24 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • กีฬา

เพราะเหตุใด แอสตัน วิลล่า, เวสต์แฮม และ เบิร์นลีย์ มีสีชุดเหย้าเหมือนกัน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมดังในศึกพรีเมียร์ลีกประกาศคว้าตัว แดนนี่ อิงส์ กองหน้ามากประสบการณ์มาจาก แอสตัน วิลล่า ด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ (ราว 606.8 ล้านบาท) ซึ่งดูเผิน ๆ นี่อาจเป็นการซื้อนักเตะเหมือนทั่วไป แต่ทว่าแฟนบอลจำนวนไม่น้อยกลับตั้งแง่แซวยับอดีตหัวหอกลิเวอร์พูลคนนี้ว่าเคยทำแฮตทริกเล่นให้กับทีมเสื้อสีม่วงแดง-ฟ้า ครบ 3 ทีมแล้ว
จากประวัติของ อิงส์ เขาเคยเป็นนักเตะของเบิร์นลีย์ ช่วงปี 2011-2015 / แอสตัน วิลล่า ช่วงปี 2021-2023 และ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ตั้งแต่ 2023-ปัจจุบัน ซึ่งหากสังเกตดี ๆ สามทีมนี้มีสีชุดเหย้าเหมือนกันอย่างกับร่างอวตารโดยมีลำตัวเป็นสีม่วงแดงและมีแขนเป็นสีฟ้า ทำเอาแฟนบอลอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไม 3 ทีมที่มีภูมิลำเนาต่างกันถึงมีสีประจำสโมสรเหมือนกัน
1
และเมื่อขุดประวัติให้ลึกลงไปเราจะพบว่า แอสตัน วิลล่า เป็นทีมที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดา 3 ทีมที่เกริ่นมาข้างต้น โดยก่อตั้งในปี 1874 แต่ทว่าพวกเขาไม่ได้เลือกใช้สีม่วงแดง-ฟ้าเป็นธีมตั้งแต่แรก ซึ่งจากบันทึกของสโมสรระบุไว้ว่าพวกเขาเริ่มใช้เสื้อลายทางสีน้ำเงิน-แดง และกางเกงนิกเกอร์บอกเกอส์สีขาว (กางเกงขายาวที่ส่วนต้นขาจะโปร่งแต่ส่วนท่อนขาล่างเป็นทรงเดฟ) เป็นชุดแข่งแบบแรก
อย่างไรก็ตาม แอสตัน วิลล่า ก็เปลี่ยนชุดเหย้าไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีหลักแหล่ง ก่อนที่ในปี 1880 วิลเลียม แม็คเกรเกอร์ ประธานสโมสรในเวลานั้นแนะนำให้สวมชุดแข่งสีดำล้วนแล้วปักรูปสิงโตสกอตแลนด์ไว้ที่กลางหน้าอก โดยพวกเขาใช้ชุดแข่งนี้นานถึง 6 ปี
3
จนกระทั่งการประชุมบอร์ดบริหารสโมสรแอสตัน วิลล่า ในวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 1886 ก็ได้โหวตเลือกสีชุดแข่งใหม่ และแล้วหวยก็มาออกที่สีช็อกโกแลตกับสีฟ้าเป็นธีมหลักแล้วค่อยเปลี่ยนลายเสื้อไปเรื่อย ๆ ตามแต่ละปี แต่ด้วยความฮิตของแฟชั่นในช่วง 1890-1899 ที่เวลานั้นสีไวน์ (มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Claret อ่านว่า คลา-เร็ต) เป็นสียอดนิยมในการย้อมผ้า ทำให้สีช็อกโกแลตแปลงร่างไปเป็นสีไวน์ในเวลาต่อมา
นับจากนั้นสีไวน์และสีฟ้าก็เข้ามาเป็นสีประจำสโมสรแอสตัน วิลล่า ประกอบกับช่วงดังกล่าวสโมสรเป็นขาใหญ่ของอังกฤษเพราะในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (1890-1910) พวกเขาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดไปได้ถึง 6 สมัย ยิ่งส่งให้สีไวน์และสีฟ้าดังเปรี้ยงขึ้นไปอีก
และแล้ววันเวลาก็ล่วงเลยมาจนฤดูร้อนปี 1899 ณ งานแฟร์ที่ชื่อว่า “แบล็ก แพตช์” (คล้ายกับงานวัดของไทย) ซึ่งจัดอยู่ข้างสนามวิลล่า พาร์ก ของแอสตัน วิลล่า ในเมืองเบอร์มิงแฮม ก็ถือกำเนิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นเมื่อ 4 นักเตะแอสตัน วิลล่า (ข้อมูลของสโมสรก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร) ได้พบกับ วิลเลียม โดฟ นักแข่งวิ่งระยะสั้นทีมชาติอังกฤษที่มาเดินเล่นในงานเหมือนกันโดยบังเอิญ ก่อนพวกเขาจะขอท้าวิ่งแข่งแบบ 4 รุม 1 พร้อมกับวางเงินเดิมพันอีกด้วย
ผลปรากฏว่าโดฟที่มาคนเดียวสามารถวิ่งแข่งชนะแข้งวิลล่าได้ทั้ง 4 คน ทำให้เหล่าแก๊งนักเตะต้องเสียเดิมพัน อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่มีใครพกเงินสดมาสักคนก่อนที่หนึ่งในนั้นซึ่งทำหน้าที่เป็นคนซักเสื้อทีมจะเสนอให้เอาชุดแข่งของพวกเขาทุกคนมอบให้โดฟแล้วแสร้งไปบอกประธานสโมสรว่าทำชุดแข่งหาย
2
เรื่องดูเหมือนจบอยู่แค่นั้น แต่ทว่าในปี 1899 หรือปีเดียวกันกับที่เกิดเหตุวิ่งแข่ง ชาร์ลี โดฟ กองหน้าและกัปตันทีมของสโมสรเทมส์ ไอรอนเวิร์ก เอฟซี ผู้เป็นลูกชายของ วิลเลียม โดฟ ได้เห็นพ่อของตนนำชุดแข่งแอสตัน วิลล่า (ที่ได้มาจากการชนะเดิมพัน) เข้ามาฝากไว้ที่สโมสร แต่ทว่าชาร์ลีดันไปพิศวาสตั้งแต่แรกเห็นจึงเสนอให้ทีมเปลี่ยนมาใช้ชุดแข่งสีแบบนี้แทน
ต่อมาในปี 1900 เทมส์ ไอรอนเวิร์ก เอฟซี ประกาศรีแบรนด์สโมสรตัวเองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เวสต์แฮม ยูไนเต็ด” เพื่อย้ายสถานะทีมองค์กรไปยังทีมท้องถิ่นที่ยังอยู่ในเขตเวสต์แฮม กรุงลอนดอน เหมือนเดิม พร้อมกับใช้ชุดแข่งสีเดิม (สีม่วงแดง-ฟ้า) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
10 ปีต่อมา (1910) ขึ้นเหนือไปยังแคว้นแลงคาเชียร์ เบิร์นลีย์ ทีมเล็ก ๆ จากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษที่ก่อตั้งสโมสรในปี 1882 ลงเล่นด้วยชุดแข่งที่อยากจะใส่สีอะไรก็ใส่ตามใจมาโดยตลอด ก็เริ่มมีแนวคิดหาชุดแข่งจริงจังกับเขาบ้าง นั่นทำให้ในเดือนพฤษภาคม 1910 สโมสรก็ได้จัดประชุมโหวตชุดแข่งของทีมขึ้นมา
จอห์น ฮาเวิร์ธ บอร์ดบริหารเสนอในที่ประชุมให้ลอกแบบชุดแข่งของ แอสตัน วิลล่า มาใช้หมดเลย โดยให้เหตุผลเรื่องโชคลางว่าอาจจะประสบความสำเร็จเหมือนกับวิลล่าที่ช่วงนั้นพวกเขาเป็นแชมป์ลีกดิวิชั่น 1 ทีมล่าสุดในฤดูกาล 1909-1910 (ปีนั้นเบิร์นลีย์เล่นในลีกดิวิชั่น 2) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในอีก 2 ปีต่อมาพวกเขาจะเลื่อนชั้นสู่ลีกดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ
จากนั้นเป็นต้นมา เบิร์นลีย์ก็ยึดชุดแข่งลำตัวสีม่วงแดงแขนสีฟ้ามาจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นช่วงปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ที่ใช้ชุดแข่งสีขาวล้วน 1 ฤดูกาล)
นอกจาก 3 ทีมที่ว่ามาแล้ว สคันธอร์ป ยูไนเต็ด ทีมจากลีกดิวิชั่น 5 อังกฤษ ก็สวมชุดแข่งสีม่วงแดง-ฟ้าเหมือนกัน และให้เหตุผลว่าเกิดจากการรวมตัวของสองสโมสรเก่าคือ นอร์ท ลินซีย์ กับ สคันธอร์ป เอฟซี ในปี 1910 แล้วนำชุดแข่งของทั้งสองทีมมาผสมกันจนเกิดเป็นสีม่วงแดง-ฟ้า ซึ่งไปบังเอิญเหมือนกับ แอสตัน วิลล่า โดยไม่ได้ตั้งใจ (หรือเปล่า ?)
จากนี้ไปเราคงเลิกสงสัยกันแล้วว่า ทำไม 3 ทีมฟุตบอลที่มาจากคนละภูมิลำเนาแถมมีระยะทางห่างกันแสนไกลจึงมีสีชุดเหย้าเหมือนกัน
เรื่องโดย : ทรงศักดิ์ ศรีสุข
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา