17 ม.ค. 2023 เวลา 04:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ซื้อหุ้นเดือนไหน กำไร ?

อยู่ๆก็เกิดคำถามนี้ขึ้นมาตอนต้นปี เพราะเคยได้ยิน January effect และ Sell in May
และหลายคนมีความเชื่อว่า หุ้นต้นปีและปลายปีน่าจะขึ้นเพราะการท่องเที่ยวคึกคัก
ประกอบกับเคยอ่านหนังสือของ ปีเตอร์ ลินซ์ เกี่ยวกับจังหวะการซื้อ-ขายหุ้น เดือนไหนที่มักจะมีการซื้อขายกัน
เลยเป็นที่มาของการศึกษาข้อมูลที่จะกล่าวถึงนี้
การที่จะตอบคำถามว่า ซื้อหุ้นเดือนไหนดี ก็ต้องถามต่อว่า ซื้อไปเพื่ออะไร แน่นอน การซื้อหุ้นก็ต้องหวังกำไร ไม่ว่าจะเป็น capital gain หรือ dividend yield เราก็แค่ดูว่า ผลตอบแทนหลังจากซื้อหุ้นนั้น ขึ้นหรือลง
ในทางปฏิบัติตลาดหลักทรัพย์มี SET TRI (total return index) เป็นตัวชี้วัดที่ดี
SET TRI หรือ ดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์ คือ ดัชนีการคํานวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหลักทรัพย์ให์สะท้อนออกมาในค่าดัชนี ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนจาก Capital gain/loss สิทธิในการจองซื้อหุ้น และเงินปันผล ต่างกับ SET Index ที่คํานวณผลตอบแทนจาก Capital gain/loss และสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นเท่านั้น
SET index, SET TRI
ประโยชน์ของ SET TRI
(1) เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบ (Benchmark) ผลตอบแทนการลงทุนเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ (Portfolio) หรือประเมินผลการดําเนินงานของผู้จัดการกองทุน
(2) เป็นขอมูลประกอบการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งนี้เนื่องจากอัตราผลตอบแทนรวมรายเดือน 12 เดือนย้อนหลังจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนภาพรมผลตอบแทนของหลักทรัพย์นั้นๆในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มุ่งพิจารณาเฉพาะปัจจัยด้านราคาระยะสั้นเท่านั้น
แน่นอนว่า เมื่อมองในภาพรวมตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์เป็นต้นมา หากซื้อหุ้นแบบอิงดัชนีตั้งแต่แรกแล้วไม่ขายเลยถึงตอนนี้ ก็เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว (พ.ศ. 2518-2566) ผลตอบแทนเป็นบวกแน่นอน เพราะ SET index แสดงว่าหุ้นขึ้นมากว่า 5 เท่า หรือกว่า 500%
SET index
SET TRI ก็จะมีแนวโน้มไปทางเดียวกับ SET index
แล้วสำหรับคนที่เข้ามาซื้อหุ้นในปัจจุบันละ หากมองภาพรวม ซื้อหุ้นเดือนไหนน่าจะผลตอบแทนเป็นบวก ?
SET TRI average monthly ranking each year
จากภาพเป็นการนำค่าเฉลี่ยของดัชนี SET TRI (Price) แต่ละเดือนเทียบกัน โดยให้ค่า ranking เป็น 1-12 (เช่น ดัชนี มกราคม =1000 กุมภาพันธ์ = 1200 มีนาคม = 1100, ดังนั้น เรียง rank จากมากไปน้อย จะเป็น กุมภาพันธ์>มีนาคม>มกราคม ) โดยการ ranking เป็นการเทียบแต่ละเดือนในปีของมันเอง ไม่ได้เทียบข้ามปี
หากมองภาพจากตารางอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังภาพ
SET TRI average monthly each year : Table format
มาต่อที่ภาพ heatmap : ค่า 1 (สีน้ำเงิน) หมายถึง SET TRI สูงสุด ค่า 12 (สีแดง) หมายถึง SET TRI ต่ำสุดในปีนั้นๆ
****ข้อจำกัดที่สำคัญของการใช้กราฟนี้ คือ ranking เป็นการเทียบเฉพาะในปี จะเทียบข้ามปีไม่ได้ เช่น จะนำเลข 1 ของปี 2022 ไปเทียบกับเลข 1 ของปี 2021 ไม่ได้ เลข 12 ของปี 2022 อาจมากกว่าเลข 1 ของปีอื่นก็ได้ จึงนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ได้เฉพาะกรณีลงทุนระยะภายใน 1 ปี เท่านั้น นอกจากนั้น ค่า SET TRI ก็เป็นค่าเฉลี่ยของเดือนนั้นๆ ไม่ได้เป็นค่าตอนสิ้นเดือนเหมือนที่หลายๆแหล่งข้อมูลเค้าใช้*****
จากข้อมูล หากตัดปี 2023 ออก ก็เหลือ 12 ปี (จริงๆ 11 ปีครึ่ง) มองในแนวดิ่ง ดูแกนนอน (x) หาเดือนที่มีสีแดงหรือสีส้มมากสุด พบว่า กินกันไม่ขาด แต่ถ้าถามว่า เดือนที่ไม่ค่อยมีสีแดงเลย ก็คงเป็นเดือนในไตรมาส 3 ของทุกปี
การมองภาพแบบนี้ (ranking) เป็นการมองแบบ relative จึงต้องหา pattern ที่เริ่มจากสีแดงไปน้ำเงิน (12-->1) เพราะนั่นหมายถึง เราลงทุนในเดือนที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่า ลงทุนไปทั้งปีจะได้ผลตอบแทนสูงสุดในเดือนที่ 12 จะเห็นว่าไม่มีเลย
ในทางตรงข้าม เรากลับพบว่า หลายๆปี สีแดงอยู่ใกล้กับสีน้ำเงินเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น จึงหมายถึง ผลตอบแทนผันผวนมาก และไม่มี pattern ที่แน่นอน ลงทุนเดือนนี้ เดือนหน้าอาจขาดทุนหรือได้กำไรก็ได้
ลองดู SET index บ้าง
SET index
SET index average pattern จะต่างกับ SET TRI ลองศึกษาดูได้ครับ
จากภาพ ก็ไม่มีอะไรเป็น pattern ชัดเจน หากลยุทธ์ลงทุนตามเดือนยาก
แต่อยากพิสูจน์คำพูดที่ว่า January effect และ Sell in May ว่าใช้ได้กับตลาดหุ้นไทยหรือไม่
January Effect คือ ทฤษฎีที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม เนื่องจากนักลงทุนจะขายทำกำไรจากการลงทุนช่วงสิ้นปีก่อนหยุดยาว และช่วงเดือนมกราคม จะกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้งในสินทรัพย์ที่ราคายังไม่แพง คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือนักลงทุนซื้อคืนภาษีช่วงต้นปี หรืออาจจะนำเงินโบนัสช่วงสิ้นปีมาลงทุนในช่วงเดือนถัดไป (อ้างอิง https://knowledge.bualuang.co.th/)
โดยปกติเดือนมกราคม ไม่ค่อยมีปันผล ผลตอบแทนจึงมักเกิดจากการขึ้นลงของหุ้นล้วนๆ ดังนั้น จึงนำ SET index มาประเมินผลตอบแทน
SET index change (average monthly) on January
จากรูปหากแบ่งเป็นช่วงละ 10 ปี
2000-2009 January effect ไม่เป็นจริง เพราะ บวกครึ่ง ลบครึ่ง
2010-2019 (ก่อน covid) January effect มีแนวโน้มจริง เพราะ บวก 7/10
2020 เป็นต้นมา ลบปีเว้นปี
(หากใช้ตัวเลข SET TRI อาจต่างจากนี้)
แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงรายเดือน เช่น ซื้อช่วงปลายปีที่ไม่ใช่เดือน ธค ก็อาจได้ผลต่างจากนี้
ข้อมูลชุดนี้สอนให้เรารู้ว่า นอกจากดูเป็นรายเดือนแล้ว ยังต้องดูเป็นช่วงทศวรรษด้วย เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย
หมายเหตุ มีการแก้ไขบทความจากก่อนนี้ที่ใช้ SET TRI
คำถามต่อมา SELL in MAY
เอาไว้ต่อตอนหน้าครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา