24 ม.ค. 2023 เวลา 08:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

" Universe 25 " การจำลองเมืองแห่งความสุข สู่การล่มสลายที่น่าเศร้า

จะเป็นยังไงหากเราอาศัยอยู่ในยูโทเปีย โลกที่เราไม่ต้องทำงานหาเงินเพื่อใช้จ่าย อยู่ฟรี กินฟรี ทรัพยากรมีให้อย่างเพียงพอ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นี่มันโลกในฝันชัด ๆ
คนเราไม่ต้องทำอะไรก็มีกิน สามารถใช้ชีวิตสบายๆ คิดว่าที่แบบนั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตแบบไหนบ้าง?
ในช่วงปี 1965 – 1973 John B Calhoun นักชาติพันธุ์วิทยา และนักวิจัยด้านพฤติกรรมชาวอเมริกัน ได้สร้างเมืองจำลองแห่งหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า ‘Universe 25’ เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความต้องการทั้งหมดในสังคมของเราได้รับการตอบสนอง”
โดยในเวลานั้น เขาและทีมงานได้ ทดลองสร้างสิ่งแวดล้อมปิดที่ราวกับเป็นยูโทเปียของหนูขึ้น ด้วยการนำพวกมันไปอาศัยในพื้นที่ทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งเหล่าหนูจะสามารถกินอาหารแบบไร้ขีดจำกัดจากท่อส่งอาหารและน้ำ 16 ท่อ
พื้นที่ภายในเรียกว่า สแควร์หลัก (main square) ซึ่งมีการแบ่งย่อยออกเป็นพื้นที่ระดับต่าง ๆ ลงไปอีก มีบันไดเพื่อใช้เดินขึ้นไปยังส่วนที่เรียกว่า ‘อพาร์ทเมนท์’ หรือสถานที่ทานอาหารและพบปะเข้าสังคมของชาวชุมชนหนูซึ่งรองรับได้สูงสุดถึง 3,000 ตัว
มีการรักษาอุณหภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่หนูชอบที่สุดตลอดเวลา และที่สำคัญภายในยูโทเปียแห่งนี้ ไม่มีนักล่าใดๆ ที่จะเข้ามาทำอันตรายเหล่าหนูข้างในเลยด้วย
ในช่วงต้นของการทดลอง Universe 25 หนู 8 ตัว (เพศผู้ 4 ตัว เพศเมีย 4 ตัว) ที่ถูกนำมาปล่อยนั้นสามารถใช้ชีวิตในยูโทเปียแห่งนี้ได้แบบไม่มีปัญหาอะไรนัก
เวลาผ่านไปไม่นานจำนวนของพวกมันก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยทุกอย่างที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ อาหารและที่อยู่อาศัยมีเพียงพอโดยไม่ต้องพยายาม ทำให้พวกมันผสมพันธุ์กันทั้งวันทั้งคืน ถึงขั้นที่ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก 55 วัน
อย่างไรก็ตามเมื่อพวกหนูมีจำนวนได้ราวๆ 620 ตัว ยูโทเปียแห่งนี้ก็เริ่มมีปัญหาขึ้นจนได้ ไม่ใช่เพราะการขาดน้ำขาดอาหาร แต่เป็นการที่หนูนั้นเริ่มมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งมักไม่ถูกกัน
ในขณะที่หนูซึ่งเข้ากับกลุ่มใดไม่ได้ เริ่มจะถูกทิ้งไว้โดยลำพังไม่สามารถไปไหน หรือทำอะไรได้เลย
หนูเพศชายที่ไม่สามารถเข้ากลุ่มใดได้ จะมาอยู่กันแบบกระจัดกระจายบริเวณส่วนกลางของ Universe 25 พวกมันกลายเป็นหนูหัวรุนแรง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร แถมยังมีนิสัยชอบทำร้ายหนูตัวอื่นอีกด้วย
หนูเพศผู้ที่โดนโจมตีในช่วงแรกจะนอนนิ่งไม่ตอบโต้ แต่ไม่นานพวกมันจะลุกขึ้นโจมตีหนูตัวอื่นเหมือนกับที่มันโดนกระทำ ในขณะที่หนูตัวเมียในกลุ่มที่ถูกทิ้งเองก็มักจะไม่ทำอะไรนั่งเลียขนและผสมพันธุ์ไปวันๆ ไม่ต่างกัน
พฤติกรรมประหลาดๆ นี้ไม่ได้ เกิดขึ้นแค่กับกลุ่มหนูที่ถูกทอดทิ้งเท่านั้น แต่ในฝูงหนูเอง “จ่าฝูง” ก็มักจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกว่าปกติอย่างไม่น่าเชื่อ มันจะจู่โจมหนูตัวอื่นแบบไม่มีเหตุผล แถมยังมักไล่ข่มขืนหนูทั้งตัวผู้และตัวเมีย
ซึ่งการใช้กำลังสุดโต่งนี้เองก็มักจะทำให้สุดท้ายหนูที่เป็นเหยื่อบาดเจ็บถึงขั้นตายและถูกกินซากหลังจากนั้นอีกที
เท่านั้นยังไม่พอด้วยเหตุผลบางอย่างหนูตัวเมียในการทดลองนี้ยังมักจะไม่ค่อยสนใจลูกของตัวเองนัก หลายครั้งพวกมันจะลืมลูกไปเลย หรือไม่ก็ปล่อยให้ลูกที่เพิ่งเกิดหากินเอง ถึงขนาดที่บางครั้งแม่หนูก็ฆ่าลูกตัวเองทิ้ง
จนในบางฝูงอัตราการตายของลูกหนูพุ่งสูงถึง 90% เลย
จำนวนประชากรหนูมาถึงจุดพีคเมื่อถึงวันที่ 560 โดยมีจำนวนถึง 2,200 ตัว และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เพราะหนูจำนวนมากไม่สนใจที่จะผสมพันธ์ุอีกต่อไป พากันอพยพตัวเองไปยังพื้นที่ด้านบนของเมือง ส่วนหนูหัวรุนแรงก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มแก๊งอันธพาลอยู่ด้านล่าง คอยยกพวกโจมตีแก๊งอื่น ๆ รวมถึงกินเป็นอาหาร
จนท้ายที่สุดด้วยอัตราการเกิดใหม่ที่ต่ำสุดขั้ว อัตราการตายของทารกที่สูงลิ่ว ไปจนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในเมือง ทำให้สุดท้ายหนูทั้งเมืองก็สูญพันธุ์ไปในที่สุด แม้ในช่วงนั้นจะมีอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอต่อหนูทุกตัวเหมือนเดิมก็ตาม
Calhoun เรียกปรากฎการณ์ที่พบจากการทดลองว่าเป็น ‘The Behavioral Sink’ หรือ การถดถอยของพฤติกรรมสิ่งมีชีวิต แม้จะมีทรัพยากรเหลือเฟือ แต่การบริหารจัดการที่ห่วยแตก และการปล่อยให้ทรัพยากรนั้นถูกควบคุมโดยพวกอันธพาลหัวรุนแรง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์ทุกวันนี้เช่นกัน
แม้การขาดแคลนทรัพยากร เช่น อาหาร หรือ ที่อยู่อาศัย จะทำให้มนุษย์สูญพันธ์ุได้จริง แต่การมีทรัพยากรเพียงพอก็ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้เช่นกัน หากทรัพยากรเหล่านั้นถูกควบคุมและจัดการโดยกลุ่มคนที่ไร้ซึ่งความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดี
ขอบคุณครับ :)
โฆษณา