22 ม.ค. 2023 เวลา 08:00 • กีฬา

เวียดนามบนทางสองแพร่ง : การพัฒนาบอลเยาวชนและชุดใหญ่ที่ไม่ไปด้วยกัน | Main Stand

หลายต่อหลายครั้ง การให้เหตุผลเรื่องการมีผลงานที่ยอดเยี่ยมของทีมฟุตบอลทีมใดทีมหนึ่ง มักมุ่งให้ความสนใจไปที่ "การบริหารจัดการเยาวชน" หรือ "อะคาเดมี" เป็นสำคัญ
2
นั่นเพราะการมีทุนทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝน หรือสร้างขึ้นมาเป็นระบบระเบียบแบบแผนในระยะเวลาหนึ่งในระดับที่มีคุณภาพ ย่อมทำให้เกิดตัวเลือกที่หลากหลาย แต่กลับมีวิถีทางการเล่นที่คล้ายคลึงกัน ประหนึ่งออกมาจากเบ้าหลอมบล็อกเดียวกัน อย่างที่ประเทศไทยพยายามทำ "ไทยแลนด์ เวย์" ก็มาจากวิธีคิดแบบนี้เช่นกัน
กระนั้น ใช่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในบางครั้ง การปะทุฟอร์มการเล่นระดับเทพเจ้าขึ้นมา ก็อาจจะเป็นแค่เรื่องของความบังเอิญ ที่อยู่ ๆ นักเตะก็พากันองค์ลง โชว์ฟอร์มการเล่นระดับเทพ หรือเกิด "ยุคทอง" ที่นักเตะฝีเท้าดีพร้อมใจกันปรากฏตัว พาทีมประสบความสำเร็จนานับประการแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และแน่นอน หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดที่สุดของประเด็นนี้คือ "ทีมชาติเวียดนาม"
เกิดอะไรขึ้น? เหตุใดเวียดนามที่อุดมไปด้วยแกนหลักเป็นนักเตะพลังหนุ่ม และเยาวชนอนาคตใหม่ จึงเข้าข่ายดังกล่าว ร่วมติดตามการให้เหตุผล "ที่ดูจะไม่เป็นเหตุผล" ในการพิจารณาเยาวชนเวียดนามกับทีมชาติชุดใหญ่นี้ไปพร้อมกับ Main Stand
PVF ไม่ใช่สูตรสำเร็จ
ก่อนอื่นนั้น ต้องเท้าความก่อนว่า แท้จริง ระบบการบริหารจัดการเยาวชนของเวียดนามมีหลากหลาย ทั้งในระดับสโมสรทำเอง เอกชนทำเอง อย่าง ไรซิ่ง สตาร์ อะคาเดมี หรือการเข้ามาเปิดอะคาเดมีของสโมสรโลกตะวันตก อย่าง ยูเวนตุส เวียดนาม อะคาเดมี ซึ่งดำรงอยู่ในวงการฟุตบอลเวียดนามมาประมาณหนึ่ง
กระนั้น การบริหารจัดการอะคาเดมีที่มาจากภาครัฐ สำหรับทีมชาติเวียดนามโดยตรง เพิ่งก่อร่างสร้างตนขึ้นมาเมื่อปี 2009 โดยใช้ชื่อว่า "Quỹ Đầu tư và Phát triển Tài năng Bóng đá Việt Nam" แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "The Promotion Fund of Vietnamese Football Talent" หรือเรียกย่อ ๆ ว่า PVF ซึ่งเป็นนโยบายของ ฝอ ฟัน เกี๊ยท (Võ Văn Kiệt) นายกรัฐมนตรีเวียดนามในขณะนั้น
ด้วยความคิดที่ต่อยอดมาจากการคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ คัพ 2008 ในการประกอบสร้างระบบอะคาเดมีแบบเป็นกิจลักษณะ เพื่อทำให้เยาวชนติดตั้งชุดวิธีคิดในการเล่นฟุตบอลแบบเดียวกัน ให้เป็นมาตรฐานของเวียดนาม และเพื่อให้เกิดการผลิตเยาวชนขึ้นมาทดแทน ป้อนเข้าสู่ทีมชาติชุดใหญ่จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้ขาดตอน
1
โดยมี หวิ่งกรุ๊ป (Vingroup) บริษัทสัวเครือยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม (ความยิ่งใหญ่คล้ายคลึงกับ ซีพี ของไทย) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 90 และ PVF ถือหุ้นร้อยละ 10 โดยทำการสร้างศูนย์ฝึกขนาดใหญ่ที่จังหวัด หุง เยิน (Hưng Yên) มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแบบที่ศูนย์ฝึกสากลตามโลกตะวันตกควรจะมี
และที่สำคัญ ยังได้ทำพันธะสัญญากับ มหาวิทยาลัย ว่าน หลัง (Văn Lang University) เพื่อให้การศึกษาแก่บรรดาแข้งเยาวชนในอาณัติอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของการสร้างคนฟุตบอลเพียงประการเดียว แต่ยังคำนึงถึงอนาคตข้างหน้าต่อไปของบรรดาเยาวชนเหล่านี้
1
กระนั้น แม้จะเป็นอะคาเดมีครับวงจรที่ใหม่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเกิดขึ้นมาภายหลังอะคาเดมีระดับสโมสรอื่น ๆ ในเวียดนามอยู่หลายปี แต่ PVF นั้น เรียกได้ว่าไล่เก็บอะคาเดมีอื่น ๆ ในประเทศเรียบหมด โดยขุนพลรุ่นแรกจำนวน 50 คน ในระดับ U-13, U-15, U-17 และ U-19 กวาดมาแล้วทุกแชมป์ระดับเยาวชนในประเทศ
ไม่เพียงแต่ผลงานในสนามเท่านั้น ในปี 2020 PVF ได้รับการประเมินจาก AFC Elite Youth Scheme ให้ได้รับการันตีเป็นอะคาเดมีระดับ 3 ดาว ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดของเอเชีย ร่วมกับ แอสไพร์ อะคาเดมี ของกาตาร์ และชอนบุค ฮุนได มอเตอร์ส อะคาเดมี ของเกาหลีใต้ (ประเมิน 3 ปีครั้ง)
อีกทั้ง ยังได้เคยลงนาม MOU กับสโมสรกัมบะ โอซาก้า ของเจลีก ในปี 2015 เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ของบุคลากร PVF โดยส่งไปเรียนรู้งานถึงประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำกลับเข้ามาบริหารจัดการ และฝึกสอนเยาวชนในภายหลัง
แม้มองเพียงผิวเผิน อาจจะทำให้เกิดอาการฝันหวานได้โดยง่าย เมื่อเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของ PVF ในเนื้อที่ระดับกว่า 2 แสนตารางเมตร รวมถึงมีครบครัน ทั้งสปอร์ตคอมเพล็กซ์ โรงยิม สระน้ำวนบำบัด สระน้ำกายภาพบำบัด และสนามฟุตบอลกว่า 4 พันที่นั่ง กระนั้น เมื่อสิ่งที่วัดฟุตบอลอะคาเดมีได้ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของ "การผลิตเพื่อป้อนทีมชาติ" ตรงนี้ PVF ยังถือว่าห่างไกลอย่างมาก
นับเฉพาะจนถึงตอนนี้ PVF ผลิตนักฟุตบอลออกมาได้ 2 รุ่น รวมทั้งหมด 27 คน แต่มีเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ที่สามารถไต่บันไดขึ้นไปจนถึงการติดทีมชาติชุดใหญ่ได้ นั่นคือ ฮา ดึก ชิน (Hà Đức Chinh) ศูนย์หน้าของโทปแลนด์ บินห์ ดินห์ ที่ได้ติดทีมชาติไปคว้มแชมป์ เอเอฟเอฟ คัพ 2018 แต่ที่พีกกว่านั้น คือตั้งแต่ติดทีมชาติจนถึงทุกวันนี้ เจ้าตัวไม่เคยใส่สกอร์ให้พลพรรคดาวทองได้เลย แม้แต่ในเกมกระชับมิตรก็ตาม
จริงอยู่ ที่ในระดับเยาวชน PVF จะสามารถผลิตป้อนทีมชาติเวียดนามในระดับเยาวชนได้ทุกชุด (U-23 ลงไป) แต่ใช่ว่าเยาวชนในสังกัดเหล่านั้นจะโชว์ฟอร์มได้สมกับราคาศูนย์ฝึกที่ลงทุนไป และส่วนมากมักหยุดอยู่เพียงการติดทีมชาติ U-19 หรือไม่หากหลุดไปถึง U-23 ได้ มักตกเป็นนักเตะสำรอง นั่งข้างสนามดูนักเตะที่มาจากระดับอะคาเดมีสโมสร ระดับโรงเรียน หรือกระทั่งแค่ระดับเพชรในตมที่เพิ่งเข้ามาเจียระไนโดยโค้ชเยาวชนทีมชาติในชุดนั้น ๆ เสียด้วยซ้ำ
1
กลับกัน อะคาเดมีที่ยุบไปแล้วอย่าง Hoang Anh Gia Lai – Arsenal JMG Academy กลับสร้างนักฟุตบอลขึ้นมาติดทีมชาติได้มากกว่าหลายขุม หรือแม้กระทั่งการเติบโตขึ้นมาด้วยอะคาเดมีแบบกระท่อนกระแท่น อย่างพวกเหงียน เตียน หลิ่ง โด ฮุง ดุง หรือเกว๋ หง็อก ไห่ ไม่ได้มีพร้อมสรรพแบบ PVF ยังทำผลงานได้ดีกว่าแบบเหลือเชื่อ
1
คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ ? หากถามให้ลึกไปกว่านั้นคือ เหตุใด PVF ที่ออกแบบมาเพื่อป้อนเยาวชนให้ทีมชาติ จึงกลายเป็นเส้นขนานกับทีมชาติเสียเอง? หรือหากถามในมุมมองด้านกลับ อาจได้ความว่า ทีมชาติเวียดนามมีสิ่งใดที่เข้ากันไม่ได้กับแนวทางของ PVF หรือไม่ ?
เพื่อตอบคำถามในข้อท้ายสุด จำเป็นที่จะต้องนำตัวแปรสำคัญอีกหนึ่งตัวแปรเข้ามาพิจารณา นั่นคือ "ความเข้ากันไม่ได้" บางอย่างของชุดเล็กและชุดใหญ่
ทรุส์ซิเยร์ ไม่เข้ากับ บอลวิ่งสู้ฟัด
อย่างที่ทราบกันดีว่า PVF ได้เรียนเชิญ ฟิลลิป ทรุส์ซิเยร์ (Philippe Troussier) ขึ้นมาเป็นประธานเทคนิค ซึ่งโดยพฤตินัยคือประธานเทคนิคของทีมชาติเวียดนามด้วย เพื่อวางโครงสร้าง แบบแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการประกอบสร้างระบบเยาวชนของเวียดนาม ในปี 2018 และในอีกปีต่อมา (2019) สมาคมฟุตบอลเวียดนาม ได้แต่ตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าโค้ชทีมชาติชุด U-19 ควบคู่กันไปด้วย หรือก็คือ ทรุส์ซิเยร์ต้องทำงานบริหาร และงานฝึกสอนเยาวชนไปพร้อม ๆ กัน
กระนั้น แม้ดีกรีของเขาจะอยู่ในระดับเทพเจ้าแห่งโค้ชสำหรับแอฟริกาและเอเชียตะวันออก สมกับฉายา "คุณหมอพ่อมดขาว" หากแต่เวียดนาม U-19 ในมือของเขา กลับไม่ได้มีสิ่งใดที่น่าจดจำมากเท่าที่ควร นั่นเพราะ การเข้ามารับตำแหน่งของเขานั้น อยู่ในช่วง โควิด-19 พอดิบพอดี
ดังนั้น จึงไม่ได้มีการแข่งขัน ล่วงมาจนถึงช่วงกลางปี 2020 ที่ฟุตบอลกลับมาเตะได้ ก็ทำได้เพียงแข่งอุ่นเครื่องประปราย ส่วนทัวร์นาเมนต์ที่สมาคมหมายมั่นปั้นมืออย่าง AFC U-19 Championship ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศอุซเบกิสถานในเดือนตุลาคม 2020 ก็เลื่อนแข่งขันแบบไม่มีกำหนด (ต่อมาได้ยกเลิกการแข่งขันดังกล่าว และมีกำหนดจัดใหม่ในเดือนมีนาคม 2023 นี้ ที่อุซเบกิสถานเช่นเดิม ทว่าได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น AFC U-20 Asian Cup) ทำให้ทรุส์ซิเยร์ไม่เคยได้มีโอกาสแสดงฝีมืออย่างจริงจัง
มิหนำซ้ำ เจ้าตัวยังขอลาออกจากทุกตำแหน่งกับเวียดนาม เพื่อขอกลับบ้านเกิดไปแบบหน้าตาเฉย โดยไม่ได้ให้เหตุผลใด ๆ แก่สาธารณชน แต่หลายสื่อต่างมุ่งความสนใจไปว่า เจ้าตัวมีปัญหาไม่ลงรอยกับ พัค ฮัง ซอ หัวหน้าโค้ชทีมชาติเวียดนามชุดใหญ่ ควบ U-23 ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนหน้างานและคนคุมชุดที่ใหญ่กว่าเขา
แม้จะเป็นเพียงข่าวลือและการคาดเดา หากแต่ประเด็นนี้ หากคิดให้ลึกลงไปอีกขั้น จะพบว่า มีความสำคัญอยู่ประการหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของ "แนวทางการทำทีม"
ทรุส์ซิเยร์ เป็นกุนซือที่มาพร้อมกับปรัชญาการทำทีมประเภท "เดินหน้าฆ่าไม่ยั้ง" ไม่ได้สนใจว่าทีมตนนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ไม่เคยหวั่นเกรง เห็นได้จากการยกระดับ ไนจีเรีย, บูร์กินา ฟาโซ และแอฟริกาใต้ ให้สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ในแอฟริกา อย่างพวกอียิปต์ โมร็อกโก หรือแอลจีเรีย ได้
แต่ที่เห็นได้ชัดกว่านั้น คือการเข้ามาทำทีมชาติญี่ปุ่น โดยพาคว้าแชมป์เอเชียน คัพ 2000 แบบไร้พ่าย พาคว้ารองแชมป์ คอนเฟดเดอเรชั่น คัพ 2001 โดยการเสมอบราซิลชุดใหญ่ และพาเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2002 ได้เป็นครั้งแรก
ผิดกับพัค ฮัง ซอ ที่เน้นทำทีมแบบ "รับแน่น ๆ แล้ววิ่งสู้ฟัด" ตามแบบฉบับของโคเรียน เวย์ พละกำลังต้องมาก่อน วิ่งไม่มีหมดตลอด 90 นาที ไล่เพรสให้ถึงเครื่อง แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือเกมรับ ไม่ได้อย่าให้เสีย รอจังหวะคู่ต่อสู้พลาดค่อยสวนกลับตูมเดียวหาย
ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ทำให้เวียดนามไปไกลถึงรองแชมป์ เอเอฟซี U-23 2018, แชมป์เอเอฟเอฟ คัพ 2018, เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเชียน คัพ 2019 และแชมป์ซีเกมส์ 2 สมัยซ้อนมาแล้ว รวมถึงสามารถทำให้บรรดายักษ์ใหญ่เอเชียมีเสียววูบยามต่อกรกับพลพรรคดาวทองได้แบบเหลือเชื่อ
เมื่อพิจารณาตรงนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความ "ลักลั่น (Paradox)" ในแนวทางของเยาวชนและชุดใหญ่ เพราะการเลือกนักเตะนั้น บางครั้งไม่ได้พิจารณาแค่เพียงเบสิค ความฉกาจสุดในรุ่น หรือการได้รับการฝึกฝนในสภาพแวดล้อมที่ดีและพร้อมสรรพ เพียงประการเดียว หากแต่นักเตะคนนั้นๆ "ไม่เข้าแทคติก" ย่อมไม่ใช่ตัวเลือกของโค้ชอย่างแน่นอน
เช่นนี้ จึงเข้าทำนอง "คนผลิตไม่ตรงความต้องการคนใช้งาน คนใช้งานไม่อยากใช้ของที่ผลิต" ไปเสียเฉย ๆ
เกิดอีกกี่ชาติ ก็ไม่มีกุนซือปราชญ์ชื่อ ฮัง ซอ
แม้จะเห็นได้ชัดถึงความลักลั่นบางอย่างในเรื่องของแทคติกที่ยกขึ้นมาเป็นวิถีทางการทำทีมฟุตบอลของสองหัวเรือแห่งเวียดนาม ซึ่งส่งผลให้ทุนทรัพยากรมนุษย์ระดับเยาวชนไม่ตรงล็อกกับการใช้งานในชุดใหญ่ หากแต่กลับกัน ในระดับเยาวชน โดยเฉพาะ U-23 ของเวียดนาม ที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กลับผงาดขึ้นมาครองความเป็นเจ้าแห่งอาเซียนได้อย่างเหลือเชื่อ
ตรงนี้ ต้องนับว่าเป็นเรื่องบังเอิญอย่างมาก หรืออาจจะนับเป็นความโชคดียิ่งกว่าสามล้อถูกหวย เมื่อการกุมบังเหียน เป็นของชายที่ชื่อว่า พัค ฮัง ซอ
เพราะไม่มีการให้เหตุผล "ที่เป็นเหตุเป็นผล" ใด ๆ เลย ในการเข้ามาสร้างชุดคำอธิบายได้ว่า ในเมื่อปัจจัยเรื่องทรัพยากรที่ภาครัฐและสมาคมพยายามสร้างแทบตายกว่า 10 ปี กลับมีแก่นแกนที่ตรงข้ามกับวิถีของตนเอง แล้วยังไปแสวงหาทรัพยากรอื่นๆ เข้ามาทดแทน หรืออาจจะเรียกได้ว่า สร้างทรัพยากรใหม่ขึ้นมาในช่วงที่พ้นเยาวชนไปแล้ว เพื่อมาสนองตอบต่อการเล่นทีมชาติชุดใหญ่ได้อย่างไม่เคอะเขิน ตรงนี้ นับว่ามงกุฎต้องลงที่ศีรษะของโค้ชพัคอย่างไม่ต้องสงสัย
แน่นอน การให้เหตุผลเช่นนี้ ไม่ได้ทำลายคำอธิบายเชิง Common Sense ที่มักจะบอกว่า "หากไม่สร้างเยาวชนเป็นแบบแผน ทีมชาติชุดใหญ่ไม่มีทางประสบความสำเร็จ" ซึ่งมีหลายประเทศที่เดินตามรอยเช่นนี้ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือกาตาร์ หากแต่ในบางครั้ง คำอธิบายเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะครอบคลุมได้หมดทุกสิ่งเสมอไป
อย่างกรณีของเวียดนาม อาจจะต้องแก้ไขตัวแปรแรกให้เป็นประมาณว่า "หากไม่มีพัค ฮัง ซอ ทีมชาติชุดใหญ่ไม่มีทางประสบความสำเร็จ" ดูท่าว่าจะเข้าเค้ากว่ามาก เพราะเขาเก่งจริง ๆ ไม่เช่นนั้นเวียดนามไม่ได้ผงาดขึ้นมาทาบรัศมีกับทีมชาติไทย หรือขนาดที่อันดับโลกแซงไปนานแล้ว
ซึ่งตรงนี้คือปาฏิหาริย์จริง ๆ ที่นานๆ จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ให้ลองคิดดูว่า หากไม่ใช่พัค เวียดนามจะสามารถมาถึงจุดนี้ได้หรือไม่ ?
หรือหากคิดทบกลับไปอีกชั้นหนึ่ง หากนำเข้าโค้ชที่มีวิถีแบบเกมบุกเข้ามาทำทีมเวียดนาม ซึ่งตรงตามที่ประธานเทคนิควางรอยทางไว้ เวียดนามจะมีหน้าตาเช่นไร ? การแต่งตั้งทรุส์ซิเยร์ เจ้าของการวางแนวทาง PVF ให้ขึ้นมาทำทีมโดยตรง อาจแสดงคำตอบที่ว่านี้ในไม่ช้า
แต่อย่าลืมว่า กีฬาฟุตบอลมาพร้อมกับความบังเอิญและปาฏิหาริย์ ไม่เช่นนั้นวิธีคิดอาจจะเหลือเพียงพิจารณาค่าสถิติต่าง ๆ เพื่อใช้ในการบ่งบอกผลลัพธ์ได้ทั้งหมด
บางที การไม่จำเป็นต้องหาความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนต่าง ๆ ให้ปวดกบาล คิดเพียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงแค่เกิดขึ้นแบบทันที ไม่มีปี่มีขลุ่ย อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งของการให้เหตุผล "ที่แทบจะไม่มีเหตุผล" ก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable
โฆษณา