1 ก.พ. 2023 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“อินเดีย” ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

“อินเดีย”ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก และในการจัดสรรงบประมาณปีนี้ รัฐบาลนิวเดลี ใช้จ่ายเงินเกือบ 20% ของงบประมาณไปกับการลงทุนในเมกะโปรเจกต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการลงทุนสูงสุดในรอบทศวรรษ
1
ขณะที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่โหมดของการชะลอตัว เพราะการเติบโตของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่จีนไปจนถึงเยอรมนีเริ่มแผ่วลง ทำให้เดิมพันในการแสวงหาประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกพลอยสูงตามไปด้วย และตอนนี้ สปอร์ตไลท์หันไปส่องที่อินเดีย ที่เริ่มมีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เห็นหลายด้าน
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียกำลังฉวยโอกาสช่วงขาลงเศรษฐกิจโลก ผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน รวมถึงการใช้จ่ายเงินเกือบ 20% ของงบประมาณปีนี้ไปกับการลงทุนที่เน้นเม็ดเงินปริมาณมาก ถือเป็นการลงทุนสูงสุดในรอบทศวรรษของอินเดีย
ด้วยการลงทุนดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า โมดี เป็นผู้นำอินเดียที่สามารถนำพาประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งชาติหนึ่งได้มากกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ แถมเป็นผู้นำในช่วงที่อินเดียกำลังแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วย
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านประชากรของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระบุว่า อินเดียกำลังจะแซงจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ภายใน 3 เดือนข้างหน้า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ
1
จำนวนประชากรในอินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 1,410 ล้านคน และราว 1 ใน 4 อายุต่ำกว่า 15 ปี ขณะที่เกือบครึ่งอายุต่ำกว่า 25 ปี ส่วนประชากรจีนอยู่ที่ราว 1,450 ล้านคน แต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีเพียง 1 ใน 4 โดยนับตั้งแต่ปี 2493 อินเดียกับจีนได้ครองสัดส่วนการเติบโตของประชากรโลกรวมกันราว 35%
จีนผงาดขึ้นมาในฐานะผู้ทรงอิทธิพลด้านอุตสาหกรรมโลก แต่การที่จีนมีนโยบายลูกคนเดียวที่นำมาใช้เมื่อปี 2523 ทำให้อัตราการเกิดลดลง และเพิ่งกลับมาอนุญาตให้ผู้หญิงมีลูก 3 คนได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อัตราการเกิดกระเตื้องขึ้น ทำให้ในอนาคตประชากรส่วนใหญ่ของจีนจะมีแต่คนชรา ที่ต้องพาลูกที่พวกเขามีอยู่คนเดียว ซึ่งส่วนใหญ่อาจมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดูแลพ่อแม่ และอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคม
แต่การที่อินเดียจะดำเนินไปถึงจุดที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้นำอย่างโมดีต้องฟาดฟันกับสารพัดปัญหา ตั้งแต่ปัญหาความล่าช้าของระบบราชการ ปัญหาการคอร์รัปชันที่บั่นทอนความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ บวกกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมที่มีรากเหง้ามาจากระบบชนชั้นวรรณะในหมู่ประชากรเกือบ 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ
1
โฆษณา