17 ม.ค. 2023 เวลา 17:01 • ไลฟ์สไตล์
“ไม่ว่าทำอะไรครั้งแรก มันยากทั้งนั้นล่ะ
พอฝึกมากเข้าๆ อีกหน่อยมันก็ง่าย ”
2
“ … สิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายปรารถนา ไม่ใช่ความสุข
แต่ปรารถนาความพ้นทุกข์
อะไรเป็นทุกข์ กายนี้มันทุกข์ ใจนี้มันทุกข์
ทำไมจิตใจมันทุกข์ขึ้นมาได้
เพราะมันมีความอยาก
ทำไมมันถึงมีความอยากเกิดขึ้น
เพราะมันไม่เห็นความจริง
ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืนเลย
โลกนี้ไม่มีอะไรน่ายึดถือ นอกจากทุกข์
โลกนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรหรอก
ถ้าปัญญาแก่กล้าอย่างนี้
ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์
ในโลกนี้ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์
ในโลกนี้ไม่มีอะไรดับไป นอกจากทุกข์
จิตที่เห็นถึงขนาดนี้ มันจะออกจากโลก
จะพ้นจากโลก
1
ภาวนาไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันจะเป็นอย่างนี้ อย่างที่หลวงพ่อบอก แล้วพอถึงสภาวะอันนั้น เราจะพบความแปลกใหม่ในจิตใจ ซึ่งเราไม่เคยพบเคยเห็น
ตรงที่จิตเราคลายออกจากโลกแล้ว มันจะเห็นโลกทั้งหลาย เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านมา แล้วผ่านไปตลอดเวลา เหมือนน้ำไหลผ่านไปเรื่อยๆ
ถ้าสมัยก่อนจีนยังไม่สร้างเขื่อน ก็เหมือนแม่น้ำโขงไหลไปเรื่อยๆ ไหลไปทั้งปี ตอนนี้พอมีเขื่อนกั้น เลยเปรียบแม่น้ำโขงไม่ได้แล้ว เพราะบางทีก็แห้ง
โลกมีสิ่งที่เกิดดับ ในธรรมมีสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ
โลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ปรากฏการณ์อันนี้ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีที่สิ้นสุด ไหลๆๆ ผ่านไปเรื่อย
อย่างถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ เราก็จะว่าบ้านเมืองสมัยก่อนเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้คนก็เปลี่ยนไป
1
อย่างถ้าเราไปดูรูปเก่าๆ รูปเมื่อ 100 ปีก่อน คนในรูปทั้งหมด ตายไปหมดแล้ว ภาพบรรยากาศบ้านเมืองก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว
อย่างเมืองลาวเมื่อก่อน ก็เป็นแบบชนบทเยอะ มีต้นหมากรากไม้ มีสัตว์อะไรอย่างนี้ ร่มเย็น เดี๋ยวนี้ก็เหมือนเมืองไทยแล้ว เริ่มมีถนน มีรถไฟ มีตึกอะไรต่ออะไรขึ้นมา บรรยากาศอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว
ปรากฏการณ์ในยุคไชยเชษฐา กับในยุคสว่างวัฒนา ก็ไม่เหมือนกัน ในยุคนี้กับยุคก่อนก็ไม่เหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเคลื่อนไหวไปตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่มีอะไรหรอก
มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่ไหลผ่านเราไปตลอดเวลา
มีความไม่เที่ยงตลอดเวลา
ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้ เราจะพบสิ่งซึ่งไม่ไหล
สิ่งซึ่งมันเที่ยงอยู่ ก็คือตัวธรรม
จิตยังเข้าถึงธรรมธาตุ ตัวธรรมธาตุ
เวลาภาวนาสุดขีดไปแล้ว มันจะเห็นโลกทั้งโลกนี้เป็นปรากฏการณ์ เหมือนฝันอยู่ จิตมันแยกตัวออกมาต่างหาก แต่มันก็ไม่ได้แยกไปตั้งไว้ที่ใดที่หนึ่ง มันก็ทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น
1
มันจะรู้ว่าโลกไม่มีที่สิ้นสุด แต่ธรรมนั้นมีที่สิ้นสุด
หมดที่จะไปต่อแล้ว มันถึงจุดนั้น
ตรงนั้นเป็นที่ ที่สิ้นทุกข์จริงๆ
เพราะปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้น มันคือปรากฏการณ์ของทุกข์
ไม่มีอย่างอื่นหรอก
ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนา เราจะเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้นๆ ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ปัญญามันเกิดแล้ว จิตมันก็ถอนตัวออกจากโลก เป็นอิสระจากโลก
แต่ไม่ได้ถอนออกมาเป็นดวงๆ ไม่ใช่เหมือนตอนทำสมาธิจิตถอดออกจากร่าง เกิดกายทิพย์ขึ้นมา ไม่ใช่ อันนั้นยังเป็นนิมิตอยู่
อันนี้จิตที่มันเป็นอิสระ
ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง
ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ไม่มีการจุติคือการตาย ไม่มีการอุบัติคือการเกิด
ในโลกมีสิ่งที่เกิดดับ ในธรรมมีสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ
1
เราฝึกนะ แล้ววันหนึ่งเราจะได้ของวิเศษ วันนี้ยังไม่ได้ไม่สำคัญ ขอให้เดินอยู่ในเส้นทางสายกลาง ทางของอริยมรรค
มีสติรักษาจิตไว้ ศีลเราก็จะดี สมาธิเราก็จะดี ปัญญาก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น
ปัญญาเกิดจากการเอาสติคอยรู้กายรู้ใจ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
มีปัญญาเกิดก็จะเกิดการปล่อยวาง
ในที่สุดก็วางโลกลงไป
โลกเป็นแค่ความฝัน โลกเหมือนภาพลวงตา
โลกเป็นแค่ปรากฏการณ์
ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร
ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด
เวลาที่ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ท่านก็ระลึกชาติไป ระลึกไปในอดีต อยากรู้ว่าจุดตั้งต้นของชีวิตมันอยู่ที่ไหน ถ้ารู้จุดตั้งต้นแล้วจะได้ไปละมัน ท่านไล่ๆๆ ไป
ท่านพบว่าสังสารวัฏนี้ ไม่มีจุดตั้งต้นที่จะปรากฏเลย
ระลึกไป สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดไป
ก็ไม่เห็นมันมีที่สิ้นสุดตรงไหนเลย
ท่านก็เลยโน้มน้อมจิตมาสู่ทางสายกลาง
กำหนดอานาปานสติ หายใจเข้า หายใจออก
แต่ท่านคงไม่บริกรรมพุทโธหรอก
เพราะตอนนั้นยังไม่มีพุทโธ
ท่านก็หายใจไปจนจิตสงบ จิตรวม
สว่างไสว สงบ ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสรบกวน
ท่านก็โน้มน้อมจิตไปพิจารณาธรรมะ
ความทุกข์มันเกิดจากอะไร
ความทุกข์มันเกิดจากความเกิด
ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็ไม่ทุกข์
ความเกิดมันเกิดจากอะไร
เกิดจากความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต
คือเกิดจากภพ
ภพเกิดจากอะไร
เกิดจากตัณหา เกิดจากอุปาทาน
อุปาทานก็คือตัณหาที่รุนแรง
อุปาทานเกิดจากตัณหา ความอยาก
ตัณหานั้นเกิดตามเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์มา
เวทนาเกิดจากผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบอารมณ์ ก็เลยเกิดสุข เกิดทุกข์
เวทนามาจากผัสสะ
ผัสสะมาได้เพราะมีอายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีได้ก็เพราะมีจิตหยั่งลง
อย่างเรามีตา แต่ถ้าจิตไม่หยั่งลง ตาก็มองอะไรไม่เห็น
อย่างเรานั่งลืมตาอยู่ ใจลอยอยู่ คนเดินผ่านเรา เราไม่เห็น
วิญญาณไม่ได้หยั่งลง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานไม่ได้
วิญญาณหยั่งลงได้เพราะสังขาร
ความปรุง ปรุงดี ปรุงชั่ว ความพยายามจะไม่ปรุง
ความปรุงทั้งหลายเกิดจากอวิชชา
ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ
ไม่รู้ว่ากายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์
ก็เลยเกิดดิ้นรนปรุงแต่ง
อยากให้กายเป็นสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ขึ้นมา
ก็เลยดิ้นๆ ยิ่งดิ้นยิ่งทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาลงมา ในที่สุดท่านก็ละอวิชชาได้ ก่อนจะไปละอวิชชา ท่านมีสมาธิ จิตท่านตั้งมั่นก่อน
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่น
วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็คือ
อาศัยสติคอยรู้ทันจิตที่มันหลงนั่นล่ะ
หลงคิดรู้ หลงไปคิดรู้
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ ฝึกนะ แล้วศีล สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ขึ้น
บางคนก็คิดว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นบันได 3 ขั้น พูดอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่ตอนที่เกิดอริยมรรคจริงๆ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกัน ในขณะจิตเดียวกัน
เกิดที่เดียวกันคือที่จิต
ไม่ได้แยก ขั้นที่ 1 ถือศีล ขั้นที่ 2 ทำสมาธิ ขั้นที่ 3 มีปัญญา
แต่ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดในขณะจิตเดียวกันนั้นเลย
ปีใหม่แล้วนะ ปีใหม่แล้ว
อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรคงที่
สิ่งที่เรารู้จัก สิ่งที่เราเคยรู้ เคยเห็น เคยคุ้นเคย ก็กำลังเลื่อนเคลื่อนผ่านเราไปตลอดเวลา วันหนึ่งมันก็ผ่านไป ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ คนรุ่นใหม่มันก็มาแทนที่คนรุ่นเก่า
โลกมันหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เราก็ทำความเข้าใจกับมัน อย่าไปคร่ำครวญถึงอดีตซึ่งมันเลยไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องไปห่วงอนาคตมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คอยรู้ คอยดู
ถ้าใจเราเข้าใจความจริงตรงนี้ ใจจะค่อยๆ คลายออกจากโลก อย่างร่างกายเรามันก็เปลี่ยนแปลงทุกวัน จิตใจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฝ้ารู้เฝ้าดู
โลกข้างนอกก็เหมือนกัน ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวก็ปีหนึ่งๆ หนึ่งปีผ่านไป โลกข้างนอกก็เปลี่ยนไป ร่างกายเราก็เปลี่ยนไป จิตใจเราก็เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ วุ่นวายไปเรื่อยๆ
ถ้าคนไหนทำกรรมฐาน 1 ปีผ่านไป
จิตใจเราก็สงบ ตั้งมั่น แข็งแรงมากขึ้น
ถ้าตามใจกิเลส 1 ปีผ่านไป
จิตใจก็ยิ่งลำบากมากขึ้น
ไม่มีอะไรคงที่ ชั่วหรือดีก็ไม่คงที่เหมือนกัน
เรียนรู้ให้เห็นความจริง เราไม่ได้มุ่งไปที่ความดี ความสุข ความสงบอะไรหรอก เพราะความดีไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความสงบไม่เที่ยง เราทำกรรมฐานเพื่อให้จิตมันเห็นความจริง
ป้อนความจริงไว้ให้จิตดู
ความจริงของร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แม้แต่โลกภายนอกก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ป้อนข้อมูลที่ดีๆ อย่างนี้ ข้อมูลที่ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ป้อนเข้าไปให้จิตมันเรียนรู้ไป พอมันรู้ความจริง เดี๋ยวมันก็วางโลกเอง โลกไม่มีอะไรนอกจากทุกข์
พวกเราฝึกนะ พยายามฝึกตัวเองเข้า วันนี้รู้สึกยาก ไม่เป็นไร หัดกรรมฐานใหม่ๆ มันก็ยาก หัดขับรถทีแรกยังยากเลย
ไม่ว่าทำอะไรครั้งแรก มันยากทั้งนั้นล่ะ
พอฝึกมากเข้าๆ อีกหน่อยมันก็ง่าย
แล้วจะรู้สึกเลยกรรมฐานมันง่ายๆ
ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย
มีสติไว้ รู้ทันจิตใจตัวเองไป
ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา
เราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนไป
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้
ให้การบ้านแล้ว อย่ามาบอกว่าหลวงพ่อไม่ได้สอนอะไร สอนแล้ว …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 มกราคม 2566
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา