20 ม.ค. 2023 เวลา 07:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Risk-Reward Ratio คืออะไร?

ในโลกของการลงทุนเรามักได้พบกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ความเสี่ยง” และ “ผลตอบแทน” ซึ่งมันมักจะมาคู่กันเสมอ เมื่อเราอยากได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ส่วนใหญ่ก็มักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไรให้สามารถจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้บ้างจากการลงทุนของเรา...ซึ่งวันนี้จะพาไปรู้จักกับ “Risk-Reward Ratio” อีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเปรียบเทียบอัตราส่วนผลตอบแทนต่อความเสี่ยงให้กับเราได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
## Risk-Reward Ratio คืออะไร ##
"Risk Reward Ratio" หรือ "RRR" คือ สัดส่วนที่เปรียบเทียบระหว่าง "ความเสี่ยง" ของจำนวนเงินที่อาจจะต้องสูญไป เทียบกับผลตอบแทนหรือความคาดหวังเป็น "จำนวนเงินที่อาจจะได้รับ" ว่าสัดส่วนของมันนั้นคุ้มค่าที่จะกระโจนเข้าไปเสี่ยงลงทุนในแต่ละครั้งหรือไม่
ทั้งนี้ ในการเข้าซื้อขายของนักลงทุนแต่ละครั้ง มักจะใช้วิธีตั้งค่า “Stop Loss” ตาม Risk ที่เป็นไปได้ (รับได้) ในขณะที่จะกำหนดให้ Take Profit หรือทำกำไรตามเป้าหมายราคาที่สมเหตุสมผลหรือตามแต่กลยุทธ์เฉพาะบุคคล
ซึ่งหากได้มีการกำหนด RRR ไว้ล่วงหน้า ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้อย่างเป็นระบบระเบียบ หรือพูดง่ายๆ คือมีสัดส่วนความเสี่ยงที่รับได้ หรือตัดใจขายได้ทันที และมีสัดส่วนทำกำไรที่ตั้งธงเอาไว้แล้วอย่างแน่วแน่ชัดเจน ไม่ถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำจิตใจนั่นเอง
Image Credit: Pixabay.com
## Risk-Reward Ratio คำนวณอย่างไร? ##
ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราต้องการซื้อหุ้น A ในราคา 100 บาท/หุ้น และเรากำหนด Stop Loss ไว้ที่ราคา 95 บาท/หุ้น และกำหนดคำสั่ง Take Profit ไว้ที่ 125 บาท/หุ้น
นั่นก็หมายความว่า ชุดคำสั่งนี้เรามีโอกาสที่จะขาดทุน (มี “ความเสี่ยง”) คือ 5 บาท/หุ้น และผลตอบแทนหรือกำไรสูงสุดที่เป็นไปได้ คือ 25 บาท/หุ้น
หรือหากเทียบเป็น “ความเสี่ยงต่อผลตอบแทน” แล้วก็จะได้ 5 : 25 หรือคิดเป็นอัตราส่วน 1 : 5 นั่นเอง
ทั้งนี้ ตามตำราแล้วนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะกำหนด RRR กันไว้ที่อัตราส่วน 1 : 3 ซึ่งฟังดูแล้วก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลระดับหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 3 บาท สำหรับทุกๆ 1 บาทที่เสียไป
เพราะการกำหนด RRR เป็นคนละเรื่องกับความน่าจะเป็นของราคาหุ้น หรือสินทรัพย์นั้นๆ ที่จะไปถึงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
เพราะระหว่างทางไปสู่เป้าหมายก็มีความเสี่ยงมากมายที่อาจจะโหมกระหน่ำเข้ามา ทำให้เราไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น ราคาหุ้นไม่ได้วิ่งขึ้นไปอย่างที่เราคิด บริษัทไม่จ่ายเงินปันผลเพราะผลประกอบการออกมาไม่ดี
Image Credit: Pixabay.com
ซึ่งในตลาดเงิน ตลาดทุน มักจะมีปัจจัยที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ เกิดเป็น "ความเสี่ยงเชิงระบบ" หรือที่เรียกว่า "Systematic Risk" ซึ่งอาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้
# Liquidity Risk: ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือ ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถซื้อขาย เข้าและออกจากสถานะที่ต้องการได้
# Correlation Risk: ความเสี่ยงที่สินทรัพย์ที่เลือกลงทุนทั้งหมด จะมีมูลค่าลดลงในเวลาเดียวกันอย่างสัมพันธ์กัน
# Currency Risk: ความเสี่ยงจากมูลค่าที่แปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องแลกกลับมาเป็นสกุลเงินที่เราต้องการ
# Interest Rate Risk: ความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงและส่งผลเสียต่อการลงทุน
# Inflation Risk: ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่จะกัดเซาะและทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจริง ๆ นั้นลดน้อยลง
# Political Risk: ความเสี่ยงของเหตุการณ์ทางการเมือง (การเลือกตั้ง, การรัฐประหาร ฯลฯ) หรือการดำเนินการทางการเมือง (เช่น การออกกฎหมายใหม่) ที่ส่งผลเสียต่อการลงทุน
การรู้จักกับความเสี่ยงข้างต้น และจัดประเภทของมันได้ นับว่ามีประโยชน์อย่างมากกับการพิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับการลงทุนแต่ละประเภท
Image Credit: Pixabay.com
แต่อย่างไรก็ตาม คงจะบอกไม่ได้ว่า Risk-Reward Ratio ที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคนอยู่ที่ตรงไหน เพราะมันจะแตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ รูปแบบการซื้อขายที่เปลี่ยนไป
เช่น ลงทุนสไตล์ "Scalping" (เทรดทำกำไรช่วงสั้นๆ/ครั้ง บนความเชื่อว่าการแกว่งตัวน้อยที่สุดจะทำกำไรได้ปลอดภัยมากที่สุด) ก็จะมี RRR ที่ค่อนข้างต่ำมากหรือติดลบ
ในทางตรงกันข้าม การลงทุนสไตล์ "Swing Trading" (คาดหวังกำไรจากรอบแกว่งตัวระยะสั้น-กลาง ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือย่อซื้อ) ก็จะมี RRR ที่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมต่างๆ และความผันผวนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แน่นอนว่าส่งผลถึงการกำหนด RRR ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ควรมีการปรับเพิ่ม-ลดเป้าหมาย RRR อย่างมี Dynamic ให้เหมาะสมตามแต่สถานการณ์ไป
Image Credit: Pixabay.com
ท้ายที่สุดแล้ว การทดสอบ ฝึกฝน และหาข้อมูลรอบด้าน ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนที่อยากประสบความสำเร็จ
เพราะเมื่อเราสั่งสมความรู้และประสบการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วละก็...เชื่อว่าความเสี่ยงต่างๆ ก็คงลดน้อยลงไป และเป้าหมายหรือผลตอบแทนที่หวังไว้ก็น่าจะขยับเข้ามาใกล้จนสามารถคว้ามันได้ในที่สุด
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา