30 ม.ค. 2023 เวลา 16:00 • บันเทิง

″บง” (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม ”แท่งไฟ” ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต “K-POP”

“แท่งไฟ” (Light Stick) หรือ “บง” (봉) ไอเท็มจำเป็นของคอนเสิร์ต “K-POP” ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับค่ายเพลง จนแข่งกันครีเอทให้ “บง” เป็นได้มากกว่า “บง” ชนิดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง!
แสงไฟระยิบระยับสว่างไสวสีสันสวยงาม จาก “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือ “บง” ที่ฉายแสงออกมาท่ามกลางกลุ่มแฟนคลับที่กำลังสนุกสนานและอิ่มเอมไปกับการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปิน “K-POP” ที่พวกเขาหลงรัก เป็นหนึ่งในไอเท็มที่ขาดไม่ได้ในการไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงการเป็นแฟนด้อมและการแสดงความรักที่มีต่อศิลปินแล้ว ยังช่วยให้การรับชมคอนเสิร์ตของแฟนคลับสนุกสนานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลงได้เป็นกอบเป็นกำ
🔦จุดกำเนิดของแท่งไฟ
หากจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวของแต่ละวง ย่อมการันตีได้ว่าส่วนมากคนที่ไปดูคอนเสิร์ตจะเป็นแฟนคลับของศิลปินวงนั้น แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปิน แฟนคลับจะทำอย่างไรถึงจะให้ศิลปินของพวกเขาได้เห็นว่า มีแฟนคลับมาให้กำลังใจอยู่?
1
ในระยะแรกนั้น เหล่าแฟนคลับได้หยิบเอาอัตลักษณ์ของศิลปินมาใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ศิลปินได้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนอยู่และให้กำลังอยู่เสมอ ผ่าน “ลูกโป่ง” ที่มีสีประจำวงเป็นตัวแทน เมื่อศิลปินมองลงมาจากเวทีจะได้เห็นเหล่าแฟนคลับที่อยู่บนอัฒจันทร์อย่างชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะนั่งอยู่บนจุดสูงสุด หรือที่เรียกว่า “ยอดดอย” ก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้ดีกับงานกลางแจ้งเท่านั้น เพราะเมื่อเวลากลางคืนหรือในฮอลล์ที่ต้องปิดไฟระหว่างการแสดง ศิลปินไม่สามารถมองเห็นกลุ่มแฟนคลับได้ เพราะลูกโป่งไม่มีแสงสว่างในตัวเอง
ต่อมาจึงได้มีการคิดค้น “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือที่เรียกกันจนติดปากในหมู่แฟนคลับว่า “บง” (봉) เปรียบเสมือนกับอุปกรณ์เชียร์ระหว่างดูคอนเสิร์ต ไม่แตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ชมจุดไฟแช็ก หรือเปิดแฟลชจากสมาร์ทโฟนแล้วยกขึ้นโบกไปมาเพื่อมีส่วนร่วมกับศิลปินและให้พวกเขาได้เห็นว่ามีกลุ่มแฟนคลับที่คอยให้กำลังใจอยู่ตรงนี้
1
🔦แท่งไฟ สินค้าทำรายได้ให้ค่าย
เพื่อให้บงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ค่ายเพลงจึงใช้โอกาสนี้ในการออกแท่งไฟอย่างเป็นทางการขึ้นมาจากการนำอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของศิลปินมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นตราสัญลักษณ์ของวง สีประจำวง ตลอดจนมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ โดยแท่งไฟนี้ใช้ความสว่างจากหลอดไฟ LED ใช้พลังงานจากถ่ายแอลคาไลน์ขนาด AAA จำนวน 3 ก้อน และมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีส่วนก้านให้จับได้ถนัดมือ โดยในปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,200 บาท
เนื่องด้วยราคาที่แสนมหัศจรรย์แบบนี้ แต่โอกาสใช้แทบจะไม่มี (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) ทำให้แฟนคลับหลายคนคิดหนักว่าจะซื้อแท่งไฟนี้ดีหรือไม่ ค่ายเพลงจึงต้องแก้เกมด้วยการหา “ของแถม” มาล่อตาล่อใจแฟนคลับ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น “การ์ดไอดอล” แบบพิเศษที่จะได้ก็ต่อเมื่อซื้อแท่งไฟนี้เท่านั้น โดยมักจะมาในรูปของศิลปินถือแท่งไฟ ให้แฟนคลับได้นำไปสะสมกัน
ในปัจจุบัน แท่งไฟไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่โบกให้กำลังใจศิลปินเท่านั้น เพราะแท่งไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดแท่งไฟขึ้นมา และทำการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันของแท่งไฟ เพียงเท่านี้แท่งไฟก็จะเปลี่ยนสีไปตามการแสดงต่าง ๆ ในคอนเสิร์ตตามที่ได้ถูกเซ็ตติ้งไว้ ด้วยระบบส่งสัญญาณแบบบลูทูธ หรือ NFC ขึ้นอยู่กับบงแต่ละรุ่น
🔦ลูกเล่นที่เป็นได้มากกว่า “แท่งไฟ”
นอกจากนี้ในบงรุ่นหลัง ๆ ยังสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างหลากหลายตามต้องการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สีของวงและสีขาวเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนโหมดให้เป็นแบบกะพริบตามจังหวะได้อีกด้วย บางครั้งบงก็ทำหน้าที่มากกว่าบง เพราะสามารถใช้เป็นพาวเวอร์แบงก์ได้ด้วย รวมถึงสามารถปรับความสว่างได้ เพื่อใช้เป็นไฟฉายนำทางเวลาเดินกลับบ้านดึก ๆ หลังจากคอนเสิร์ตเลิก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ศิลปินทุกวงที่จะมีแท่งไฟเป็นของตนเอง ดังนั้นการที่ศิลปินมีแท่งไฟจึงการันตีได้ว่าพวกเขานั้นมีชื่อเสียงพอสมควร และมีแฟนคลับอยู่จำนวนหนึ่งที่เพียงพอจะทำแท่งไฟออกมาขายโดยไม่ขาดทุน และยิ่งมีแท่งไฟออกมาหลายรุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าศิลปินเหล่านั้นมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วย
ในประเทศไทยที่วงการ T-POP กำลังกลับมาคึกคัก ค่ายเพลงเริ่มรับวัฒนธรรมแท่งไฟมาใช้กับศิลปินไทยบางส่วนเช่นกัน
เนื่องด้วย ประเทศไทยที่นิยมฟังเพลงจากบริการสตรีมมิงเป็นหลัก ไม่ได้เน้นซื้ออัลบั้มเหมือนกับตลาดเพลงประเทศอื่น ๆ การทำสินค้าที่ระลึก รวมไปถึงแท่งไฟ ออกมาขาย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่สำหรับวงการ K-POP แล้ว แท่งไฟเปรียบเสมือนสิ่งที่แสดงความรักของแฟนคลับที่มีต่อศิลปิน ดังนั้นจึงเป็นไอเท็มที่ทุกคนต้องมี แต่ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าคุณจะไปดูคอนเสิร์ตแล้วไม่มีบง ขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าและกำลังทรัพย์ที่มี
1
โฆษณา