเพื่อสุขภาพที่ดีทุกวัน จะเป็นการกระตุ้นให้ตัวเองพร้อมที่จะลงมือทำสิ่งที่เราต้องการทำมากขึ้น
การลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ย่อมประกอบไปด้วยความสำเร็จและความล้มเหลว ถ้าคุณทำสำเร็จผมก็ขอดีใจด้วย ถ้าคุณล้มเหลวผมก็ขอดีใจกับคุณเช่นกัน
ผมไม่อยากให้คุณนั้นกลัวความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวมักจะมาพร้อมกับคำตอบใหม่ ๆ ที่เราได้จากการเรียนรู้ความล้มเหลวนั้นเสมอ
จงอย่ากลัวที่จะล้มเหลว จนไม่กล้าลงมือทำ
6.ระวังภาษาของคุณ
ภาษาที่เราใช้มีอิทธิพลต่อวิธีที่เรามองสิ่งต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย การเลือกใช้คำที่เหมาะสมอาจทำให้คุณมีชีวิตที่ขึ้นได้โดยที่คุณอาจไม่ทันรู้ตัว เช่น
การใช้คำว่า “และ” แทนคำว่า “แต่” เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะไม่จำเป็นของแต่ละประโยคลง เช่น “ฉันอยากฝึกงานในตำแหน่งนี้ แต่ฉันกลัวการนั่งเครื่องบิน” ประโยคนี้จะจำกัดตัวเองและไม่ไปฝึกงานตำแหน่งนี้
ถ้าคุณใช้คำว่า “ฉันอยากฝึกงานในตำแหน่งนี้ และฉันกลัวการนั่งเครื่องบิน” ประโยคหลังนี้จะเปิดทางเลือกให้คุณมากกว่า ว่าคุณแต่ละประโยคไม่ได้ผลต่อกันโดยตรง คุณสามารถแยกปัญหาจัดการได้
บางทีคุณอาจหาวิธีแก้ปัญหาการนั่งเครื่องบินด้วยการไปบำบัด หรือการเดินทางด้วยวิธีอื่นได้
7.นิสัยการทำงานเป็นกลุ่ม
การทำงานกลุ่มที่ดีนั้นมีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ที่ดีของคนในกลุ่ม รูปแบบความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มจึงแทบจะเป็นสิ่งที่กำหนดความสำเร็จของกลุ่มได้เลย หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำวิธีสร้างความสัมพันธ์ของคนในกลุ่มดังนี้
- การจับคู่ถามตอบประสบการณ์พื้นฐาน เช่น เรื่องที่ดีใจ เสียใจ โมโห หัวเราะ เพื่อให้ทุกคนรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ที่มีร่วมกันของคนในกลุ่ม
- การเรียกชื่อของคนในกลุ่ม เพราะชื่อเป็นสิ่งที่เจ้าตัวให้ความสำคัญ เมื่อคนอื่นให้ความสำคัญกับชื่อของพวกเขา จะทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น
- ลดการแข่งขันระหว่างคนในกลุ่ม การแข่งขันอาจดีในการส่งเสริมความมีส่วนร่วมในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะก่อให้เกิดการแบ่งกลุ่มภายในขึ้น
- ลดการผูกติดอำนาจด้วย Flat Organization เพราะการที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่เข้าข้างตัวเองจะทำให้คนในกลุ่มเกิดความไม่พอใจ เมื่อลดลำดับอำนาจลงทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง
8.ออกแบบภาพลักษณ์ที่คุณมองตัวเอง
 
การออกแบบภาพลักษณ์ที่คุณมองตัวเอง จะส่งผลมหาศาลต่อสิ่งที่คุณจะทำสำเร็จ เนื่องจากการบอกตัวเองว่าคุณเป็นคนแบบไหนจะส่งผลต่อการกระทำของคุณ มากกว่าการบอกว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน
โดยคุณต้องมองคุณสมบัติของตัวเองที่คุณชอบ และคุณไม่ชอบในหลากหลายมิติ เช่น การเงิน เส้นทางชีวิตการทำงาน งานอดิเรก ความเสี่ยง ครอบครัว เป็นต้น
ซึ่งคุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเองเพื่อมองหาสิ่งที่คุณไม่ได้ต้องการเป็นแล้วค่อย ๆ กำจัดมันออกไป และส่งเสริมคุณสมบัติที่คุณต้องการให้เข้ามาในชีวิตของคุณ
สิ่งที่คุณควรยึดมั่นในการออกแบบภาพลักษณ์ตัวเอง คือ ความตั้งใจที่แท้จริงของคุณ จากสิ่งที่คุณทำ และตัวตนของคุณ ว่าสิ่งใดสอดคล้องกับค่านิยมและหลักการชีวิตที่คุณยึดถือ โดยควรระวังความคาดหวังจากคนอื่นที่หวังดีแต่ไม่ใช่ตัวตนของคุณ
..........
9.มองภาพรวม
การมองภาพรวมคือการถอยออกมาหนึ่งก้าวแล้วพิจารณาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อมองว่าเรากำลังเดินทางไปสู่เป้าหมายใด ชีวิตที่มีเป้าหมายเป็นชีวิตที่ดี แต่เป้าหมายของชีวิตไม่ควรเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
แท้จริงแล้ว ชีวิตคือความบังเอิญ มีเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแนวทางในชีวิตของเราไปอย่างไม่คาดฝัน ให้เราได้เจอกับโอกาสใหม่ ๆ ที่เราอาจไม่เคยคิดถึง เปิดแนวทางใหม่ ๆ ในการดำเนินชีวิตให้เราเสมอ
เป้าหมายชีวิตของเราก็ควรจะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานะที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราะถ้าเรายึดติดกับเป้าหมายเดิม ๆ ที่สถานะไม่เอื้ออำนวยแล้วก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์ในการไขว่คว้าเป้าหมายที่ไม่มีวันเป็นจริงได้
บางครั้งชีวิตก็พาไปสู่ความพลาดพลั้งล้มเหลวได้ ให้คุณลองถอยออกมามองภาพรวมว่าสิ่งที่เราทำยังทำให้เราเดินไปที่เป้าหมายของเราอยู่หรือไม่ ถ้าใช่คุณก็แค่หายใจเข้าลึก ๆ แล้วลงมือทำต่อไป
..........
10.ทำให้กลายเป็นนิสัย
ปัญหาเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณ เนื่องจากปัญหาถือว่าเป็นโอกาสให้คุณทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น และเมื่อเราแก้ปัญหาได้ก็จะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
 
โดยการแก้ปัญหาเราสามารถเริ่มต้นลงมือทำได้เลย จากการสร้างตัวต้นแบบ (Prototype) เล็ก ๆ เพื่อทดลองแนวคิดการแก้ปัญหา แล้วทำการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือปัญหานั้น
แรงจูงใจในการแก้ปัญหาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาเช่นกัน ถ้าคุณไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องแก้ปัญหานั้น เราก็จะไม่ลงมือทำ บางทีเราอาจจะต้องเริ่มแก้ปัญหาด้วยการหาแรงจูงใจในการแก้ปัญหานั้นก่อน
..........
#How_I_Feel
 
หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองต่อตัวเองและแนวคิดในการสร้างมุมมองใหม่ ๆ ในการผลักดันให้เราลงมือทำมากมาย เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และดีมากกว่าที่คาดไว้
นอกจากนั้นยังช่วยเปิดมุมมองที่เกี่ยวกับปัญหา ให้เราได้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ด้วยการควบคุมความตั้งใจ และความเอาใจใส่เพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น
#Who_Should_Read
- คนที่ต้องการแรงผลักดันในการลงมือทำสิ่งที่อยากทำ
- คนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจตัวเอง
- คนที่มองหามุมมองใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา
..........
 
Review by Another Book
 
ถ้าชอบบทความ กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
 
..........
 
ช่องทางการติดตาม
Facebook Page : Another Book
Blockdit : Another Book
โฆษณา