19 ม.ค. 2023 เวลา 14:53 • ไลฟ์สไตล์

#บาป

บาปไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ (นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต)
บาปคือสิ่งที่เศร้าหมองทางกาย วาจา ใจ
มีผลเป็นความทุกข์
คนเราอาจถูกใส่ความได้ว่า
ทำผิด ทำชั่ว เช่นนั้น
แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำ บาปย่อมไม่มีแก่เขา
มีพระพุทธพจน์ทรงเปรียบไว้ว่า
"เหมือนคนที่ฝ่ามือไม่มีแผล
ย่อมถือเอายาพิษไปได้
ยาพิษไม่กำซาบลงไปในฝ่ามือ
บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ได้ทำ"
แต่ถ้าเขาทำบาปจริง ทำชั่วจริง
แม้จะได้รับคำพิพากษาให้พ้นผิด
ด้วยเหตุที่หลักฐานพยานไม่เพียงพอ เป็นต้น
แต่เขาก็ไม่พ้นจากผลแห่งบาปที่เขาทำ
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอน
ให้เว้นชั่ว ให้กลัวบาปให้มีหิริโอตตัปปะ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"จะอยู่ในอากาศหรือบนภูเขา
หรือในมหาสมุทร ก็ไม่อาจจะหลีกให้พ้น
จากผลแห่งบาปได้" คือไม่มีสถานที่
ที่จะหลบหลีกจากผลแห่งบาป
จึงควรกลัวบาปมากกว่ากลัวเจ็บ กลัวตาย
หรือกลัวเสียทรัพย์ เป็นต้น
บางคนยอมทำบาปเพราะเหตุแห่งทรัพย์
คืออยากได้ทรัพย์ ลักบ้าง ฉ้อโกงบ้าง
ฆ่าเขาเพื่อทรัพย์บ้าง มันไม่คุ้มกันเลย
ในทางธรรมท่านสอนว่า
"เมื่อจำเป็น พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
แต่เมื่อระลึกถึงธรรมคือความถูกต้อง
พึงสละทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิต"
(มหาสุตโสมชาดก)
อย่าดูหมิ่นบาปกรรมจำนวนน้อย
จะไม่ต้อยตามต้องสนองผล
เหมือนตุ่มน้ำเปิดหงายกลางสายชล
ย่อมเต็มล้นด้วยอุทกที่ตกลง
อันคนชั่วสั่งสมบ่มบาปบ่อย
ทีละน้อยทำไปด้วยใจหลง
ย่อมเต็มด้วยบาปนั้นเป็นมั่นคง
บาปจะส่งลงนรกตกอบาย
(กลอนจำ)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"คนทำชั่วหาความสุขได้ยาก"
ตรงกันข้าม คนทำดีย่อมหาความสุขได้ง่าย
โซเครติสกล่าวว่า
"คนดีเป็นคนมีความสุขเสมอ"
แต่ถ้าจำเป็นต้องทุกข์บ้าง
เพื่อทำความดีและรักษาความดีก็ต้องยอม
เพราะมีความสุขรออยู่ข้างหน้า
แต่สำหรับคนชั่ว
แม้จะบันเทิงเริงใจบ้างในเบื้องต้น
ก็มีความทุกข์รออยู่ในเบื้องปลาย
เพราะฉะนั้น "ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะมันจะตามแผดเผาในภายหลังได้"
(พระพุทธพจน์)
วศ.
๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
โวทานธรรม
อาจารย์วศิน อินทสระ
เพจอาจารย์วศิน อินทสระ
โฆษณา