22 ม.ค. 2023 เวลา 13:33 • ความคิดเห็น

📺"ความอดทนของคนต่าง Gen" ถอดบทเรียนจาก iUVday EP.4 Generation Gap ในที่ทำงาน

"เด็กสมัยนี้ไม่อดทน"
เป็นคำที่เรามักได้ยินได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ในยุคที่ #GenerationGap หรือ #ช่องว่างระหว่างวัย ค่อย ๆ ขยายจนเด่นชัดขึ้นทุกที
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2022 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปถ่ายรายการ iUVday "วันที่เรานั้นเข้าใจ" ทางช่อง บ่อจอย Channel ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและจิตวิทยาทั่วไปให้แก่สังคมไทย ของทาง #สสส บรรยากาศการถ่ายรายการวันนั้นสนุกมากและตัวผมเองก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกคนในรายการไปหลายเรื่องเลย บทความนี้เลยจะมาถอดบทเรียนจากการไปถ่ายรายการในวันนั้นผ่านหัวข้อ "ความอดทนของคนต่าง Gen" กันครับ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าครับว่า "Generation Gap" หรือ "ช่องว่างระหว่างวัย" คืออะไร?
อธิบายง่าย ๆ ตามที่ผมเข้าใจ "Gap" หรือ "ช่องว่าง" ตรงนี้มันคือความต่างกันระหว่าง "เวลา และ บริบทของเวลา (Context)" เป็นความแตกต่างระหว่างชุดความคิดความเชื่อจากบริบทเดิมของตน (pre-perception) มาตัดสินหรือมองโลกในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าใช้บริบทจากสิ่งที่ดีในสมัยที่ตนอายุพอ ๆ กันกับลูกน้องหรือตอนที่อยู่ตำแหน่งเดียวกันกับลูกน้องมาตัดสินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกน้องในยุคปัจจุบัน ทางฝั่งลูกน้องเองก็ไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่หัวหน้าพยายามจะบอกให้ทำ เพราะไม่เคยอยู่ในบริบทเดียวกันกับหัวหน้า...
นั่นจึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันจนเกิดเป็น "ช่องว่าง" ขึ้นมา
และช่องว่างนี้มันก็ยิ่งขยายมากยิ่งขึ้น เด่นชัดมากขึ้นในยุคที่โลกของเราเปิดกว้างและมีความแตกต่างหลากหลาย (Globalization) มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้มีข้อมูลอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด (Digitalization) โลกจึงหมุนเร็วจนทำให้เกิดความต่างระหว่าง "เวลา และ บริบทของเวลา (Context)"
แล้วทำไมคนรุ่นก่อนถึงบอกว่า "เด็กสมัยนี้ไม่อดทน"
ส่วนหนึ่งผมมองว่ามันมาจากบริบทในสมัยก่อนที่ทำให้เขาไม่ได้มีทางเลือกมากนัก การย้ายงานบ่อยรวมไปถึงการลุกขึ้นมาโต้เถียงกับคนที่มีอำนาจเหนือกว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ทำให้ทางเลือกที่เขาพอจะเลือกได้มีอยู่ไม่มากนัก หนึ่งในั้นคือ "การอดทน" และมันก็มักจะได้ผลดีซะด้วยในระยะยาว ทำให้คนรุ่นก่อนเรียนรู้มาแบบนั้นผ่านบริบทสังคมในสมัยนั้น และเมื่อมองกลับมาในปัจจุบันคนรุ่นก่อนก็อยากจะให้เด็กสมัยนี้มีความอดทนเหมือนกันเพราะเขารู้ว่ามันดียังไง
แต่ในมุมมองของเด็กสมัยนี้ ที่โตมากับข้อมูลหลากหลายมากมายเต็มไปหมด การเข้าถึงข้อมูลก็แสนจะง่ายดาย อยากรู้อะไรก็ค้นหาได้ในไม่กี่คลิ๊ก อยากลองอะไรอยากเป็นอะไรก็มีเวทีมีสนามให้พวกเขาได้ลองทำอยู่เยอะแยะ ทำให้พวกเขาคุ้นชินกับการลองทำนู่นทำนี่มีตัวเลือกมากมาย การจะทนจะอดอยู่กับสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทนนั้นดูไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นในมุมนึงก็ไม่ใช่ว่า "เด็กสมัยนี้ไม่อดทน" แต่ "เด็กสมัยนี้อดทนกับสิ่งที่เขารู้แน่ชัดว่าจะต้องอดทนไปเพื่ออะไร"
อีกมุมนึงที่พี่ติช่าได้พูดไว้ก็น่าสนใจเหมือนกัน นั่นคือเรื่องของอายุ หรือจะให้ตีกรอบชัด ๆ ก็จะเป็นเรื่องของ "วุฒิภาวะ" ตอนเด็ก ๆ เราก็ไม่ได้มีความอดทนเท่าเราตอนนี้ และเราตอนนี้ก็ไม่ได้มีความอดทนเท่าเราในอีก 10 20 ปีข้างหน้าเช่นกัน ความอดทนเองก็เป็นทักษะหนึ่งที่สามารถพัฒนาและเติบโตขึ้นได้จากประสบการณ์และการฝึกฝน
สุดท้ายแล้ว "เด็กสมัยนี้" จะอดทนหรือไม่
เถียงกันไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ถ้าเกิดเรายังคงมองกันคนละมุม ยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าสิ่งที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่คืออะไร มันก็จะเป็นได้แค่การเถียง แต่ถ้าเราวางใจเราลงสักแปปนึง ฟังเหตุผลกันมากขึ้น จากการ "เถียง" ก็จะกลายเป็น "ถกเถียง" ที่สร้างสรรค์กว่าขึ้นมาได้
เหนือสิ่งอื่นใดความเข้าอกเข้าใจกัน (Empathy) ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ที่จะช่วยขยับจาก "ช่องว่าง" ระหว่างวัย ให้เป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ของคนต่าง Gen ในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น
"Just Take a baby step." 👶🏻 By #มนุดปอ #manudpor
#psychology #จิตวิทยา #พัฒนาตนเอง #selfdevelopment | 001/2023 (มนุดปอ Ep.128)
👨🏻‍🏫อ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
📺รายการ
- iUVday EP.4 Generation Gap ในที่ทำงาน | บ่อจอย Channel
📃บทความ
- ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap | schoolofchangemakers
- Generation Gap เมื่อคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เดินกันไปคนละทิศ | creativetalklive
โฆษณา