12 ม.ค. 2023 เวลา 06:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลท. ปรับเกณฑ์ซื้อขายรองรับระบบเทรดใหม่
Image Credit: Pixabay
เมื่อ 6 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แจ้งบนเว็บไซต์เรื่องการปรับเกณฑ์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับระบบซื้อขายใหม่ที่จะเปิดให้บริการในไตรมาส 1 ของปี 2566 นี้
โดยเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ และปรับปรุงให้เหมาะสม ร่วมสมัยกับสภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงยกระดับให้มีความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญของเกณฑ์ที่ปรับปรุงมีดังนี้
## ปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเปิดและราคาปิด (Equilibrium Price) ##
ให้สอดคล้องกับระบบซื้อขายใหม่ และแนวปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยราคาเปิดและราคาปิดอาจอยู่นอกกรอบราคาสูงสุด (Ceiling) และราคาต่ำสุด (Floor) ได้ ±1 ช่วงราคา จากเดิมที่กำหนดให้อยู่ในกรอบราคาที่ไม่เกินกว่า Ceiling & Floor
## เพิ่มเครื่องหมาย P (Pause) ##
สำหรับกรณีที่มีการใช้ “มาตรการกำกับการซื้อขายกับหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด” แทนการใช้เครื่องหมาย SP (Suspension) กับกรณีดังกล่าวในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นแก่ผู้ลงทุน
Image Credit: Pixabay
## เพิ่มประเภทคำสั่งที่มีอายุข้ามวัน (Overnight Order) ##
ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งประเภท Good till Cancel (GTC) หรือ Good till Date (GTD) ได้ ซึ่งคำสั่งที่ยังไม่ถูกจับคู่ จะยังคงค้างอยู่ในระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกว่าจะถูกยกเลิก หรือจนกว่าจะถึงวันที่ผู้ส่งคำสั่งกำหนด แต่ทั้งนี้จะไม่เกินกว่า 30 วัน
## ปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor ของหุ้นที่บุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือ (Foreign) เป็นไม่เกิน ±60% ของราคาอ้างอิงสำหรับทุกวิธีการซื้อขาย ##
ด้วยปัจจุบันการซื้อขายหุ้น Foreign ด้วยวิธี Trade Report สำหรับธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่ (คือจำนวนหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านหน่วยขึ้นไปหรือมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป) มีค่า Ceiling & Floor ที่ไม่เกิน ±30% ของราคาอ้างอิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการซื้อขายหุ้น Foreign ด้วยวิธีการซื้อขายอื่น
## ยกเลิกการซื้อขายหน่วยย่อยของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivatives Warrant: DW) ##
หรือที่เรียกว่า “Odd Lot” ซึ่งเป็นการซื้อขาย DW ที่ต่ำกว่า 100 หน่วย เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขาย DW ที่เป็นหน่วยย่อยมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรด้านระบบและบุคลากรในการจัดการ
โดยผู้ลงทุนอาจจะไม่มีความจำเป็นในการซื้อขายหน่วยย่อยของ DW เนื่องจากกรณีที่หุ้นอ้างอิงประกาศให้สิทธิประโยชน์ เช่น เงินปันผล โดยผู้ออก DW จะส่งต่อสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือ DW ด้วยการปรับอัตราการใช้สิทธิ (Exercise Ratio) หรือราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) ของ DW แทนการปรับจำนวนหน่วยของ DW ทำให้ไม่มีหน่วยย่อยของ DW เกิดขึ้น
Image Credit: Pixabay
นอกจากนี้ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับการซื้อขายโดยรวม ยังได้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้เมื่อเกิดเหตุระบบขัดข้องด้วย
โดยกฎเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่จะมีผลบังคับใช้พร้อมกับการเริ่มใช้ระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566
การปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขายที่เกิดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นการอุดช่องโหว่ของปัญหาในอดีตที่เคยเกิดขึ้น รวมถึงป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมในอนาคต อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ร่วมตลาดรายอื่นๆ อีกทางหนึ่งด้วย
# อ่านรายละเอียดของเกณฑ์ปรับปรุงการซื้อขายเพิ่มเติม https://bit.ly/3IFzF7u
-- ขยายความคำสำคัญ --
# เครื่องหมาย SP (Suspension หรือ Trading Suspension) = เครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขายตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด อ่านเพิ่มเติม https://bit.ly/3GWk2r1
# Good till Cancel (GTC) = คำสั่งจะอยู่ในระบบซื้อขาย จนกว่าจะถูกยกเลิก
 
# Good till Date (GTD) = คำสั่งจะอยู่ในระบบซื้อขายจนถึงวันที่กาหนด หรือจนกว่าจะถูกยกเลิก
Ref: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา